ปัญหา คอนแทคเลนส์ คนทำงาน
สำหรับคนทำงานบางคน คอนแทคเลนส์ เปลี่ยนชีวิตของเขาหรือเธอให้ดีขึ้น ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องการมองเห็นแล้ว ยังช่วยเสริมบุคลิกภาพที่จำเป็นต่อการทำงานด้วย ทว่าหลายคนกลับประสบปัญหาหลังจากตัดสินใจใส่คอนแท็กต์เลนส์เพียงไม่นาน
เหล่านี้คือปัญหาที่ นายแพทย์คำนูณ อธิภาส จักษุแพทย์ ประจำคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา จะมาตอบให้ค่ะ
ถาม : เลือกคอนแท็กต์เลนส์อย่างไรให้ใส่สบาย เหมาะกับตัวเอง
คุณหมอตอบ : คุณสมบัติของคอนแท็กต์เลนส์ที่ดีต้อง See good, Feel good และ Look good ด้วย
- See good คือ ใส่แล้วต้องมองเห็นชัดเจน คงที่สม่ำเสมอ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพและขนาดของเลนสท์ ที่พอดีกับดวงตา ดังนั้น การใส่คอนแท็กต์เลนส์ครั้งแรกจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพบจักษุแพทย์ เพื่อให้หมอตรวจและสั่งสเป็คคอนแท็กต์เลนส์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับเรา คือควรใช้เลนส์ที่มีคุณสมบัติอย่างไร
เบอร์อะไร ยี่ห้ออะไร และต้องวางแผนร่วมกันด้วยว่าจะต้องมาตรวจสายตาเพื่อไปซื้อซ้ำภายในเวลาเท่าไร
- Feel good คือ ใส่แล้วสบายตา ที่ดีที่สุดคือใส่แล้วต้องเหมือนไม่ใส่เลย หรืออย่างน้อยก็รู้สึกว่าใส่ แต่ไม่รำคาญซึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของเลนส์ เนื้อเลนส์ ความพอดี (Fitting) ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์เช่นกัน
- Look good คือ ใส่คอนแท็กต์เลนส์แล้วช่วยเสริมบุคลิกภาพ ทำให้แต่งหน้าง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งของคนทำงาน เพราะชว่ ยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น บางคนอาจเลือกเป็นคอนแท็กต์เลนส์แบบสีก็ได้ แต่ต้องเป็นคอนแท็กต์เลนส์ที่ได้มาตรฐานเช่นกัน
ถาม : คอนแท็กต์เลนส์แบบแข็งหรือแบบนิ่มแบบไหนดีกว่ากัน
คุณหมอตอบ : ปัจจุบันทั่วโลกยอมรับตรงกันว่า คอนแท็กต์เลนส์แบบแข็งดีกว่าแบบนิ่มเกือบทุกกรณี ทั้งในด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการติดเชื้อที่มีน้อยกว่า คุณภาพในการมองเห็น (Optical Quality) มีประสิทธิภาพดีกว่า ทำความสะอาดได้หมดจดกว่า เกิดปัญหาความมัวน้อยกว่า
คอนแท็กต์เลนส์แบบแข็งจึงเหมาะกับคนที่สายตาสั้นมาก เช่น สั้น 1,500 และกลุ่มอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างหมออย่างพยาบาลแบบพวกเรานี่แหละ แต่ข้อด้อยของเลนส์แบบแข็งคือ ผู้ใส่ต้องมีการปรับตัวในช่วงแรกๆ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น จึงจะรู้สึกว่าใส่ได้อย่างสะดวกสบาย
ขณะที่เลนส์แบบนิ่มทำจากวัสดุอุ้มน้ำ จึงใส่สบายกว่า แต่เนื่องจากวัสดุนั้นดูดน้ำหล่อเลี้ยงจากตาเข้าไปในเนื้อเลนส์ทำให้ตาแห้งและเคืองตาได้
นอกจากนี้ เลนส์แบบนิ่มยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเลนส์แบบแข็ง เพราะน้ำหล่อเลี้ยงในดวงตาเป็นแหล่งสะสมทั้งของดี คือ สารอาหาร สารภูมิต้านทาน และของเสีย เช่น เชื้อโรคและฝุ่นละออง เมื่อใส่เลนส์แบบนี้ไปนานๆ และไม่ได้เปลี่ยนตามเวลาที่กำหนด ของดีก็เสื่อมสภาพกลายเป็นของเสียได้ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ที่ตาได้
คลิกอ่าน หน้าถัดไป
ถาม : ควรเลือกคอนแท็กต์เลนส์แบบนิ่มแบบรายวัน รายเดือน หรือรายปี
คุณหมอตอบ : ถ้าคนที่ใส่เลนส์แบบนิ่ม ใส่แบบรายวันน่าจะดีที่สุด เพราะเลนส์มีการสะสมความสกปรกได้มากกว่าแบบแข็งเปิดชิ้นใหม่ซึ่งปลอดเชื้อใช้จะดีกว่า แต่ราคาค่อนข้างสูงกว่าแบบรายเดือนหรือรายปี ถ้าจะใส่แบบรายเดือนหรือรายปีต้องทำความสะอาดอย่างถูกต้อง และตามเวลาที่ระบุอย่างเคร่งครัด
ถาม : การทำความสะอาดที่ถูกต้องทำอย่างไร
คุณหมอตอบ : การทำความสะอาดสำคัญต่อมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มหันมาใส่เลนส์มากๆ เพราะถ้าทำไม่ถูก พานให้ติดเชื้อเอาได้ คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าแช่อย่างเดียวก็ได้ แต่ที่ถูกต้องคือ ต้องถูด้วยน้ำยาทำความสะอาดคอนแท็กต์เลนส์แล้วค่อยแช่เลนส์นั้นในน้ำยาแช่คอนแท็กต์เลนส์
มีรายงานวิจัยบอกว่า การถูอย่างเดียวลดเชื้อโรคได้ 95 เปอร์เซ็นต์ และส่วนเชื้อโรคที่เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำยาแช่สามารถกำจัดได้ นอกจากนี้ การถูยังช่วยลดคราบจุลินทรีย์ (Biofilm) ที่เกาะผิวเลนส์ได้ด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ มักเข้าใจผิดกันว่า การแช่เลนส์ไว้ในน้ำเกลือช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว น้ำเกลือไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ในทางตรงกันข้าม น้ำเกลือจะทำให้เชื้อโรคโตเร็วขึ้น แทนที่จะฆ่าเชื้อ กลายเป็นเพาะเชื้อตลอด 8 – 10 ชั่วโมงที่เราไม่ได้ใส่เลนส์
การใช้น้ำเกลือที่ถูกต้องคือ ใช้น้ำเกลือในการล้างน้ำยาที่ใช้ฟอกถูเลนส์ในรายที่เซ้นสิทีฟกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้น้ำเกลือในการล้างทิ้ง
ถาม : ใส่คอนแท็กต์เลนส์อย่างไรให้ง่าย รวดเร็ว และไม่ลื่นหลุด
คุณหมอตอบ : ปัญหาการใส่คอนแท็กต์เลนส์ก็เป็นปัญหาในรายที่เพิ่งใส่ใหม่ๆ หรือเวลาเร่งรีบไปทำงาน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในผู้ชาย วิธีใส่ให้ง่ายคือ ต้องเปิดหนังตาให้พ้น โดยต้องดึงเปลือกตาให้ถึงบริเวณโคนขนตาทั้งด้านบนและด้านล่างแล้วถ่างให้กว้างพอที่จะใส่เลนส์ได้ ไม่ใช่จับแค่บริเวณเปลือกตา
คลิกอ่าน หน้าถัดไป
ถาม : คนทำงานประเภทไหนที่มักป่วยด้วยคอนแท็กต์เลนส์
คุณหมอตอบ :
- แพทย์และพยาบาล เพราะหมอกับพยาบาลเป็นอาชีพที่เสี่ยงกับเชื้อโรค โดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่ในห้องไอซียูหรืออยู่ในวอร์ดไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เพราะที่เหล่านี้จะมีเชื้อโรคมากที่เป็นอันตรายต่อตามากคือ ซิวโดโมแนส (Pseudomonas) เชื้อนี้จะพบมากตามโรงพยาบาล เมื่อติดเข้าไปในดวงตาจะติดเชื้อรวดเร็วและรุนแรงมาก โดยไม่มีอาการเตือน อาจจะทำให้กระจกตาทะลุ 24 – 48 ชั่วโมงเป็นอันตรายได้ถึงการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร จึงต้องทำความสะอาดเลนส์ให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนด
- งานออฟฟิศ เพราะคนออฟฟิศคงอยู่ที่การจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ จึงไม่ค่อยได้กะพริบตา ทำให้การเกลี่ยน้ำตาน้อยลง เกิดการระคายเคือง เพราะโดยทั่วไปคนใช้คอมพิวเตอร์ มีโอกาสที่จะตาแห้งอยู่แล้ว ยิ่งใช้คอนแท็กต์เลนส์แบบนิ่มก็ยิ่งดูดเอาน้ำที่มีน้อยอยู่แล้ว จึงเกิดการระคายเคืองได้เมื่อตาแห้ง แต่เรื่องแสงจากคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ปัญหาผู้ใช้จึงควรพักสายตาบ้าง หรือเปลี่ยนเป็นเลนส์แบบนิ่มคุณภาพดี ที่คงความชุ่มชื้นของดวงตา และปล่อยให้ออกซิเจนผ่านลงสู่กระจกตาได้ดี หรือเปลี่ยนมาใช้เลนส์แบบแข็ง
- คนทำงานไม่เป็นเวลา เพราะคนที่ทำงานไม่เป็นเวลาหรือต้องเดินทางไกลๆ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาจากการไม่มีเวลาถอดเวลาใส่ที่แน่นอน อย่างเช่น แอร์โฮสเตส สจ๊วร์ด ต้องใส่เลนส์ต่อเนื่องกันตลอดเวลา แล้วอยู่ในที่ที่อากาศแห้งจัด เย็นจัดจึงเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
ถ้าทำงานไม่เป็นเวลา ควรกำหนดเวลาถอด – เวลาใส่ให้เหมาะสม เพราะการถอดและใส่เป็นเวลาทำให้ได้พักตา และต้องทำความสะอาดอย่างถูกต้องด้วย
- งานภาคสนาม เพราะคนทำงานภาคสนามต้องสัมผัสกับฝุ่นเพราะประเทศเราเป็นประเทศที่มีฝุ่นมาก โดยเฉพาะฮาร์ดเลนส์หรือเลนส์แบบแข็ง เพราะฝุ่นจะหลงเข้าไปอยู่ใต้เลนส์ ทำให้
เม็ดฝุ่นบดอยู่ระหว่างเลนส์กัยดวงตา การใช้คอนแท็กต์เลนส์น่าจะเหมาะกับคนทำงานในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็นแบบออฟฟิศมากกว่า
คลายทุกปัญหาคาใจอย่างนี้แล้วก็ใช้คอนแท็กต์เลนส์ได้อย่างสบายใจ ฉลาดใช้เพื่อสุขภาพตาใสปิ๊ง ต้องให้จักษุแพทย์แนะนำนะคะ
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 286