เรื่องราว หลวงปู่ทวด และที่มาของตำนาน ” เหยียบน้ำทะเลจืด “
คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ หลวงปู่ทวด อย่างแน่นอน แต่เชื่อว่า ยังมีอีกหลายคนไม่รู้ว่า คำว่า ” เหยียบน้ำทะเลจืด ” ที่ต่อท้ายชื่อของท่าน มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ ซีเคร็ตจะมาเฉลยให้อ่านกันค่ะ
เมื่อครั้งเด็กชายปู (หลวงปู่ทวดวัยเด็ก) อายุได้ 7 ขวบ นายหูผู้เป็นพ่อนำไปฝากเรียนหนังสือกับท่านสมภารจวงที่วัดกุฎีหลวง (วัดดีหลวง) เด็กชายเฉลียวฉลาดและมีไหวพริบปฎิภาณดีมาก สามารถอ่านเขียนภาษาไทยและภาษาขอมได้อย่างรวดเร็ว
เมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านสมภารจวงให้เด็กชายปูบวชเป็นสามเณร นายหูจึงมอบลูกแก้วคู่บารมีเด็กชายให้ไว้คุ้มครอง เมื่อบวชแล้วสมภารจวงนำสามเณรปูไปฝากไว้กับท่านพระครูสัทธรรมรังษีที่วัดสีหยัง (วัดสีคูยัง) เพื่อเรียนหนังสือวิชามูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นวิชาที่ภิกษุสามเณรชาวใต้ศึกษาเล่าเรียนกันมาก จากนั้นก็เดินทางไปศึกษาต่อที่วัดสีมาเมือง ที่เมืองนครศรีธรรมราช
สามเณรปูเรียนที่นี่จนอายุครบอุปสมบท จึงไปอุปสมบทที่อุโบสถกลางคลองแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า ท่าแพ มีพระครูกาเดิมเป็นพระอุปัชฌาย์และได้ฉายาว่า “สามีราโม” ซึ่งต่อมาชาวบ้านพากันเรียกว่า “เจ้าสามีราม”
เมื่อเจ้าสามีรามอยู่ศึกษาที่เมืองนครศรีธรรมราชจนเพียงพอแล้ว จึงคิดไปศึกษาต่อด้านวิปัสสนาธุระที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยนั้นมีพระอริยเจ้าชั้นสูงที่แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณ 4 มีฤทธานุภาพจำนวนมาก ท่านจึงได้กราบลาครูกาเดิมและขอโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ ซึ่งกำลังจะไปค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
หลังจากล่องเรือสำเภาออกสู่ทะเลอย่างปลอดภัยมา 3 วัน 3 คืน ก็เจอเหตุการณ์ท้องทะเลแปรปรวนวิปริต ท้องฟ้ามืดมัวเกิดพายุฝนลมแรง ทำให้เรือแล่นต่อไปไม่ได้ต้องจอดทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่ 3 วัน 3 คืนพายุจึงสงบลง ช่วงนั้นเองบนเรือน้ำจืดหมดลง ทำให้คนในเรือขาดน้ำดื่มและน้ำเพื่อหุงต้มอาหาร นายอินทร์และลูกเรือไม่เคยเจอสถานการณ์นี้มาก่อน รู้สึกโมโหและพาลเข้าใจว่านี่คืออาถรรพณ์เหตุร้ายที่พาเจ้าสามีรามลงเรือมาด้วย จึงไล่เจ้าสามีรามลงเรือเล็ก หวังจะปล่อยท่านกลับสู่ฝั่งตามยถากรรม
ขณะที่เจ้าสามีรามอยู่ในเรือลำเล็ก ท่านได้เข้าฌานสมาบัติแล้วอธิษฐานจิตด้วยฤทธิ์อภิญญา จากนั้นยื่นเท้าลงไปในน้ำทะเล ทันใดนั้นน้ำทะเลที่ท่านเหยียบก็เกิดประกายสีขาวเรืองรองเป็นวงขนาดใหญ่เท่าล้อเกวียน ท่านบอกให้ลูกเรือตักน้ำตรงนั้นขึ้นมาลองดื่ม ปรากฏว่าน้ำนั้นเย็นฉ่ำจืดสนิทเหมือนน้ำฝนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ พวกลูกเรือต่างดีใจช่วยกันตักน้ำใส่ถังจนเต็ม นายอินทร์และลูกเรือเมื่อเห็นความอัศจรรย์และอิทธิฤทธิ์ของเจ้าสามีรามต่างพากันหวาดกลัวในบาปกรรมที่ได้ทำ จึงพร้อมใจกันนิมนต์เจ้าสามีรามกลับขึ้นเรือสำเภา แล้วพากันกราบไหว้ขอขมาเป็นการใหญ่ เนื่องจากเจ้าสามีรามเจริญฌานเมตตาอยู่เป็นนิจจึงให้อภัยและไม่คิดโกรธเคืองถือสาหาความ จากนั้นทั้งหมดก็ได้เดินทางต่อไปอย่างราบรื่น
เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว นายอินทร์นิมนต์ให้เจ้าสามีรามพักที่วัดแค และให้อ้ายจันทาสของตนอยู่รับใช้อุปัฎฐากเจ้าสามีรามเป็นอย่างดี แล้วนายอินทร์ก็ขอกราบลาไปขายสินค้าและเดินทางกลับไปหัวเมืองทางใต้ ส่วนสามีรามศึกษาธรรมะต่อที่วัดลุมพลีนาวาส เมื่อนายอินทร์กลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง เขานิมนต์เจ้าสามีรามให้ไปพักที่วัดสมเด็จพระสังฆราชเจ้าสามีรามจึงย้ายมาศึกษาธรรมะและบาลีอยู่ที่วัดแห่งนี้จนเชี่ยวชาญ ก่อนกราบลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราชานุวาสซึ่งเป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี อยู่นอกกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ที่เหมาะแก่การเจริญกรรมฐาน
ติดตามเรื่องราวอัจฉริยภาพช่วยบ้านช่วยเมืองของหลวงปู่ทวด ความเป็นมาเป็นไปของความเชื่อ “หลวงปู่ทวดคือพระโพธิสัตว์” และที่มาของวัดช้างให้ ฌาปนสถานของหลวงปู่ฯ ได้ในนิตยสาร Secret ฉบับที่ 205 (10 มกราคม 2560)