ดูแล ผู้สูงอายุสมองเสื่อม อย่างไร ไม่ให้ใจเราเสื่อมตาม
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังทำหน้าที่ดูแล ผู้สูงอายุสมองเสื่อม รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงรวิวรรณ นิวาตพันธุ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก
1.ก่อนอื่นผู้ดูแลควรหาความรู้เรื่องภาวะสมองเสื่อมโดยละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจและปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
2.ใส่ใจในการจัดสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เช่น ติดตั้งราวยึดไว้ในห้องน้ำหรือใกล้บันได เพื่อกันผู้สูงอายุลื่นล้มและต้องคอยประคองท่านเวลาเดินควรจัดวางสิ่งของต่าง ๆ ไว้ในตำแหน่งเดิมเพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความคุ้นเคย
3.ให้ความเคารพและให้กำลังใจเสมอ ๆ แม้ผู้สูงอายุจะมีพฤติกรรมเหมือนเด็กเล็ก ๆ เนื่องจากสมองเสื่อม แต่ท่านก็เป็นพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยายที่รักของเรา ดังนั้นจึงควรให้ความเคารพและให้กำลังใจท่านอยู่เสมอ
4.เป็นนักฟังที่ดี แม้ท่านจะพูดซ้ำ ๆ วนไปวนมาก็ต้องใจเย็น อดทนฟังด้วยความเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นอาการของโรค
5.จัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา อาทิ กินข้าวเป็นเวลา อาบน้ำเป็นเวลานอนเป็นเวลา ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรเคร่งครัดหรือเข้มงวดจนเกินไป ต้องยืดหยุ่นได้ตามสมควร เช่น ถึงเวลากินข้าวแล้ว แต่ท่านยังไม่ยอมกิน ก็ชวนพูดคุยเรื่องอื่นก่อน ไม่จำเป็นต้องให้กินเดี๋ยวนั้น สักพักเมื่อท่านอารมณ์ดีขึ้นแล้วจึงค่อยกินก็ได้
6.ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น เตรียมเสื้อผ้าที่สะอาดไว้ให้ใส่อย่างเป็นลำดับ อำนวยความสะดวกในการเข้าห้องน้ำ เช่น เปิดไฟในห้องน้ำให้ ติดสัญลักษณ์แสดงว่าเป็นห้องน้ำไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
7.หมั่นสังเกตพฤติกรรม เพราะถ้าสังเกตจนรู้ใจ การดูแลก็จะง่ายดายขึ้น เช่น ถ้าแสดงท่าทีแบบนี้หมายความว่าต้องการทำอะไร หรืออยากได้อะไร เป็นต้น
8.พูดให้ช้าลง ออกเสียงให้ชัดเจน ไม่ตะโกนหรือพูดเสียงดัง พยายามใช้ภาษากายร่วมด้วย เช่น สบตา ยิ้มให้ รวมถึงใช้สิ่งอื่นประกอบการพูด เช่นภาพถ่ายต่าง ๆ
9.ไม่แสดงความโกรธหรือหงุดหงิดใส่ท่าน สิ่งเหล่านี้มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงควรพูดกับท่านด้วยท่าทีที่สงบ การปลอบและโอบกอดอย่างนุ่มนวลจะช่วยให้ท่านรู้สึกดีขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อดูแลคนที่เรารักอย่างดีแล้ว สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ ตัวผู้ดูแลเองจะต้องรักษาร่างกายและจิตใจให้สดชื่นและแข็งแรงอยู่เสมอ ต้องหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ฟังเพลง สวดมนต์ อ่านหนังสือธรรมะ เพื่อช่วยให้จิตใจผ่องใส มีสติตามอารมณ์ตัวเองได้ทัน ไม่ “หลุด” ง่าย ๆ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
จะทำอย่างไรให้ “เรา” ไม่ทุกข์
Secret มีวิธีการคิดและปฏิบัติเพื่อผ่อนคลายความเครียดและความทุกข์ใจของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลมาฝาก ดังนี้
1.มองเป็นเรื่องธรรมดา ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมทำเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรถือสาหาความเช่น ถ้าท่านขี้หลงขี้ลืม พูดซ้ำ ๆ แทนที่เราจะหงุดหงิด โมโห ก็อาจมองกลับไปว่า ตอนเด็ก ๆ เราก็เป็นแบบนี้ ชอบซักถามอะไรซ้ำ ๆ แต่ท่านก็ยังรักและเมตตาเราเสมอ ไม่เคยเบื่อเราเลย
2.เห็นเป็นโอกาสพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของร่างกาย เช่น เวลาสัมผัสร่างกายที่เหี่ยวย่นเพราะความแก่ชราของท่าน ก็ถือโอกาสนี้พิจารณาว่าคนเราทุกคนมีเกิด แก่ เจ็บ ตายรออยู่วันนี้อาจไม่ถึงเวลาของเรา แต่ในวันหนึ่งข้างหน้า เราก็คงไม่ต่างจากนี้ การคิดเช่นนี้จะน้อมใจเราให้อ่อนโยนลงและดูแลท่านด้วยความรักความเข้าใจยิ่งขึ้น
3.ลองฝึกสติไปด้วยขณะดูแล ถือโอกาสนี้ใช้เวลาในแต่ละวันสร้างความสุขสงบให้เกิดขึ้นในใจ ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออกขณะช่วยท่านทำกิจวัตรประจำวัน การทำเช่นนี้จะช่วยควบคุมกาย วาจา ใจของเราให้เป็นปกติ ไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่หงุดหงิด หรือเครียดตามผู้ป่วย นับเป็นการฝึกเจริญสติที่ดีโดยไม่ต้องไปวัด
4.ฝึกเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อคลายเครียด กรณีที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมมีความเจ็บปวดซึ่งไม่หายด้วยการกินยาอาทิ ปวดเมื่อยตามร่างกายตามประสาคนสูงอายุ ควรใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของท่านด้วยการชวนคุยในเรื่องอื่น ๆ เช่นชวนดูทีวี ชวนฟังเพลง หรือชวนดูรูปภาพเก่า ๆ เพื่อให้ท่านเอาใจออกจากความทุกข์ทรมานทางกายชั่วคราว เท่านี้ก็จะช่วยบรรเทาความปวดและความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับท่านและตัวเราได้
5.ชวนท่านเล่นเกมฝึกสมองหรือทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย ในกรณีที่อาการป่วยยังไม่ถึงขั้นรุนแรงมากนัก อาจชวนท่านเล่นคิดเลข หรือชวนสวดมนต์ไหว้พระด้วยกัน จะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายทั้งสองฝ่าย
6.หาเวลาส่วนตัวให้ตัวเองบ้าง การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมก็คล้ายกับการดูแลเด็กเล็ก ๆ ที่หากต้องดูแลแบบเต็มเวลา ก็จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่ายดังนั้นจึงต้องหาเวลาส่วนตัวไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย ช็อปปิ้ง สังสรรค์กับเพื่อน โดยขอให้ญาติหรือคนอื่นในบ้านช่วยรับภาระดูแลแทนบ้างเป็นครั้งคราว
ลองดูนะคะ ซีเคร็ตเชื่อว่าวิธีเหล่านี้ จะทำให้คุณและผู้ป่วยมีรอยยิ้มได้ในทุกๆ วัน
เรียบเรียงจากบทความ ดูแลผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมอย่างไร ไม่ให้ใจเราเสื่อมตาม โดย เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ
บทความน่าสนใจ
เรื่องเล่าของคุณยายอัลไซเมอร์ ที่จะทำให้คุณเห็น คุณค่าของความทรงจำ
สาวน้อยวัย 14 ปีเขียนแอปฯ ช่วยยายที่ป่วยเป็น โรคอัลไซเมอร์
ปัญหาธรรมประจำวันนี้: คนเป็นโรคอัลไซเมอร์ จิตจะสามารถไปสู่สุคติได้หรือไม่