แนะวิธีลดเสี่ยง กระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้หญิงที่มีปัญหาโรค กระดูกพรุน 200 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยนั้น 1 ใน 5 ของผู้หญิงอายุ 40 – 80 ปีเป็นผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน น่าตกใจว่าผู้ป่วยโรคดังกล่าวส่วนมากไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้เลย จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มและเกิดปัญหากระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพก นำมาสู่ปัญหา กระดูกหักซ้ำ เกิดภาวะพิการ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
ชีวจิต ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์นายแพทย์สัตยา โรจนเสถียร ว่าที่ประธานอนุสาขาเมตาบอลิกและผู้สูงอายุ และหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอธิบายถึง แนวทางการดูแลสุขภาพ ลดเสี่ยงกระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ ขอเชิญติดตามรายละเอียดได้เลยค่ะ
BEGIN WITH AWARENESS
เพิ่มการตระหนักรู้ เพิ่มโอกาสการรักษา
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาเริ่มต้นชี้แจงถึงปัญหานี้ว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะมีอัตราการตายในปีแรกร้อยละ 18 มากกว่าอัตราการตายของประชากรทั่วประเทศ 8 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก
ที่ผ่านมาทางราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และมูลนิธิโรคกระดูกพรุน รณรงค์ป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำมาร่วม 20 ปีแล้วเพราะเห็นความสำคัญว่า ถ้าเกิดการหักซ้ำจะทำให้มีอัตราตายสูงแต่แม้จะรณรงค์มานาน ทว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในประชากรไทยยังมีน้อย
ล่าสุดมีการศึกษาในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์พบว่ามีผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหักซ้ำเข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ10 ทั้งๆ ที่ควรจะเข้ารับการรักษาทั้งหมดหรือครบ 100 เปอร์เซ็นต์ถ้าเป็นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ร้อยละ 30 ยุโรปร้อยละ 40 แสดงว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาระดับโลก จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารให้ทราบอยู่เสมอ
ในวัยเด็กเล็กนั้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องกระตุ้นให้เด็กออกไปเล่นเป็นประจำ การเล่นในที่นี้หมายถึงการเล่นในลานกว้างเช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ไม่ใช่เล่นในห้องแคบๆ เด็กๆ ในวัยอนุบาล วัยประถม เรื่อยไปจนถึงวัยรุ่นจะต้องได้วิ่ง กระโดดโลดเต้นเพราะวิธีนี้จะทำให้กระดูกแข็งแรง ถ้าได้เล่นกีฬาเป็นประจำจะดีมาก เพราะช่วงเวลานี้นับเป็นเวลาทองในการสะสมมวลกระดูก