ตัดรังไข่, ฮอร์โมนทดแทน, ไม่มีรังไข่, วัยทอง, รังไข่

ตัดรังไข่ ทำแก่ง่าย โรครุมเร้า ร่างกายไม่เหมือนเดิมจริงหรือ

ตอบข้อสงสัย คลายกังวล สำหรับคนเพิ่ง ตัดรังไข่

เป็นที่รู้กันว่า รังไข่ เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของเพศหญิง จะทำอย่างไรเมื่อวันหนึ่งต้อง ตัดรังไข่ ร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน สุขภาพจะดีเหมือนเดิมได้ไหม แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโขมีคำแนะนำ

ความกังวลจากสตรีตัดรังไข่

เรียนปรึกษาคุณหมอค่ะ  ดิฉันอายุ40 ปี  มีลูกชาย 1 คน  ลูกสาว 1 คน เมื่อไม่นานมานี้ตรวจพบว่ามีซีสต์ที่รังไข่  คุณหมอแนะนำให้ตัดทิ้ง  ต้องกินฮอร์โมนทดแทน  หลังตัดรังไข่และกินฮอร์โมนแล้วก็ยังมีอาการร้อนวูบวาบอยู่ค่ะ  รู้สึกกังวลใจมากว่าการไม่มีรังไข่และกินฮอร์โมนจะทำให้เกิดโรคร้าย ๆ ตามมา  เลยอยากทราบว่า ต่อจากนี้ดิฉันต้องพบกับความผิดปกติอะไรบ้าง  และควรดูแลตัวเองอย่างไรหลังจากไม่มีรังไข่แล้ว  ขอบคุณค่ะ

ตัดรังไข่, วัยทอง, ไม่มีรังไข่, รังไข่, มดลูก
ตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง ตอนอายุยังน้อย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

การตัดมดลูกไม่ได้ทำให้แก่เร็ว อ่อนแอ หรือมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากมดลูกมีหน้าที่สองประการเท่านั้น หนึ่งคือ เป็นที่อยู่ของลูก สองคือ สร้างประจำเดือน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนใดๆ เมื่อตัดมดลูกจึงไม่สามารถมีลูกได้ตามธรรมชาติและไม่มีประจำเดือนเท่านั้น นอกเสียจากการตัดมดลูกนั้นได้ตัดรังไข่ทั้งสองข้างออกไปด้วย จึงอาจจะเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้

รังไข่ของผู้หญิงมีสองข้าง ตั้งอยู่ที่ปลายปีกมดลูกซ้าย-ขวา เป็นอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจน โปรเจสเทอโรน และฮอร์โมนเพศชายทำให้มีลักษณะเป็นผู้หญิง เช่น มีเต้านม มีสะโพกผิวพรรณนุ่มนวล เสียงแหลม มีประจำเดือนมีความต้องการทางเพศ กระดูกเชิงกรานผายนอกจากนั้นยังทำให้กระดูกแข็งแรง ลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ

ในปัจจุบันยังพบว่า ถึงหมดประจำเดือน รังไข่ไม่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงแล้วแต่ก็ยังสร้างฮอร์โมนเพศชายต่อไปจนอายุถึง 65 ปี ดังนั้นหากไม่จำเป็นจึงไม่ควรตัดรังไข่ เพราะการตัดรังไข่ทั้งสองข้างในคนอายุน้อยที่ยังไม่หมดประจำเดือนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

แต่ในกรณีที่รังไข่มีพยาธิสภาพคือมีความผิดปกติ เช่น ติดเชื้อ เป็นมะเร็งกำลังจะเป็นมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งที่อาจจะกระจายมาที่รังไข่ การตัดรังไข่ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตไว้ แม้จะมีปัญหาสุขภาพตามมาก็ต้องแก้ไขกันไป

เมื่อ 30 ปีก่อน หากผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปีต้องตัดมดลูกจากโรคภัยไข้เจ็บของมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูก แพทย์มักจะตัดรังไข่ออกด้วย แม้รังไข่จะปกติก็ตาม เพื่อลดการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่ความนิยมในการตัดรังไข่ขณะตัดมดลูกได้ลดลงในเวลาต่อมา

สถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปีพ.ศ. 2548 ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 51 ปีที่ต้องตัดมดลูก แพทย์ได้ตัดรังไข่ออกด้วยถึงร้อยละ 60 -68 ทว่าต่อมาในปีพ.ศ.2556-2557 แพทย์ตัดรังไข่เมื่อต้องตัดมดลูกเพียงร้อยละ 44

ปัจจุบันองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้การตัดสินใจตัดรังไข่ขณะตัดมดลูกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นควรชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่ได้รับกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น โดยแพทย์จะมีการแนะนำล่วงหน้า และคนไข้เป็นคนตัดสินใจ

ข้อดีของการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง

1. ลดการเกิดมะเร็งรังไข่  สถิติพบว่า ตลอดชีวิตของผู้หญิงมีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ร้อยละ 1.4 แต่หากมีพันธุกรรมในการเกิดมะเร็งรังไข่ เช่น มียีน BRCA1 หรือ BRCA2 มีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ร้อยละ 13 – 46 หากมีพันธุกรรมมะเร็งในครอบครัว (Lynch Syndrome) มีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ร้อยละ 3-14 การตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างจึงลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ได้ถึงร้อยละ 99.4

2. ลดการเกิดมะเร็งเต้านม งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การตัดรังไข่สองข้างเมื่ออายุต่ำกว่า 40, 45, 47.5 ปี ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านม เหตุผลเพราะเป็นการลดฮอร์โมนเพศหญิงที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมในคนที่ยังไม่หมดประจำเดือนนั่นเอง

3. ลดการผ่าตัดซ้ำ ร้อยละ 3-4 ของคนที่ไม่ตัดรังไข่ต้องผ่าตัดซ้ำภายใน 5 ปีเพื่อเอารังไข่ออกจากอาการปวดท้องเรื้อรัง และรังไข่ที่เหลืออาจกลายเป็นถุงน้ำ เป็นเนื้องอก หรือเป็นมะเร็งรังไข่ได้

ตัดรังไข่, ไม่มีรังไข่, ฮอร์โมนทดแทน, รังไข่, มดลูก
ผู้หญิงที่ต้องตัดรังไข่ออกก่อนอายุ 51 ปี ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ข้อเสียของการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง

1. เพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัด เช่น ทำให้ผ่าตัดนานขึ้น เสียเลือดมากขึ้น แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะในการผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอดและตัดรังไข่ร่วมด้วยในกรณีมดลูกหย่อน

2. มีอาการวัยทองรุนแรงกว่าการหมดฮอร์โมนตามธรรมชาติ เช่น อาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด ซึมเศร้า ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน

3. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว แต่จะไม่เพิ่มความเสี่ยงหากคนไข้ได้รับฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนหลังผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

3.1 เสี่ยงอายุสั้น ในคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี จะเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำไส้และทวารหนักโรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ มากกว่าคนทั่วไป 1.1-1.4 เท่า

3.2 โรคหัวใจและหลอดเลือด ในคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงกว่าคนที่ผ่าตัดหลังอายุ50 ปี4.55 เท่า

3.3 ความจำเสื่อม ในคนที่อายุต่ำกว่า 48 ปี เสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อม (Dementia) โรคสันนิบาต (Parkinson) สูงกว่าคนที่ไม่ผ่าตัด 1.89 เท่า

3.4 ต้อหิน (Glaucoma) ในคนที่อายุต่ำกว่า 43 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินสูงกว่าคนที่ไม่ตัดรังไข่ทั้งสองข้าง 1.6 เท่า

3.5 กระดูกพรุน การหมดประจำเดือนตามธรรมชาติและการตัดรังไข่ทั้งสองข้างเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหัก 1.3-1.9 เท่า

คำแนะนำเพื่อพิจารณาตัดรังไข่ในคนอายุน้อยกว่า 51 ปี

1. ไม่จำเป็นไม่ควรตัดรังไข่
ยกเว้นกรณีต่อไปนี้

1.1 เป็นโรค เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ ฝีหนองรังไข่ ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรังจากพังผืดรังไข่

1.2 เป็นมะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งกระจายมายังรังไข่

1.3 เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม โดยการตรวจพบยีนเสี่ยง

2. ในคนทั่วไปหากต้องตัดรังไข่ ควรตัดออกเมื่ออายุมากกว่า 51 ปี หากต้องตัดในอายุต่ำกว่า 51 ปี ควรรับฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน (หากไม่มีข้อห้าม) จนถึงอายุ51 ปี

3. ควรดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ตรวจร่างกายเป็นประจำ และพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

11 CHECKLIST สาเหตุ มะเร็งรังไข่ คุณผู้หญิง

ครบเครื่องเรื่อง มะเร็งรังไข่ ที่คุณผู้หญิงควรรู้ไว้ รับมือได้แน่นอน

เนื้องอกในมดลูก ซีสต์รังไข่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ “3 โรค” ภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวัง

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.