ฮอร์โมนเพศหญิง,

อาหารเสริม ฮอร์โมนเพศหญิง ประโยชน์หรือโทษ

อาหารเสริม ฮอร์โมนเพศหญิง ประโยชน์หรือโทษ

ดิฉันมีผิวหน้ามัน ค่อนข้างหยาบ และมีขนดกกว่าผู้หญิงทั่วๆ ไป เพื่อนๆ เลยแนะนำให้กินอาหารที่ช่วยเพิ่ม ฮอร์โมนเพศหญิง จำพวกถั่วเหลืองและน้ำมะพร้าว จึงอยากถามคุณหมอว่า ดิฉันควรกินอะไรบ้างเพื่อช่วยให้มีความเป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น

 

คุณหมอตอบ

อาการที่เล่ามา หากเป็นไม่มากถือเป็นอาการปกติ เกิดจากกรรมพันธุ์

แต่หากเป็นมาก เช่น มีอาการหน้ามัน เป็นสิว ผิวค่อนข้างหยาบ รูขุมขนบนใบหน้ากว้าง ผมบางหรือหัวล้าน มีขนดก มีหนวดหรือเครามากกว่าผู้หญิงทั่วๆ ไป อาการเช่นนี้จัดว่าผิดปกติ เนื่องมาจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง

ความเชื่อของคนทั่วไป คือ เมื่อมีฮอร์โมนเพศชายสูงก็แก้ด้วยการเสริมฮอร์โมนเพศหญิงจากอาหาร ยา หรือสมุนไพร หรือการกินพืชผัก เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว ที่มีฮอร์โมนเพศหญิงไฟโตเอสโทรเจน หากกินในปริมาณเทียบเท่าอาหารทั่วไปมักเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงได้ไม่มากนัก แต่มีข้อดีคือไม่เป็นอันตราย ถ้าหากต้องการฮอร์โมนเพศหญิงสูง จำเป็นต้องกินยาหรือสมุนไพรชนิดสกัดเข้มข้น หรือชนิดบดใส่แคปซูล เป็นต้น

แม้การเสริมฮอร์โมนเพศหญิงในคนที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงจะฟังดูเหมือนสมเหตุสมผล แต่ความเป็นจริงคือ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดและอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้กินได้ค่ะ

เนื่องจากผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติมักมี ฮอร์โมนเพศหญิง เอสโทรเจนสูงด้วย แต่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสเทอโรน จึงมีอาการประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาดหรือมีปริมาณน้อย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากการมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือพีซีโอเอส (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS)อาจเป็นเพราะมีการผลิตฮอร์โมนเพศชายที่ผิดปกติ เช่น มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต มีต่อมหมวกไตหนา (Adrenal Hyperplasia) มีเนื้องอกที่รังไข่ในส่วนที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น

ดังนั้นหากมีอาการที่บ่งบอกว่ามีฮอร์โมนเพศชายสูง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอาการผิดปกติลักษณะใด เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี

 

รังไข่, ฮอร์โมนเพศหญิง, ฮอร์โมนเพศชายสูง, ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ, มดลูก
ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ

รู้จักอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

สำหรับอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นอาการที่พบได้มากในวัยเจริญพันธุ์ (อายุระหว่าง 20 – 40 ปี) ตั้งแต่ร้อยละ 5 – 10 แม้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่าถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

 

อาการ

  1. อ้วน เป็นไปได้ว่าความอ้วนทำให้มีฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโทรเจน) และฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ อาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบนี้พบในคนอ้วนถึงร้อยละ 35 – 76
  2. ประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาน้อย หรือนานๆ มาครั้ง
  3. ผิวหน้ามัน มีสิว มีขนดกบริเวณใบหน้า เช่น หนวด เคราซึ่งพบว่าอยู่ในกลุ่มผู้มีอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบถึงร้อยละ 50 – 70
  4. มีลูกยาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศไม่สมดุล ทำให้ไข่ไม่ตก
  5. มีความผิดปกติของระบบเผาผลาญ (Metabolic Disease) จากความอ้วน ฮอร์โมนเพศไม่สมดุล ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  6. เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนสูง จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ภาวะตกเลือดจากเยื่อบุโพรงมดลูกหนา และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยอาการนี้จากการตรวจหาข้อบ่งชี้ 3 ประการ คือ

  1. มีฮอร์โมนเพศชายสูง เช่น หน้ามัน เป็นสิว ขนดก ผมบางหรือศีรษะล้าน
  2. ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาดประจำเดือนมาน้อย หรือนานๆ มาครั้ง
  3. ตรวจอัลตราซาวนด์พบถุงน้ำในรังไข่ขนาด 2 – 9 มิลลิเมตร มากกว่า 12 ใบ
ปรึกษาแพทย์, ฮอร์โมนเพศหญิง, ฮอร์โมนเพศชายสูง, ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ, ผู้หญิง
หากมีอาการบ่งบอกว่าฮอร์โมนเพศชายสูง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และวิธีการรักษา

การรักษา

  1. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หากอ้วนต้องลดน้ำหนัก ลดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
  2. ลดฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย
  3. ลดฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำให้เยื่อบุโพรง-มดลูกหนาด้วยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือให้ฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสเทอโรนทดแทน
  4. หากต้องการมีลูก ในคนอ้วนต้องลดน้ำหนักให้ใกล้เคียงเกณฑ์ปกติ แล้วใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก หรือใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เช่น ทำเด็กหลอดแก้ว

ดังนั้นหากมีอาการบ่งบอกว่ามีฮอร์โมนเพศชายสูงซึ่งเกิดจากอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ถ้าใช้วิธีเสริม ฮอร์โมนเพศหญิง ด้วยการกินยา หรือสมุนไพรซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนในระดับสูง…อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. ไม่สามารถรักษาอาการหน้ามัน เป็นสิวขนดก ผิวหยาบ เพราะฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนไม่สามารถลดฮอร์โมนเพศชายได้
  2. เสี่ยงต่อการตกเลือดและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะเป็นการเพิ่มฮอร์โมนเอสโทรเจนที่มีระดับสูงอยู่แล้วให้สูงขึ้น ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนามากขึ้น
  3. เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง
  4. เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
  5. หากเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ฮอร์โมนเอสโทรเจนในระดับที่สูงอาจจะกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบได้

 

จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 419 (16 มีนาคม 2559)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

จุดซ่อนเร้น (น้องสาวของฉัน) หมองคล้ำ ทำอย่างไรดี

เช็กอาการ ซีสต์รังไข่ ชนิดไหนยุบได้ ชนิดไหนใช่มะเร็ง

เรื่องต้องรู้ ก่อนไปตรวจ ความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก

 

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.