พลอย - สโรชา

นักเขียนผู้ใช้ “ใจ” มองโลก พลอย สโรชา กิตติสิริพันธุ์

พลอย  สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนผู้ใช้ “ใจ” มองโลก 

การอยู่ในโลกที่มองไม่เห็นอาจทำให้ใครๆ หวาดกลัวแต่สำหรับ พลอย – สโรชา หญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องอยู่ในโลกเช่นนั้นกลับไม่คิดโทษโชคชะตา หรือจมกับความเศร้า เพราะทุกอย่างที่เป็น ทำให้เธอเรียนรู้และเข้าใจ คุณค่า และแง่งามของชีวิตได้ชัดเจน

“พลอย จำไม่ได้ว่าเคยมองเห็น ในความทรงจำมีแต่เสียง และประสาทสัมผัสส่วนอื่นที่ไม่ใช่ดวงตา” พลอย  - สโรชา กิตติ-สิริพันธุ์ ผู้เขียนหนังสือ จนกว่าเด็กปิดตาจะโต และบรรณาธิการฝึกหัดของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เล่าย้อนถึงความทรงจำวัยเด็กให้ฟัง

แม้ดวงตามองไม่เห็นจากโรคมะเร็งจอประสาทตา แต่อุปสรรคทางกายไม่อาจขัดขวางการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองของเด็กหญิงตัวน้อย พลอย เริ่มเรียนในโรงเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่มองไม่เห็น เพื่อให้ใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ ส่วนครอบครัวมอบความรักความเข้าใจ และส่งเสริมให้เธอได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต เฉกเช่นเด็กในวัยเดียวกัน สุดท้าย พลอยก็ได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ซึ่งถือเป็นการออกเผชิญโลกกว้างครั้งใหญ่ของเธอ

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%a22

“พอต้องย้ายมาเรียนในโรงเรียนปกติ พลอยต้องปรับตัวเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียน วิธีการเรียนการสอน การใช้ชีวิตแต่ครอบครัว เพื่อน และคุณครูที่โรงเรียนนี้ และที่โรงเรียนเก่าก็ช่วยเหลือเสมอ ตอนแรกพลอยรู้สึกกดดัน แต่ในความกดดันนั้น ก็มีความสนุกและตื่นเต้นปนอยู่ เพราะได้เจอสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่แต่ละวิชาที่เรียนก็น่าสนใจ ทุกอย่างคือความแปลกใหม่ที่พลอยอยากเรียนรู้”

เมื่อเรียนชั้น ม.ปลาย พลอย มีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากเรียนต่อด้านใด จึงหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จนได้ทราบข่าวการเปิดสอบของ คณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งสี่ปีต่อมาเธอก็สำเร็จการศึกษาโดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

“พลอยสนใจการแต่งกลอน มาตั้งแต่อยู่ประถม เพราะสนุกกับเสียงที่คล้องจองกัน และเป็นงานที่ทำได้ด้วยตัวเองเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคิดและเขียนเองได้ พอทราบข่าวว่าที่นี่เปิดสอบ และมีทุนการศึกษาให้ 4 ปี จึงเริ่มศึกษากำหนดการและทำตามเกณฑ์ต่าง ๆ ให้พร้อม ทั้งการสอบภาษาอังกฤษ การประกวดผลงานเพื่อให้ได้เกียรติบัตร และฝึกทำข้อสอบย้อนหลัง แต่ไม่ค่อยได้บอกใคร เพราะกลัวพลาด (หัวเราะ) ตอนนั้นพลอยคอยลุ้นทุกช่วง ทั้งเครียด ทั้งสนุก สุดท้ายก็สอบติด นับเป็นความสำเร็จจากความพยายามที่มีมาตลอด พอได้เข้ามาเรียนก็ชอบทุกวิชาจริง ๆ”

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%ad%e0%b8%a21

การเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาในเทอม 2 ของชั้นปีที่ 3 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่เส้นทาง การเป็นนักเขียนของเธอ อาจารย์มกุฏอรฤดี ครูผู้สอนรายวิชานี้ มอบหมายให้นิสิตเขียนบันทึกทุกวันตลอดภาคการศึกษา แม้เธอจะไม่เคยเขียนบันทึกมาก่อนแต่เมื่อต้องทำเป็นการบ้านก็ตั้งใจทำอย่างดีที่สุด

“เมื่อครูบอกให้เขียนทุกวัน พลอยก็เขียนทุกวันไม่มีเขียนล่วงหน้าหรือเก็บไว้ 3 - 4 วันค่อยมาเขียน เพราะถึงครูไม่รู้ แต่ตัวเรารู้ว่าทำอะไรอยู่ เรื่องที่บันทึก พลอยพยายามหยิบยกเรื่องใกล้ตัว ของแต่ละวันมาเขียน  พร้อมบันทึกส่วนที่เป็นความคิดของตัวเองลงไปด้วย ซึ่งตรงนี้ทำให้พลอยเริ่มสังเกตเห็น ความคิดของตัวเอง ที่เปลี่ยนไปทุกวัน บางวันดี บางวันอาจสับสน หรือสงสัยสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อ  กระบวนการนี้เกิดขึ้นทุกวัน แต่ตอนที่ไม่เขียนบันทึก เราก็ไม่เคยสังเกตเห็นเลย

“เมื่อได้กลับมาย้อนอ่านอีกครั้ง ก็เหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง เข้าไปกอดตัวเองในวันที่เคยเศร้า แล้วมองตัวเองว่าวันนี้เราดีขึ้นนะ วันนี้เราผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว ทำให้เราได้รู้จักตัวเองในวันก่อน ๆ และทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตในวันต่อ ๆ ไป พลอยคิดว่านี่คือ ประโยชน์อย่างหนึ่งของการเขียนบันทึกค่ะ”

ภายหลัง “บันทึกประจำวัน” การบ้านที่เธอเคยเขียนอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาเกือบสองปีได้กลายมาเป็น “หนังสือ” เล่มแรกในชีวิต นอกจากเนื้อความที่เธอเขียนแล้ว  ภาพประกอบในเล่มยังเป็นฝีมือของเธอทั้งหมด เมื่อหนังสือเล่มนี้ถึงมือผู้อ่านพลอยก็ได้รับกำลังใจมากมาย ทั้งยังได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12 - 18 ปี (สารคดี) ในการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2559 อีกด้วย

“ผู้อ่านบางท่านส่งข้อความมาว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้เขามีกำลังใจ หรือชมว่าภาษาเขียนดีจังเลย พลอยดีใจจนพูดไม่ออก เพราะไม่เคยเจอความรู้สึกแบบนี้มาก่อน เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าตัวเองได้รับ จากคนอื่นมาเยอะ พอวันหนึ่งมีคนได้รับประโยชน์บางอย่าง จากสิ่งที่เราทำ จึงรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก และต่อมาเมื่อหนังสือได้รับรางวัล พลอยก็ตื่นเต้นและดีใจมากที่คนอื่นเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดี มีความหมายต่อสังคม ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเกินความคาดหมายของพลอยจริง ๆ”

วันนี้พลอยยังคงตั้งใจฝึกเขียนหนังสือต่อไปเรื่อย ๆ โดยหวังไว้ว่าจะได้ทำหนังสือที่ดี และมีประโยชน์ให้ผู้อ่านได้ติดตามผลงานต่อไป

ความคิดและเรื่องราว ที่พลอยเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม บอกกับเราเป็นนัยว่า แม้เธอต้อง “ปิดตา” แต่เธอกลับสามารถใช้ “ใจ”มองเห็นโลกได้อย่างชัดเจน 


ที่มา: นิตยสาร Secret

เรื่อง: เชิญพร คงมา ภาพ: สรยุทธ พุ่มภักดี  สไตลิสต์: ณัฏฐิตา เกษตระชนม์


บทความน่าสนใจ

ซูลี ซานกิโน หญิงสาวผู้แปรเปลี่ยนความพิการ ให้เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่

เด็กดาวน์ซินโดรมผู้สร้างแรงบันดาลใจ

เรไรรายวัน บันทึกประจำวันของเด็กหญิงมากจินตนาการ

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.