หลอดเลือดสมอง ยังต้องสยบ เพราะ…(ท.ทหาร)อดทน
ในทุกๆ วันที่ร่างกายยังคงเคลื่อนไหว คุณเห็นความสำคัญของแขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า หรืออวัยวะอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าความคุ้นชินอาจทำให้หลายคนหมางเมิน ลืมใส่ใจ จนกระทั่งวันที่ร่างกายกดปิดสวิตช์ตัวเอง ให้ไร้ความรู้สึก หยุดการเคลื่อนไหว เหลือแค่ลมหายใจเข้าออก เวลานั้นขอเพียงขยับปลายนิ้วได้ ก็อาจมีค่าเหนือกว่าสิ่งใด
พันตรี ธนากร คงขำหรือ คุณอ้น รั้วของชาติในวัย 35 ปี เข้าใจความรู้สึกนั้นเป็นอย่างดี เมื่อครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นอัมพาต นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียงนานนับเดือน เพราะโรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก!
ชั่วโมงเฉียดตาย
บ่ายแก่ๆ ผู้เขียนและทีมงานเดินทางมาถึง “ฐานทัพลับ” ของทหารหนุ่มตามนัดหมาย ที่ต้องเรียกเช่นนี้ เพราะที่นี่เป็นโรงจอดรถและห้องพักผ่อนส่วนตัวภายในบ้าน ที่บ่งบอกตัวตนและความชื่นชอบของเขาได้เป็นอย่างดี ทั้งรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ จักรยาน หมวกกันน็อค และของสะสมลายพรางนานาชนิด
ไม่เพียงแต่บรรยากาศที่สร้างความตื่นตาตื่นใจเท่านั้น เมื่อเราได้พบกับคุณอ้น ชายหนุ่มรูปร่างกำยำ หน้าตาสดใส หลายคนถึงกับอ้าปากค้าง…นี่หรือ(อดีต)ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคร้ายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและพิการ
“ผมไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดื่มเหล้า ชอบออกกำลังกาย แต่เมื่อ 3 ปีก่อนค่อนข้างทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย วันดีคืนดี ขณะขับรถกลับบ้าน ตอนประมาณ 4 ทุ่ม แวะปั๊มน้ำมัน และจอดหน้าเซเว่นเพื่อจะซื้อของ จู่ๆ กำลังจะลงรถก็น๊อคเลย ร่างกายซีกซ้ายหงิกงอ สั่งการไม่ได้ตั้งแต่หน้าจรดเท้า ส่วนซีกขวาก็อ่อนแรงลง หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก็ล่วง พยายามพูดก็ออกเสียงไม่ได้ ทำได้มากสุดแค่อ้อแอ้ๆ เหลือบไปมองกระจกก็เห็นหน้าตัวเองบิดเบี้ยว
“ตอนนั้นผมถอดใจแล้ว คิดว่าหลับหรือตายไปเลยดีกว่า จนมารู้สึกตัวตื่นอีกทีตอนเที่ยงของอีกวันหนึ่ง ร่างกายซีกขวาเริ่มมีแรง ผมก็เลยควานหาโทรศัพท์ แต่ก็ยังพูดไม่ได้เลยไลน์หาเพื่อนที่เป็นหมอ เขาก็รีบส่งรถพยาบาลมารับทันที” ชายหนุ่มย้อนเล่าเหตุการณ์ชั่วโมงเฉียดตายให้ฟัง
ติดตามต่อได้ ในหน้าถัดไป
จุดเปลี่ยนชีวิต ของหนุ่มเอ็กซ์ตรีม
เมื่อถูกนำร่างส่งโรงพยาบาล คุณหมอจึงเริ่มกระบวนการหาสาเหตุของความผิดปกที่เกิดขึ้นกับคุณอ้น ด้วยการส่งตรวจเอ็มอาร์ไอและสแกนสมอง ผลปรากฏว่ามีลิ่มเลือดไปอุดตันสมองซีกซ้ายของเขา ซ้ำร้ายกว่านั้น สมองบางส่วนยังตายเนื่องจาก ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเป็นเวลานานถึง 16 ชั่วโมง
“หมอบอกว่าผมเป็นสโตรก หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ควรถึงมือหมอไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง แต่ผมปาเข้าไป 10 กว่าชั่วโมง ทำให้หลอดเลือดสมองอุดตันนานเสียจนสูญเสียสมองไปราว 20 เปอร์เซ็นต์ พอถึงโรงพยาบาลก็ทรุดหนักลงไปอีก ร่างกายแน่นิ่งขยับไม่ได้ ลิ้นก็ตก กระดกไม่ได้ ทำให้พูดไม่ได้ด้วย”
ในเวลานั้น สภาพร่างกายที่ว่าย่ำแย่แล้ว จิตใจของชายหนุ่มนั้นกลับย่ำแย่ยิ่งกว่า…
“สำหรับผู้ชายที่ชอบเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ชอบขับมอเตอร์ไซด์ ชอบไปไหนมาไหนอย่างผม ความรู้สึกตอนนั้นมันแย่มาก กลายเป็นคนไร้ประสิทธิภาพ คือเป็นคนคุกเสียยังดีกว่า เพราะยังเดินอยู่ในห้องขังได้ คุยกับคนนู้นคนนี้ได้ เข้าห้องน้ำได้ นั่งได้ ยืนได้ แต่ผมเหมือนถูกขังอยู่ในร่างกายตัวเองที่ไม่สามารถพูดบอกอะไรใครได้ แค่กระดิกนิ้วนิดเดียวยังทำไม่ได้เลย
“อยากสื่อสารกับใครก็ต้องใช้มือข้างขวาที่อ่อนแรงค่อยๆ เขียนใส่กระดาษ ส่วนข้างซ้ายไม่ต้องพูดถึง ความสามารถในการใช้ร่างกายคือศูนย์เลย ทุกครั้งที่ลืมตาผมจะคิดเสมอว่า ไม่น่าตื่นมา ตายไปเลยดีกว่า” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงขึงขังอย่างชายชาติทหาร แต่กลับทำให้คู่สนทนาอย่างฉันจินตนาการถึงความทรมานที่มีอยู่ภายในใจได้อย่างน่าประหลาด
เส้นทางนักสู้ หัวใจแกร่ง
เพราะเป็นรั้วของชาติที่แข็งแกร่งอดทน เมื่อร่างกายยังมีลมหายใจอยู่ เลือดนักสู้ของคุณอ้นจึงค่อยๆ ทำหน้าที่ของมัน…
“แรกๆ ผมคิดว่า เราจะไหวหรอ ขนาดซูเปอร์แมนเป็นอัมพาตยังตายเลย (คริสโตเฟอร์รีฟ ผู้รับบทเป็นซูเปอร์แมน ซึ่งป่วยเป็นอัมพาตและเสียชีวิตแล้ว)แต่ผมเป็นแค่คนธรรมดา ต่อให้แข็งแรงกล้ามโต ก็ไม่ช่วยอะไร สุดท้ายก็มาคิดได้ว่าเป็นอัมพาตต้องสู้ด้วยกำลังใจล้วนๆ”
เมื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด คุณอ้นจึงทุ่มเทกายใจให้กับการรักษาทั้งหมด ยอมอดทนลองทุกวิถีทางไม่ว่าจะทรมานแค่ไหน ทั้งผ่าตัด ฝังเข็ม ยิงเลเซอร์ กระตุ้นด้วยไฟฟ้า ฯลฯ ร่วมกับกินยาละลายลิ่มเลือดตามคำสั่งของคุณหมอ และหมั่นทำกายภาพอย่างหนักหน่วง
“การทำกายภาพ เริ่มจากการบริหารกล้ามเนื้อมัดใหญ่ก่อน โดยนักกายภาพจะมายกแขน ยกขา และสอนให้ผมหัดยกสะโพก เพราะการเคลื่อนไหวทุกอย่าง ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน ต้องอาศัยสะโพกทั้งหมดผมทำแบบนี้ทุกวันเช้าเย็น วันละหลายชั่วโมง ร่วมกับฝึกพูดออกเสียง”
หลังจากนั้นราว 6 เดือน ร่างกายที่เคยไร้ความรู้สึกของเขา จึงค่อยๆ ส่งสัญญาณบางอย่าง
“ร่างกายของผมเริ่มตอบสนองได้มากขึ้น จำได้ว่าครั้งแรกที่ถูกจับให้นั่งขอบเตียง แล้วลองยืน ลองเดิน สภาพน่าสมเพชมาก (หัวเราะ) สะเปะสะปะ ไร้ทิศทางมาก ไม่สามารถควบคุมร่างกายได้เลย ต้องมีคนคอยประคอง แล้วก็ใช้เครื่องช่วยเดินของทางโรงพยาบาลคล้ายๆ โรบอร์ตมาจับประกบขาของเราให้เดินอยู่บนลู่ เหมือนสร้างการจดจำให้สมองว่านี่คือการเดินนะ”
สุดท้ายเมื่อวันเวลาผ่านไป อุปกรณ์ผู้ช่วย(เดิน)ที่มีอยู่รอบกายของเขาก็ทยอยน้อยชิ้นลง จากรถเข็น เหลือเพียงวอร์คเกอร์สี่ขา วอร์คเกอร์สองขา และไม้เท้าเท่านั้น
ออกกำลังกาย มีวินัย สร้างสุขภาพแข็งแรง
เมื่อร่างกายมีการตอบสนองดีขึ้นตามลำดับ คุณอ้นจึงมีกำลังใจในการดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น ทุกวันเขายังคงทำกายภาพ และบรรจุการออกกำลังกายไว้ในตารางชีวิต ซึ่งไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน หรือต้องเผชิญกับความเจ็บปวดระบบประสาทภายในร่างกายซีกซ้ายเพียงใด …วินัยในการดูแลตัวเองแบบชายชาติทหารก็เอาชนะความย่อท้อได้ทุกทีไป
“คุณหมอประเมินไว้ว่า 4-5 ปี ผมถึงจะคลานลงจากเตียง ไปเข้าห้องน้ำเองได้ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็เกือบๆ 3 ปี ผมกลับมาเดินได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าฟื้นตัวเร็วมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรายังอายุไม่มาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องขยัน มีวินัย และต่อสู้กับความเจ็บปวดให้ได้
“ผมเองกลับมาได้ขนาดนี้ เพราะความเป็นทหาร ผมเป็นแบบแท้ๆ มาจากโรงเรียนนายร้อย ผ่านการฝึกอย่างหนักมาแล้วมากมาย นี่จึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้ร่างกายจิตใจค่อนข้างเข้มแข็ง มีเลือดนักสู้เต็มตัว ถ้าไม่ใช่ทหาร ป่านนี้ผมก็อาจจะยังเป็นง่อยอยู่ก็ได้นะ” ชายหนุ่มยิ้ม ก่อนจะเล่าต่อว่า เขาเพิ่งกาปฏิทินวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้เป็นวันดีเดย์ในการเริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง ชนิดที่ว่าห้ามเหนื่อย ห้ามพัก ห้าม (ไม่) รักสุขภาพ …ปฏิบัติ!
“ผมจะไปฟิตเนสทุกเย็น ครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง แต่จะเป็นการเวทเทรนนิ่งแบบเบาๆ ช้าๆ 4-5 ท่า เช่น วันนี้บริหารไหล่ หลัง ท้อง พรุ่งนี้บริหารอก แขน ขา สลับกัน รวมถึงเริ่มหัดวิ่งบนลู่ ซึ่งคนปกติอาจมองเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับผมมันยาก
“จุดประสงค์ในการออกกำลังกายอย่างเคร่งครัดของผม ไม่ใช่เพราะอยากกล้ามโต มีซิกแพ็ค แต่เพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรง และมีสุขภาพที่ดี ที่สำคัญก็คือผมอยากกลับมาขี่มอเตอร์ไซด์ให้ได้อีกครั้ง”
ชีวจิต ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ ท.ทหารอดทนคนนี้ค่ะ
227,848 คือจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วประเทศเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา หรือทุกๆ 1 แสนคน จะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 354 คน
ข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต คอลัมน์ประสบการณ์สุขภาพ ฉบับที่ 428