จัดงานศพ ให้ “ตัวเอง” ก็ได้ ง่ายๆ แค่ 5 ขั้นตอน
หลายคนเชื่อว่าการ จัดงานศพ ให้กับคนที่รักนั้น ยิ่งเป็นบุคคลที่เคารพรักมากเท่าไร ก็ควรจัดงานให้ยิ่งใหญ่สมเกียรติมากขึ้นเท่านั้น จนบางครั้งอาจต้องแลกด้วยเงินที่ เก็บสะสมมาทั้งชีวิต หรืออาจต้องกู้หนี้ยืมสินจนหนี้ท่วมหัวก็เป็นได้
หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่อยากให้ภาวะนี้เกิดขึ้นกับลูกหลานหรือคนที่คุณรักแล้วละก็ Secret ขอเสนอวิธีเตรียม จัดงานศพ ให้ตัวเองไว้ล่วงหน้าดีกว่า รับรองว่าทำได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากและไม่สร้างความลำบากให้คนที่คุณรักในภายหลังอย่างแน่นอน
ขั้นที่ 1 เตรียมใจคนในครอบครัวให้พร้อมรับความตาย (ของคุณ)
เริ่มจากคุยถึงเจตนารมณ์ของคุณให้คนในครอบครัวรับทราบไว้แต่เนิ่น ๆ แน่นอนว่า ในช่วงแรก ๆ พวกเขาอาจปฏิเสธที่จะรับฟังเพราะทำใจไม่ได้และ (หลง) คิดว่ายังเหลือเวลาอีกนาน แม้ความจริงทุกคนจะรู้ดีอยู่แก่ใจว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครรู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร ดังนั้นการพูดคุยกันให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของคุณอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น จะช่วยให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับ และยินดีทำตามที่คุณต้องการในที่สุด ทั้งยังเป็นการย้ำเตือนหลักมรณานุสติได้เป็นอย่างดีว่า “ความตายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสัจธรรมความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น”
ขั้นที่ 2 วาดฝันความตายในแบบที่คุณปรารถนา
เราไม่ได้ต้องการให้คุณหมายมั่นว่าจะต้องตายท่านั้นหรืออยากตายในสภาพแบบนี้ เพราะคงไม่มีใครลิขิตได้ แต่สิ่งที่คุณสามารถวางแผนไว้ล่วงหน้าได้คือ สิ่งที่คุณอยากให้เกิดขึ้นในงานศพของตัวเอง เช่น คุณอาจอยากให้แขกที่มาร่วมงานศพใส่ชุดสีชมพูเพราะไม่อยากให้การจากไปของคุณเป็นเรื่องเศร้าน่าหดหู่ หรือคุณอาจบอกให้คนที่คุณรักสวมชุดนอนตัวโปรดหรือกางเกงยีนตัวเก่งให้ในวันรดน้ำศพ หรือไม่ก็เปิดเพลงที่คุณชอบให้ผู้มาร่วมงานฟังก่อนที่พระสงฆ์จะสวดอภิธรรม เป็นต้น
ขั้นที่ 3 เตรียมงบให้พร้อม
คุณควรแจกแจงรายละเอียดของเงินเก็บและสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณรวมทั้งเขียนจดหมายรับรองการเป็นผู้จัดการ
ทรัพย์สินทั้งหมดให้คนที่คุณรักเอาไว้ด้วย เพราะเขาจะได้นำเงินเหล่านั้นไปจัดการทุกสิ่งตามความปรารถนาของคุณ ซึ่งแน่นอนว่าคุณควรมีเงินเก็บเพียงพอที่จะให้คนข้างหลังจัดงานศพได้ตามที่คุณต้องการ
เงินฝากประจำกับธนาคาร……….จำนวน……บาท
เงินฝากออมทรัพย์กับธนาคาร……….จำนวน……บาท
เงินประกันสังคมจำนวน……บาท
เงินประกันชีวิตจำนวน……บาท
รวมเป็นยอดเงินเก็บทั้งสิ้น……บาท
ขั้นที่ 4 ระบุรายละเอียดที่จำเป็น
คุณควรอธิบายรายละเอียดของการจัดงานในแบบที่ต้องการเอาไว้ด้วย พร้อมแจกแจงวิธีการดำเนินงาน รวมถึงรายชื่อของคนที่ต้องการเชิญมาร่วมงาน สถานที่จัดงาน และอื่น ๆ ที่คุณหารายละเอียดไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น
วัดที่ต้องการให้ใช้เป็นสถานที่จัดงาน
จำนวนวันในการสวดอภิธรรม (มีตั้งแต่ 3 วัน 5 วัน ไปจนถึง 7 วัน)
ชื่อผู้ที่จะช่วยดำเนินการจัดงานพร้อมเบอร์โทรศัพท์
ยอดค่าใช้จ่ายที่ต้องการให้ถวายวัด(วัดขนาดเล็กมีค่าใช้จ่ายประมาณ 9,000 – 35,000 บาท วัดขนาดกลางค่าใช้จ่ายประมาณ 24,000 - 63,000 บาท และวัดขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 –70,000 บาทขึ้นไป)
ประเภทของโลงศพ (หีบศพธรรมดาหรือหีบศพที่ประดับอย่างสวยงาม)สถานที่ติดต่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์
รูปที่ใช้ในงานศพ (อาจอัดรูปใส่กรอบวางไว้ในลิ้นชักหัวนอนเผื่อฉุกเฉินก็ได้ไม่ว่ากัน!)
ชุดโปรดที่อยากให้ใส่
เก็บศพเอาไว้หรือให้เผาได้เลย
รายชื่อของแขกคนสำคัญที่อยากให้เชิญชวนมาร่วมงานพร้อมเบอร์โทรศัพท์
ของว่างที่จะนำมาบริการผู้มาร่วมงาน(ชื่อร้านขนมเจ้าโปรดพร้อมเบอร์โทรศัพท์)
ของชำร่วยงานศพ (หนังสือเล่มโปรดเช่น พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ จำนวน……เล่ม รวมเป็นเงิน…..บาท)
สถานที่ที่อยากให้ลอยอังคาร(โปรยเถ้ากระดูก)
รวมค่าใช้จ่ายโดยประมาณ……บาท
ขั้นที่5 ทางเลือกเพื่อการจากลาอย่างแฮ็ปปี้เอนดิ้ง
สิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ การควบคุมค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับยอดเงินเก็บของคุณเพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และในกรณีที่มีเงินเหลืออยู่ คุณอาจระบุลงไปว่าอยากให้นำเงินไปทำบุญที่ไหน หรือมีความประสงค์ที่จะแบ่งปันเงินส่วนนี้ให้ใครบ้าง ในกรณีที่เงินเก็บอาจมีไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ก็ควรระบุสิ่งที่สามารถตัดหรือลดทอนลงได้เป็นทางเลือกไว้ด้วย เช่น ลดของชำร่วยให้ราคาน้อยลง หรือลดจำนวนวันจัดงาน เป็นต้น
การเตรียมงานศพให้ตัวเองนี้ นอกจากจะช่วยคลายความกังวลลงได้แล้ว ยังเป็นการฝึกมรณานุสติและฝึกการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบง่าย ๆ ที่ได้ประโยชน์ทั้งต่อตนเองและคนที่เรารักด้วย…ว่าไหมคะ
เรื่อง ชลธิชา แสงใสแก้ว
ที่มา : นิตยสาร Secret ปี 2557 ฉบับที่ 143 (10 มิ.ย. 57) หน้า 68-69
คอลัมน์ : life management
สามารถส่งปัญหาธรรมและเรื่องราวดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจมาได้ที่นี่ >>> Secret Magazine (Thailand)
บทความน่าสนใจ
ไขข้อคาใจ คนท้องไปงานศพ ได้หรือไม่ ?
คัมภีร์พระมาลัย คัมภีร์แห่งมิตรภาพและการสานสัมพันธ์ไทย-วาติกัน
“ของขวัญ” ที่มอบให้ตนเองใน “วันตาย”
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตาย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ความตาย และ ผี ไม่ได้เป็น สิ่งที่น่ากลัว อย่างที่คิด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ทำอย่างไรเราจะ คิดถึงความตาย ได้โดยที่ ไม่กลัวตาย โดย พระไพศาล วิสาโล