ไข้เลือดออก ผู้สูงอายุ ต้องดูแลอย่างไร ไม่ให้อาการแย่ลง
ไข้เลือดออก ผู้สูงวัย เป็นของคู่กัน ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า โรคไข้เลือดออกจะเกิดกับเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปีเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงเรื่องสถานการณ์โรคไข้เลือดออกล่าสุดต่อไปนี้ อาจทำให้คุณเปลี่ยนความคิด
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “ตั้งแต่ต้นปี 2554 จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ กว่า 20,000 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 13 ราย กลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มผู้สูงวัย(อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) และเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ถึง 14 ปี”
ดังนั้น เราจึงขอชวนคุณมาไขข้อข้องใจกับหลากคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก เพื่อป้องกันผู้อาวุโสที่คุณรักให้ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ลิมป์กิตติกุล อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ตอบทุกคำถามดังนี้
Q: อาการอะไรที่บ่งบอกได้ว่า ผู้สูงวัยอาจเป็นโรคไข้เลือดออก
A: หากผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ ให้สงสัยว่า อาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบพบแพทย์
-มีไข้สูงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2-3 วัน
-กินข้าวไม่ลง
-คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
-มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
Q: อาการของโรคไข้เลือดออกมีความแตกต่างกับโรคไข้หวัดใหญ่อย่างไรบ้าง
A: ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะไม่มีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีไข้สูงอย่างต่อเนื่องแม้จะกินยาลดไข้แล้ว แต่อาการไข้ก็จะไม่ลดลง
Q: โรคประจำตัวของผู้สูงอายุอะไรบ้างที่ทำให้อาการของโรคไข้เลือดออกแย่ลง
A: 1.โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่สามารถรับสารน้ำจำนวนมากในเวลาอันสั้นได้ เพราะอาจเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน ขณะที่การรักษาโรคไข้เลือดออกต้องให้สารน้ำ เพื่อบรรเทาอาการ ทำให้การรักษายุ่งยาก
2. โรคความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยนิ่งนอนใจ เพราะเมื่ออาการโรคไข้เลือดออกรุนแรง ความดันโลหิตของผู้ป่วยจะต่ำลง จนเข้าใจผิดว่าความดันโลหิตนั้นปกติ ทำให้การรักษาล่าช้ากว่าที่ควร
3. โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย
Q: ยาอะไรบ้างที่ไม่ควรกินระหว่างมีอาการโรคไข้เลือดออก
A: ห้ามกินยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน และยาที่มีฤทธิ์ลดไข้ ปวดเมื่อย ในกลุ่มบรูเฟน เพราะมีผลข้างเคียงให้เลือดออกง่ายและตับวายได้ หากจะกินยาลดไข้ให้กินยาพาราเซตามอล แต่ไม่ควรกินยาบ่อยกว่า 4-6 ชั่วโมง เพราะเป็นอันตรายต่อตับ นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกควรหลีกเลี่ยงยาที่มีสเตียรอยด์ เพราะการกินยานี้จะทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นเหตุให้อาการไข้เลือดออกรุนแรงขึ้นได้
Q: วิธีป้องกันผู้สูงวัยจากโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคืออะไร
A: การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย พาหะนำโรคทุกๆ 7 วัน ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ผู้สูงวัยถูกยุงกัด อาทิ หากผู้สูงวัยนอนกลางวัน ก็ควรนอนในมุ้งหรือในห้อง
ที่ไม่มียุงเข้าไปได้ เพราะโดยธรรมชาติ ยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงตอนพลบค่ำ
โรคภัยไข้เจ็บใดที่ว่าร้าย ก็ต้องพ่ายหากรู้วิธีป้องกันที่ถูกต้อง
บทความอื่นที่น่าสนใจ
เช็กโรคมากับหน้าฝน ไข้เลือดออก อาการ ที่ต้องสังเกต
ยาจีนลดความร้อน ป้องกัน ไข้เลือดออก