ป้องกัน มะเร็งรังไข่ อย่างไร
มะเร็งรังไข่ ในผู้หญิงอายุน้อยเกิดจากอะไร มีวิธีสังเกตและดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อป้องกันโรคนี้
คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นารแพทย์ มีคำตอบ
ในบรรดามะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี พบ มะเร็งรังไข่ เป็นอันดับสองรองจาก มะเร็งปากมดลูก แต่เมื่อเป็นจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่ามะเร็งปากมดลูก แม้มะเร็งรังไข่มีโอกาสหายไม่ต่างจากมะเร็งปากมดลูกในระยะเดียวกัน (เช่น มะเร็งรังไข่ระยะที่ 1 มีโอกาสรอดชีวิตใน 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 80 – 90 เท่ากับมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1) แต่ส่วนใหญ่ทันทีที่ตรวจพบมะเร็งรังไข่ ร้อยละ 75 ไม่ใช่ระยะแรก แต่เป็นระยะที่แพร่กระจายไปแล้ว ทำให้โอกาสรอดชีวิตเหลือแค่ร้อยละ 45 ในขณะที่มะเร็งปากมดลูกมักตรวจพบระยะเซลล์ผิดปกติตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ระยะแรกเลย จึงมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยเปอร์เซ็นต์
อันที่จริงคนไทยเป็นมะเร็งรังไข่น้อยกว่าชาวตะวันตกมากหากเทียบกับประชากรทั่วไป ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ 4 – 5 คน ต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี แต่หากคิดจากช่วงเวลาทั้งชีวิตของผู้หญิง มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ประมาณร้อยละ 1
ในสายตาสูตินรีแพทย์อย่างฉัน มะเร็งรังไข่นั้นน่ากลัว ฉันยังจำคนไข้ผู้หญิงคนหนึ่งได้ดี เธออายุแค่ 30 ปี เป็นคนหน้าตาดีผ่าตัดคลอดลูกคนแรกได้ 3 – 4 ปี มาหาฉันด้วยอาการปวดท้อง ซึ่งก่อนหน้านี้เธอไปหาหมอมาจนทั่ว แต่ตรวจไม่พบความผิดปกติอะไรหมอบางคนสรุปว่าเป็นพังผืดจากการผ่าตัดคลอด เมื่อให้ยาอะไรก็ไม่ดีขึ้น หมอจึงสรุปว่าเธอมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งเผอิญเป็นช่วงที่เธอมีปัญหาครอบครัวอยู่แล้ว จึงรับยาจิตเวชมากิน แต่อาการปวดก็ไม่หาย
เมื่อมาหาฉัน เธอกำลังปวดท้อง ฉันดูอาการ เธอปวดจริงๆ ปวดจนตัวเขียวปากเขียว ขอให้คะแนนความปวดเต็ม 10 เธอให้ 10 คะแนนเต็ม แต่เธอเป็นคนมีความอดทนเป็นเยี่ยม ไม่ส่งเสียงร้องแม้แต่แอะเดียว ได้แต่บิดตัวไปมา
ผลการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน ตรวจอัลตราซาวนด์ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจเลือดเบื้องต้น ไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติแม้แต่น้อย แต่เห็นอาการปวดของเธอแล้ว ฉันไม่คิดว่ามาจากปัญหาทางจิตใจ
เมื่อตรวจไม่พบความผิดปกติ ฉันคิดว่าอาจจะเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ จึงปรึกษาแพทย์แผนกศัลยกรรม หมอศัลยกรรมผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปดู ภาพที่เห็นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก คือมีมะเร็งก้อนเล็ก ๆ เท่าปลายเข็มหมุดกระจายอยู่เต็มผนังช่องท้อง เกาะติดอยู่กับทุกอวัยวะในช่องท้องลามไปถึงตับและไต เมื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ พบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ ทั้งที่รังไข่สองข้างก็ยังดูปกติ
ผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ไม่สามารถให้เคมีบำบัดได้เพราะร่างกายเธออ่อนแอมากเธอเสียชีวิตในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดส่องกล้อง 1 เดือนในสภาพที่ต้องให้ยาแก้ปวดอย่างแรงเพื่อระงัความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน
มะเร็งรังไข่นับว่าเป็นมะเร็งตัวร้าย เพราะยังไม่มีวิธีที่จะตรวจพบในระยะแรก ด้านการศึกษาวิจัยก็ยังไม่พบว่ามะเร็งใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะกระจายออกนอกรังไข่ และแม้การแพทย์จะเจริญเพียงใด แต่อัตราการตายจากมะเร็งรังไข่ก็ยังคงสูงไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่โอกาสหายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น