พฤติกรรมการ นั่งทำงาน แบบผิดๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา
การ นั่งทำงาน ที่โต๊ะคงไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาอีกต่อไป หากได้รับรู้ข้อเท็จจริงของอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากวิถีการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างไป ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องนั่งพิมพ์งานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเอาเป็นเอาตาย หรือภาพลักษณ์ทันสมัยของหนุ่มสาววัยทำงานรุ่นใหม่กับโน้ตบุ๊กคู่ใจบนโต๊ะในร้านกาแฟ
เชื่อหรือไม่คะว่า วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุก่อให้เกิดอาการทรมานกาย อย่างหมอนรองกระดูกปลิ้นหรือเคลื่อน กระดูกต้นคอเสื่อมกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ โดยที่คุณไม่รู้ตัว
แต่รับรองค่ะว่าอาการเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเพียงคุณระมัดระวังและรู้เท่าทัน
กระดูกต้นคอเสื่อมก่อนวัย
นาวิน (นามสมมติ) สถาปนิกหนุ่มวัย 35 ปี ผู้พิสมัยกลิ่นและรสชาติของกาแฟ ชอบอยู่ในโลกของกาแฟอยู่บ่อยๆไม่เว้นแม้แต่เวลาทำงาน เขาจึงมักนัดลูกค้ามาคุยงานที่ร้านกาแฟร้านโปรดอยู่เป็นประจำ
หลังจากคุยงานเสร็จ เขาก็ยังทำงานอยู่ในร้านกาแฟด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปที่ใช้ในการเขียนแบบ ซึ่งไม่ต้องง้อกระดาษและโต๊ะเขียนแบบอีกต่อไป จนบางวันเขาใช้เวลาทั้งวันอยู่ที่นั่น ประหนึ่งว่าคือออฟฟิศ
หลังจากเขามีวิถีชีวิตเช่นนี้มา 2 -3 ปีวันหนึ่งหลังจากนาวินนั่งทำงานอยู่บนเบาะนุ่มๆ ตัวเดิมมาเป็นเวลากว่า 6 ชั่วโมง เขาก็ตัดสินใจเก็บโน้ตบุ๊กลงกระเป๋าเตรียมตัวกลับบ้าน ทันใดนั้น เมื่อนาวินลุกขึ้นจากโซฟา เขารู้สึกปวดแปล๊บที่บริเวณหลัง
เขาคิดว่ามันเป็นอาการที่มาจากการนั่งทำงานนาน แค่ยืดเส้นยืดสายเดี๋ยวอาการนั้นก็คงหายไป
ตรงกันข้าม ตลอดการเดินทางกลับบ้าน อาการปวดนั้นไม่คลายลงเลย กลับเริ่มลามลงไปที่ขา เขาจึงตัดสินใจไปพบแพทย์ และสิ่งที่เขาได้รู้ก็มีผลเปลี่ยนชีวิตเขาไปอย่างสิ้นเชิง
คลิกอ่านต่อที่หน้าถัดไป
อาจารย์ พญ.สริสสา แรงกล้า อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จากการวินิจฉัยพบว่า หมอนรองกระดูกสันหลังของผู้ป่วยเคลื่อนและยังมีอาการกระดูกต้นคอเสื่อม ซึ่งถ้าดูจากอายุแล้วยังไม่ควรมีอาการนี้เพราะอายุยังน้อยอยู่
“สาเหตุที่ผู้ป่วยมีอาการเช่นนี้เพราะพฤติกรรมการนั่งทำงานในร้านกาแฟเนื่องจากโต๊ะและเก้าอี้ในร้านกาแฟนั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งทำงานติดต่อกันได้เป็นเวลานาน
“ยิ่งถ้านั่งเก้าอี้ที่เป็นโซฟา ตัวจะจมลงไปกับเบาะนั่ง ส่งผลให้เวลาลุกจากที่นั่งหลังจากทำงานต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง จะมีแรงที่ไปกระทำกับกระดูกสันหลังมากกว่าปกติ ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนได้
“นอกจากจะประคบร้อนเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ดึงหลัง พร้อมกับทำท่าบริหารกล้ามเนื้อส่วนหลังแล้ว ผู้ป่วยควรเลิกพฤติกรรมการนั่งทำงานในร้านกาแฟ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้เลือกทำงานบนโต๊ะและเก้าอี้แบบปกติ ไม่ใช่โต๊ะกับโซฟา”
หมอนรองกระดูกเคลื่อน
ใครเลยจะรู้ว่าเรื่องเล็กๆ เพียงแค่การก้มลงหยิบกระดาษทิชชูที่คุณโยนทิ้งไม่ลงถัง อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้หากเราไม่ระมัดระวัง
เมธี (นามสมมุติ) พนักงานออฟฟิศวัย 33 ปี กำลังพิมพ์งานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์อย่าเคร่งเครียดเป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว
ช่วงนี้เขางานยุ่งมาก ต้องเร่งพิมพ์งานให้เจ้านาย ถึงขนาดต้องกินข้าวกลางวันไปทำงานไป ซ้ำร้ายกว่านั้นเพราะไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เขาจึงเป็นหวัดงอมแงมมานานกว่าหนึ่งอาทิตย์แล้ว
ทันใดนั้น เขาหยิบกระดาษทิชชูมาสั่งน้ำมูกแล้วโยนทิ้งลงไปในถังขยะข้างกาย เจ้ากรรม ทิชชูไม่ลงถัง เขาจึงก้มไปเก็บ เมื่อเก็บได้แล้วเขาจึงรีบลุกขึ้นมา
จังหวะนี้เอง เขารู้สึกปวดแปล๊บที่บริเวณหลัง จึงลุกขึ้นบิดตัวไปมาเพื่อสลัดอาการนั้น แต่อาการไม่ทุเลาลงแต่อย่างใด เขาจึงเริ่มทบทวนว่าต้องมีสิ่งผิดปกติอะไรเกิดขึ้นแล้ว
คลิกอ่านต่อที่หน้าถัดไป
อาจารย์ ดร.คีรินท์ เมฆโหรา อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงสาเหตุของอาการดังกล่าวว่า “สาเหตุหลักของอาการดังกล่าวมาจากการที่ผู้ป่วยนั่งทำงานในท่าหลังโค้งติดต่อกันนานถึง 4 ชั่วโมงแล้วก้มตัวลงกะทันหัน
“โดยท่าหลังโค้งนั้นเป็นท่าที่ทำให้ด้านหลังของหมอนรองกระดูกยืด เมื่อยืดอยู่นานๆ ย่อมส่งผลให้สภาพความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อด้านหลังของหมอนรองกระดูกสันหลังลดลงและเกิดการยึดตัว
“ดังนั้น พอผู้ป่วยก้มจึงเกิดแรงกระชากเส้นใยของหมอนรองกระดูกในแนวเฉียงตามลักษณะการหมุนตัว ทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาทได้
“การป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ทำได้ง่ายมากครับ คือผู้ทำงานต้องระมัดระวังและเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่า เมื่อนั่งทำงานควรนั่งในท่าหลังตรง ถ้าเมื่อยอาจพิงพนักได้
“หากรู้ตัวเองว่านั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานแล้ว ควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง หรือหากต้องเคลื่อนไหวร่างกาย ให้ตั้งสติ ขยับตัวไปมาก่อน โดยเฉพาะถ้าต้องก้มตัวหยิบของ ควรลุกขึ้นจากเก้าอี้และเก็บของด้วยท่างอเข่า หลังตรง
“แน่นอนครับว่าฟังดูอาจจะยุ่งยาก แต่ควรทำให้เป็นนิสัยครับ เพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง”
คลิกอ่านต่อที่หน้าถัดไป
เส้นเอ็นอักเสบ
เคยสังเกตกันไหมคะว่า ในขณะที่คุณพิมพ์งาน ข้อมือคุณต้องบิดเกร็งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในระยะยาวจะเกิดอะไรขึ้น
กวี (นามสมมติ) เป็นพนักงานออฟฟิศ อายุเกือบ 40 ปี ตั้งแต่เรียนจบเขาต้องทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกวัน
วันหนึ่งเขารู้สึกชาที่ฝ่ามือ หลังมือบริเวณนิ้วก้อย และครึ่งซีกของนิ้วนาง
เขาจึงตัดสินใจไปพบแพทย์และพบว่า เป็นอาการยึดรั้งของเส้นเอ็นที่ไปมีผลต่อเส้นประสาทให้คลายตัวลง
ขณะที่เขากำลังเตรียมใจเพื่อรับการผ่าตัดที่จะมีขึ้นในเร็ววัน เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งแนะนำให้เขาลองไปปรึกษาแพทย์ที่คลินิกกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ ดร.คีรินท์กล่าวว่า “อาการที่ผู้ป่วยเป็นมีชื่อทางการแพทย์เรียกว่า
Guyon’s Canal Syndrome (GCS) ซึ่งสามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด แต่ต้องใช้เวลา
“ส่วนใหญ่คนที่เสี่ยงเป็นโรคนี้จะทำงานที่ต้องวางข้อมือบนโต๊ะและมีการขยับข้อมือไปมา เช่นทำงานด้วยคอมพิวเตอร์
“ถ้าทำกิจกรรมดังกล่าวมาเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการกดของเส้นประสาทรับความรู้สึกจากนิ้วก้อยและครึ่งซีกของนิ้วนาง จนเกิดอาการชาบริเวณดังกล่าวรวมถึงอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบางมัดบนฝ่ามือได้
“อาการดังกล่าวทุเลาลงได้ด้วยการนวดประคบร้อนและใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ช่วย เพื่อให้ทางเดินเส้นประสาทสะดวกขึ้น แต่ในระยะยาวแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย
“โดยใช้เมาส์แพด ซึ่งนอกจากจะเป็นที่วางเมาส์แล้วยังมีส่วนที่เป็นเบาะนิ่มๆ รองบริเวณข้อมือในระหว่างการคลิกเมาส์
“นอกจากนั้น แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ควรเป็นแบบแป้นคอมพิวเตอร์ที่แยกส่วนได้ หรือแป้นคอมพิวเตอร์แบบใหม่ที่ออกแบบให้มีความโค้งตามลักษณะของข้อมือ”
ในเมื่อการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต?เราคงหลีกเลี่ยงหรือเลือกงานไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ ฉะนั้นลองหันมาใส่ใจดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานของคุณให้ปลอดซึ่งปัจจัยเสี่ยงก่อโรค
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 261