เครื่องวัดความดันโลหิต เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำดูแลร่างกายให้ความดันปกติ ซึ่งโรคความดันสูงเป็นโรคที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจและแรงต้านทานของหลอดเลือด ดูค่าได้จากเครื่องวัดความดันโลหิตความดันจะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัว และลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว
ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นกับท่าทาง ความเครียด การออกกำลังกาย และการพักผ่อนนอนหลับ ค่าความดันปรกติคือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท เมื่อความดันสูงกว่าเกิน 140/90 มิลลิเมตร แสดงว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจัยที่มีผลต่อความดัน
- อายุ ส่วนใหญ่ค่าความดันโลหิตจะสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นน้อยลง
- เพศ พบว่าผู้ชายมักเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้หญิง
- กิจกรรมในแต่ละวัน เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างวันหรือมีการออกแรง จะทำให้ค่าความดันโลหิตสูงขึ้น
- เวลาในการวัดค่าความดัน เนื่องจากกิจกรรมที่ทำในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน ช่วงกลางวันร่างกายจะมีความดันโลหิตสูงขึ้น และจะลดต่ำสุดในช่วงที่นอนหลับ
- ความเครียด เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรินาลีน (Adrenaline) ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดมากขึ้น ส่งผลให้ค่าความดันโลหิตสูงขึ้น
- อาหาร การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารรสเค็ม อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะทำให้ร่างกายดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงตามมาได้
- พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
- ยา ยาหลายชนิดมีผลต่อค่าความดันโลหิตในร่างกาย ตัวอย่างกลุ่มยาที่อาจทำให้ค่าความดันโลหิตสูงขึ้น เช่น ยาแก้คัดจมูก ฮอร์โมนเพศและยาคุมกำเหนิด ยาสเตียรอยด์ ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาต้านซึมเศร้า ยาจิตเวช ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ดังนั้นการป้องกันความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันอัตราการตายจากโรคหัวใจ และโรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของทุกท่านและไม่มีอาการเตือน ดังนั้นการจะทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องวัดความดันโลหิต “เครื่องวัดความดันโลหิต” จึงมีความสำคัญ
ชีวจิต ขอพาคุณผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “เครื่องวัดความดันโลหิต” แต่ละประเภท และวิธีเลือกเครื่องวัดความดันโลหิตสำหรับใช้งานที่บ้านกันค่ะ
โรคความดันโลหิตสูงนับเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุโรคทำให้ผู้สูงอายุ ไม่ได้รับการรักษาที่ตรงจุด หรือปล่อยปละละเลยกับการใส่ใจสุขภาพในทุก ๆ วัน
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น มีกิจกรรมทางกาย หรือออกกำลังกายน้อย บริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือและไขมันสูง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ รวมไปถึงอายุที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกับโรคความดันโลหิตสูงเช่นเดียวกัน
เนื่องจากร่างกายมีความเสื่อมถอยของหลอดเลือด ผนังหลอดเลือดแดงจะหนา ทำให้มีความแข็งมากขึ้น ความยืดหยุ่นน้อยลง มักเกิดร่วมกับการสะสมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และไขมันในผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ
3 ประเภท เครื่องวัดความดันโลหิต
การตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน (HBPM) คือการที่คุณตาคุณยายหรือบุคคลในครอบครัวได้รับคำแนะนำวิธีและเทคนิคในการวัดความดันโลหิตจากแพทย์ ให้สามารถวัดความดันโลหิตได้เองขณะอยู่บ้าน โดยเริ่มจากการรู้จักเครื่องวัดความดันโลหิตแต่ละประเภทก่อนเลือกใช้ให้เหมาะสม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แบ่งประเภทเครื่องวัดความดันหลัก ๆ ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอท เป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับวัดความดันโลหิต วัดง่าย ไม่ต้องมีการปรับแต่ง ที่สำคัญให้ผลที่แม่นยำ แต่ยังไม่เหมาะสำหรับซื้อใช้งานที่บ้าน เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารปรอทกรณีแตกหัก และมีความลำบากในการใช้งาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สายตาไม่ดีจะอ่านตัวเลขลำบาก หรือร่างกายอ่อนแรง ไม่สามารถบีบลมให้ได้ค่าที่แม่นยำ
- เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดขดลวด ราคาไม่แพง มีน้ำหนักเบา และพกพาสะดวก มีการใช้งานคล้ายกับชนิดปรอท แต่ตัวเครื่องมือมีกลไกซับซ้อนมากกว่า ต้องปรับเครื่องมือ โดยเทียบกับเครื่องมือชนิดปรอทอย่างน้อยปีละครั้ง หรือเมื่อมีการทำตก
- เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องมีหูฟังหรือลูกยางสำหรับบีบลม ทำให้สะดวกในการใช้งาน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ แม้ว่าจะมีสายตาไม่ดีหรือการได้ยินไม่ชัดก็ตาม มีหน้าจอแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจที่ชัดเจน เมื่อใช้งานไม่ควรขยับร่างกาย เพราะจะทำให้เกิดการผิดพลาดของการวัดได้ง่าย
Tips เลือกเครื่องวัดความดันโลหิต
คุณตา คุณยาย ที่กำลังเลือกซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจไปนะคะ เพราะเครื่องวัดความดันโลหิตมีหลายรูปแบบ ความยากง่ายในการใช้งานแตกต่างกันไป ควรเลือกให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
โดย Blood Pressure UK หรือองค์กรการกุศลเพื่อป้องกันความพิการ และการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตของประเทศอังกฤษ ได้แนะนำวิธีการเลือกเครื่องวัดความดันโลหิตด้วยตนเองง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
ตรวจสอบจอภาพให้ถูกต้อง เลือกเครื่องที่ผ่านการตรวจสอบทางการแพทย์ มีจอภาพที่อ่านค่าได้ชัดเจน ข้อมูลครบถ้วน และคุณตาคุณยายต้องสามารถมองเห็นตัวเลขได้ชัด
ผ้าพันแขนมีขนาดที่เหมาะสม หากใช้ผ้าพันแขนที่มีขนาดไม่พอดี การอ่านค่าความดันโลหิตก็จะไม่ถูกต้อง ให้วัดรอบต้นแขนของคุณตาคุณยายที่จุดกึ่งกลางระหว่างหัวไหล่และข้อศอก แล้วเลือกขนาดผ้าพันแขนให้เหมาะสมกับขนาดที่วัดได้
ขนาดผ้าพันแขนของเครื่องวัดความดันโลหิต
การวัด (เซนติเมตร) การวัด (นิ้ว) ขนาดผ้าพันแขน18 – 22 7.1 – 8.7 เล็ก
22 – 32 8.8 – 12.8 กลาง
32 – 45 12.8 – 18 ใหญ่
เลือกรูปแบบให้เหมาะสมกับงบประมาณ ราคาของเครื่องวัดความดันโลหิตมักจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติพิเศษที่จอภาพดิจิทัลแสดงผล เช่น มีหน่วยความจำภายใน แม้ว่าบางคุณสมบัติพิเศษจะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะจำเป็นทั้งหมด เพียงแค่มีตัวเลขค่าความดันตัวบนและค่าความดันตัวล่างก็เพียงพอสำหรับคนที่มีงบจำกัด
ทำการทดสอบเทียบค่า เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตมีความแม่นยำ ควรทดลองใช้แล้วเปรียบเทียบค่ากับเครื่องหลายๆ รูปแบบ โดยวัด 2 – 3 ครั้ง ในคราวเดียวเพื่อดูว่าค่าที่แสดงออกมามีความแม่นยำแค่ไหน ถ้ามีความแม่นยำ ค่าความดันที่ได้จะเท่ากันหรือไม่แตกต่างกันมากนัก
คำแนะนำในการใช้เครื่องวัดความดันโลหิต
ไม่ควรวัดความดันทันทีหลังอาหารมื้อหลัก ควรห่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่หรือเครื่องก่อนทำการวัด ไม่ควรวัดขณะที่ร่างกายเหนื่อย หมดแรง อ่อนเพลีย หรือมีอารมณ์เครียด ถ้าใช้เครื่องวัดความดันที่ต้นแขน ให้วัดในท่านั่ง วางแขน และข้อศอกบนโต๊ะ จัดระดับให้ผ้าพันต้นแขน
คุณตา คุณยาย ที่เลือกใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิทัล จำเป็นต้องเทียบค่าอย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ และตัวคุณตาคุณยายเองก็อย่าลืมตรวจวัดความดันโลหิตทุกวันกันด้วยนะคะ
ที่มา: นิตยสารชีวจิต ฉ.521
——————————————————————————————————————-
บทความน่าสนใจอื่น ๆ
ความดันต่ำ แก้ยังไง อันตรายไหม เรามีคำตอบ
วิธีง่ายๆ ลดความดัน ตามคำแนะนำของกูรูชีวจิต
ติดตามชีวจิตได้ที่