รับมือโรคมะเร็งรังไข่,มะเร็งรังไข่

ครบเครื่องเรื่อง มะเร็งรังไข่ ที่คุณผู้หญิงควรรู้ไว้ รับมือได้แน่นอน

แนะนำวิธี รับมือโรคมะเร็งรังไข่ สำหรับคุณผู้หญิงทุกคนที่ควรรู้ไว้

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่เป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีในประเทศสหรัฐอเมริกา เราจึงนำวิธี รับมือโรคมะเร็งรังไข่ จากแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข มาให้คุณผู้อ่านค่ะ

มะเร็งรังไข่, วิธีรับมือโรคมะเร็งรังไข่, รังไข่, โรคมะเร็ง
การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่

ความอ้วนกับมะเร็งรังไข่

นอกจากความอ้วนจะทำให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล นำพาโรคเรื้อรังต่างๆมาให้แล้ว คุณหมอชัญวลียังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “น้ำหนักตัวที่มากกว่าเกณฑ์ปกติจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ถึงร้อยละ 50 และเมื่อเป็นโรคมะเร็งรังไข่แล้ว คนอ้วนจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติอีกด้วย”

บุหรี่กับมะเร็งรังไข่

คุณหมอชัญวลีระบุว่า “บุหรี่จะเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดมูก (Mucinous)” เช่นเดียวกับคุณหมออรวินที่ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆในร่างกายอย่างชัดเจน เนื่องจากในบุหรี่ 1 มวนมีสารพิษกว่า 4,000 ชนิด และมีกว่า 60 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง สารพิษเหล่านี้จะเข้าไปทำร้ายเซลล์และขัดขวางการทำงานของระบบต่างๆ รวมถึงเซลล์ไข่ด้วยซึ่งอาจส่งผลให้กระบวนการสร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนผิดปกติได้”

ดังนั้นสาวๆที่ไม่สูบบุหรี่จึงมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่น้อยกว่าแน่นอนส่วนสาวคนไหนกำลังหาเหตุผลดีๆในการเลิกบุหรี่ ยินดีด้วยค่ะ คุณเจอแล้วละ

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

คุณหมออรวินอธิบายว่า ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome; PCOS เป็นกลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ
โดยสามารถตรวจพบด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ ซึ่งจะเห็นเป็นถุงน้ำเล็กๆ (Cyst) หลายใบอยู่ภายในรังไข่ อุบัติการณ์การพบโรคดังกล่าวในประเทศไทย คือ ในผู้หญิง 10 คน จะเจอ 1 คน

ภาวะนี้เป็นความผิดปกติในระดับพันธุกรรมทำให้ความสมดุลเซลล์ไข่ผิดปกติ มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้บางคนมีขนดก ผิวหน้ามัน
เป็นสิว ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประมาณ 2 – 3 เดือนครั้ง มาครั้งละมากๆ รังไข่โตกว่าปกติมีเซลล์ไข่โตพร้อมกันหลายๆใบเหมือนพวงองุ่นแต่ไม่สุก ไข่ไม่ตก ซึ่งภาวะนี้เป็นความผิดปกติในระดับพันธุกรรม มีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานคือภาวะดื้ออินซูลิน ผู้ที่เป็นจึงควรระมัดระวังอาหารการกินและใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพ

และแม้เนื้องอกในรังไข่จะมีอัตราการกลายเป็นมะเร็งเพียงร้อยละ 20 แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะใช่เล่น เราจึงคัดวิธีการป้องกันมาให้ ดังนี้

วางแผนตรวจภายใน ป้องกันมะเร็งรังไข่

หนังสือ 100 เรื่องน่ารู้ มะเร็งในผู้หญิง โดยคุณหมอชัญวลี ศรีสุโข สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ระบุว่า

หากคุณมีญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งรังไข่หรือคุณเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ ก่อนหมดประจำเดือนควรไปพบแพทย์ทุกปีเพื่อตรวจภายในและตรวจหาโรคมะเร็งปากมดลูก

หลังจากหมดประจำเดือนควรไปพบแพทย์เพื่อคัดกรองมะเร็งรังไข่ โดยการตรวจภายในด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ และเจาะเลือดดูสารเคมี
ของมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวรังไข่ ได้แก่ ซีเอ-125

ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552 วารสาร Lancet Oncology ตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งระบุว่าการคัดกรองด้วยการอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดร่วมกับการเจาะเลือดตรวจหาสารเคมีซีเอ – 125 ทุกปีนั้นเป็นวิธีที่รวดเร็วและแม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยโรค

มะเร็งรังไข่, วิธีรับมือโรคมะเร็งรังไข่, รังไข่, โรคมะเร็ง
การหยุดพักงานทำงานของรังไข่ ด้วยการกินยาคุมกำเนิดป้องกันมะเร็งรังไข่ได้

4 วิธีต้องรู้ ป้องกันมะเร็งรังไข่

คุณหมอชัญวลีแนะนำวิธีการป้องกันโรคมะเร็งรังไข่เพิ่มเติมไว้ในหนังสือ 100 เรื่องน่ารู้ มะเร็งในผู้หญิง ดังนี้

หยุดใช้แป้งทาน้องสาว แป้งมีส่วนผสมของสารทัลคัม (Talcum) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่

ทำหมันและตัดมดลูก สองวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ เพราะสารก่อมะเร็งไม่สามารถเดินทางผ่านช่องคลอด ปากมดลูก โพรงมดลูกหรือท่อนำไข่มาถึงรังไข่ได้

หยุดการทำงานของรังไข่ เช่น การแต่งงานเร็ว มีลูกก่อนอายุ 30 ปี มีลูกหลายคน ให้นมบุตรนานกว่า 6 เดือน กินยาคุมกำเนิด ช่วยพักการทำงานของรังไข่ได้

ตัดรังไข่ เมื่อมีโอกาส หากต้องตัดมดลูกด้วยสาเหตุทางสุขภาพอื่นๆ ควรพิจารณาตัดรังไข่ออกไปด้วย หรือหากเป็นมะเร็งชนิดอื่น เซลล์ก็มีสิทธิ์ที่จะกระจายไปยังรังไข่ แม้จะอยู่ในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งรังไข่หยุดทำงานแล้วแต่ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ประสบการณ์สุขภาพ : โรคมะเร็งรังไข่กับสาววัยทำงานไฟแรง

ป้องกัน มะเร็งรังไข่ อย่างไร เรียนรู้ก่อนจะสาย

มะเร็งรังไข่ โค้งสุดท้าย…ฉันไม่ยอมตาย

 

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.