” ของขวัญ ” ที่มอบให้ตนเองใน ” วันตาย “
” ของขวัญ ” ที่มอบให้ตนเองใน ” วันตาย “
“ความรักกับชีวิตเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือไม่รู้วันข้างหน้า”
คำพูดของคุณแอ้ พรวรินทร์ นุตราวงศ์ พยาบาลจากวชิรพยาบาล ที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และมีเคล็ดลับในการมอบความสุขแก่ผู้ป่วยด้วยอ้อมกอดอุ่น อ้อมกอดของเธอช่วยพลิกฟื้นอาการป่วยของสามี ภุชงค์ นุตราวงศ์ ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเมื่อหลายสิบปีก่อนให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ราวปาฏิหาริย์ ทุกวันนี้เขายังมีชีวิตอยู่ ได้ชื่นชมกับความสำเร็จของลูกๆ อย่างที่ผู้เป็นภรรยาตั้งใจ
แน่นอนว่าอ้อมกอดและแม้แต่ความรัก อาจไม่สามารถต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยทุกคนได้ ปาฏิหาริย์อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทุกคนก็จริง แต่อย่างน้อย การจากไปในอ้อมกอดอุ่นของผู้คนอันเป็นที่รัก ก็ทำให้การจากลานั้นงดงาม ไม่ว้าเหว่วังเวงจนเกินไป
จากประสบการณ์ของผู้คนในแวดวงที่ข้องเกี่ยวกับความเป็น ความตาย พบว่าคนเราไม่ต้องการสิ้นลมหายใจไปอย่างโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ไม่ว่าสัจธรรมชีวิตจะบอกเราว่าแท้แล้ว เราต่างต้องเดินทางไกลไปตามลำพังตนก็ตาม
ในมุมส่วนตัว และในวัยปลายของชีวิต ฉันเคยส่งผู้คนที่ใกล้ชิดเดินทางไกลสู่ชีวิตใหม่อยู่ ๕ ราย ได้เฝ้ามองการจากไปอย่างพินิจพิจารณา แน่นอนว่าการจากไปแต่ละครั้งหนย่อมแตกต่างกันไป มีทั้งการจากลาที่หมอพยายามยื้อชีวิต เพื่อเอาชนะความตายให้ได้ ครั้งที่การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองยังไม่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลบ้านเรา
บาดแผลในใจของลูกอย่างฉัน ยังคงไม่เคยลบเลือนจากใจจนกระทั่งทุกวันนี้ ภาพสุดท้ายของแม่ยังคงหลอนและฝังลึกอยู่ในใจ ทำไมแม่น่าจะจากไปด้วยดีกว่านี้ ไม่ใช่การให้หมอ พยาบาลยื้อชีวิต มะรุมมะตุ้มกันปั๊มหัวใจเสียงเอะอะอึกทึก ทั้งที่หากเลือกได้ แม่คงไม่ปรารถนาเช่นนี้
ต่างจากการตายของพ่อที่เราผู้เป็นลูกๆ เลือกหนทางการรักษาแบบประคับประคอง และเตรียมการให้พ่อได้จากไปอย่างสงบ มีแต่ความปีติอิ่มเอมใจ เมื่อใจเราน้อมรับการตายในวัย ๘๑ ของพ่อได้ นี่คืออนิจจังของชีวิตที่พ่อได้สอนเราเป็นครั้งสุดท้าย
หลังการตายของแม่ ฉันพยายามศึกษา เรียนรู้เรื่องมิติของความตายจากการอ่าน การฟัง และสมัครเป็นอาสาข้างเตียงของเครือข่ายพุทธิกา นานอีกนับสิบปีต่อมาจึงได้เข้าอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชีวามิตร กลุ่มที่เกิดขึ้นเพื่อเผยแพร่เรื่องความรู้ ความเข้าใจเรื่องการตาย ชักชวนเพื่อนมิตรผู้สนใจจากหลายวงการ เข้าร่วมรับฟังความรู้จากวิทยากร ๓ ท่าน คือคุณแอ้ พรวรินทร์ หมอฉันชาย สิทธิพันธุ์ จากโรงพยาบาลจุฬาฯ และ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส นักกฎหมายผู้มีส่วนสำคัญในการยกร่างมาตรา ๑๒ ของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทำให้ได้มองเห็นมิติการตายกว้างไกลจากเดิม
ความรักกับชีวิตอาจเหมือนกันอย่างหนึ่งคือเราไม่รู้การเปลี่ยนไปของวันเวลาข้างหน้า แต่อย่างน้อยการได้นั่งลงไตร่ตรอง ทบทวนเรื่อง “ความตาย” ที่ทุกคนย่อมรู้ว่าต้องมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง น่าจะดีกว่า รอบคอบกว่ามิใช่หรือ ในวันที่เรายังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราน่าจะได้ทันออกแบบหรือเลือกสรรวาระสุดท้ายของเราได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกสิ่งไหลเรื่อยไปตามชะตากรรม หรือเกิดความขัดแย้งในกลุ่มคนผู้อยู่ข้างหลัง
การเขียนลีฟวิ่ง วีลล์ เพื่อแสดงเจตนาด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้มีการยึดยื้อชีวิตให้บั้นปลายต้องทุกข์ทรมาน หรือสร้างความลำบากใจให้ลูกหลานในการตัดสินใจ น่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้อง เหมาะสม เราฉลองวันเกิดกันทุกปีอย่างชื่นบาน เราผ่านวันคล้ายวันเกิดกันหลายหนในชั่วชีวิตหนึ่ง บ้างอาจหลายสิบหน แต่วันตายที่ในชีวิตหนึ่งมีเพียงครั้งเดียว เราน่าจะทำให้ดีที่สุด และเตรียมพร้อมให้มากที่สุดมิใช่หรือ
การจากไปอย่างสงบ ตามหนทางของชาวพุทธที่ดี น่าจะเป็นเป้าหมายที่งดงาม และเป็นของขวัญที่เราสามารถมอบแก่ตนเองได้ เช่นเดียวกับวันคล้ายวันเกิด
เทคโนโลยีสารพัดยึดยื้อชีวิตเราให้ห่างไกลธรรมชาติอันบริสุทธิ์มานานแค่ไหนแล้ว ภาพของผู้ป่วยที่ระโยงระยางด้วยเครื่องมือทางการแพทย์สารพัด เพื่อยื้อชีวิต แต่ไม่อาจเอื้อคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ผลคือผู้ป่วยจากไปอย่างทุกข์ทรมาน ไม่อาจสัมผัสอ้อมกอด คำรักและคำกล่าวลาของผู้ที่ตนรักใคร่ ผูกพัน
ต่างจากการจากไปของปู่ย่าตายายที่มักจากไปอย่างที่มองเห็นความตายเป็นธรรมดา ดุจเดียวกับการเกิดที่เป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ไม่ได้มีการรับขวัญกันเอิกเกริก ทุกอย่างล้วนยืนยันสัจธรรมว่าชีวิตล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับสิ้นเลื่อมสลายไป
เป็นธรรมดาที่ฉันยังกลัวตาย เช่นเดียวกับที่คนส่วนใหญ่เป็น (ขอพูดอย่างซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง) เราต่างรักชีวิต เราต่างมีผู้คนที่รักผูกพันที่ไม่อยากจากลา ยังมีการงานอันสนุก เบิกบานใจในหนทางที่เลือก และแสนจะพอใจกับชีวิตนี้มากเหลือเกิน แม้ว่าจะทุกข์บ้าง สุขบ้างก็ตาม ความตายจึงเป็นเรื่องทำใจได้ยากลำบาก แค่นึกถึงว่าร่างกายเราจะกลายสภาพแข็งท่ื่อดุจท่อนไม้ ฯลฯ ก็ยังสะทกสะท้านใจเยือก
ไม่กี่วันที่ผ่านมา ฉันไปงานสวดศพของป้าผู้จากไปในวัย ๙๖ ปีที่วัดเขาน้อยสามผาน เมืองจันท์ วัดที่พ่อเป็นไวยาวัจกรและร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่ต้น ความที่ก๋ง ผู้เป็นอดีตแพทย์ประจำตำบล มีพื้นเพเป็นคนมาบข่า เมืองระยอง ลูกๆ ของก๋งกับย่าจึงมีชื่อที่แปลงมาจาก “พระอภัยมณี” วรรณคดีเอกของสุนทรภู่ เช่น (สุด) สาคร (สิน) สมุทร สาว มาจากชื่อนางเสาวคนธ์ สุวรรณ ป้าคนที่เสียชีวิตไป มาจากชื่อนางสุวรรณมาลี อาคนที่เป็นเครือญาติกันชื่อละเวง มาจากชื่อนางละเวงวัลลา ฉันว่าของฉันว่าน่ารักดี ชื่อคนยุคก่อน มักมีรากอันเป็นที่มา บอกถึงเทือกเถาเหล่ากอของบุคคลนั้นๆ เป็นเสน่ห์ของวันเวลาที่นับวันจะลบเลือนไป…ฉันชอบบรรยากาศในงานศพของป้า ชอบบรรยากาศของวัดที่สงบร่มเย็น เป็นวัดที่เราเคยคุ้นมาแต่เล็กแต่น้อย
ในงาน เราพบพี่ป้าน้าอา ลูกหลาน คนเก่าคนแก่มากมาย บ้างเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ร่วงโรยแก่ชราลง ขณะที่เราเห็นเด็กๆ รุ่นหลังที่เติบโตขึ้น ชวนให้คิดถึงรากของชีวิตที่เราเติบโตมา ฉันเลือกนั่งคุยกับอดีตอาเขยที่ไม่ได้พบกันหลายสิบปี ยังจำภาพครั้งเขายังหนุ่ม แวะมาหาอาคนสุดท้องของฉันได้ เขาจะนั่งคอยเธออย่างเงียบๆ ด้วยความอดทน อาของฉันเอวคอดกิ่วแค่ ๑๘ นิ้ว โอ้…เวลาเนิ่นนานผ่านมา
ฉันนั่งอยู่ด้านหลังของงาน แหงนหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้า เห็นฟ้ามืด ดาวพราวฟ้า ลมเย็นๆ พัดชื่นใจ ต่อให้เป็นงานศพ แต่นิสัยคนบ้านนอกเขาจะไม่มาทำเศร้าสร้อยสำรวมอะไรกันมากมาย ยังพูดคุยหยอกเย้าเฮฮากันได้เป็นปกติ เผลอๆ จะนินทาผู้ตายชนิดเผาขนอย่างรักใคร่คุ้นเคยเอาด้วย คนที่ไม่รักกันจริงจะทำเช่นนี้ไม่ได้ นี่คือธรรมเนียมบ้านนอกแท้ที่ฉันจากมานานนัก
เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่าฉันน่าจะได้เขียนลีฟวิ่ง วีลล์ของตนเองเสียที ฉันอยากจากไปอย่างสงบ ได้นึกถึงพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าจากรูปปฏิมาของพระองค์ พระองค์ที่มีรอยยิ้มที่ฉันรักที่ลูกศิษย์บางขวางผู้มีส่วนในการทำปาณาติบาตอย่่างเหลือเกินปั้นขึ้น ฉันรักพระพุทธรูปองค์นี้ หากเป็นไปได้ฉันอยากให้มีงานสวดศพตนเองที่วัดเขาน้อยนี่แหละ เป็นสถานที่ที่เราไม่รู้สึกถึงความแปลกปลอมอย่างวัดในกรุง อ้อ ก่อนตายฉันน่าจะได้กล่าวลาและขอบคุณเป็นพิเศษกับใครบางคนด้วยตนเอง ฉันอยากให้นำอัฐิของฉันฝังไว้ที่สวนเมืองจันท์ บ้านเกิดที่ฉันรักและไม่ค่อยได้ไปเยือน เถ้ากระดูกน่าจะได้เป็นปุ๋ยให้ต้นปีบต้นใหม่ได้เติบโตให้ร่มเงา ให้กลิ่นหอมเย็นสบายแก่ผู้คน เหมือนการฝังรากลงในบ้านเรือนเยือนเหย้าที่เราจากมาและเฝ้าคิดถึงเสมอ
ฉันคงจะกอดความโรแมนติคลงหลุมไปด้วยตามจริตนิสัยที่สั่งสมมา และตั้งใจว่าน่าจะถึงเวลาเขียนลีฟวิ่ง วีลล์ของตนเองเสียที แม้จะยังกริ่งๆ กลัวๆ ความตายอยู่นี่แหละ บอกตนเองว่าเมื่อหนีไม่พ้นก็ให้พยายามสบตากับความตายบ่อยๆ ขึ้น วันหนึ่งเราอาจทำใจยอมรับความตายได้มากกว่านี้ เหมือนที่เคยเอาชนะความกลัวหลายอย่างมาแล้วด้วยดีในชีวิต
เป็นการยอมรับด้วยความจริงใจ ศิโรราบ ไม่ใช่ด้วยเหตุผล แต่ด้วยใจจริงที่เป็นเช่นนั้นเอง
แล้วคุณล่ะ พร้อมจะเผชิญหน้ากับความตายแค่ไหน เตรียมพร้อมจะเขียนลีฟวิ่ง วีลล์ของตนเองหรือยัง
ขอบคุณที่มาจาก อรสม สุทธิสาคร
ขอบคุณภาพจาก อรสม สุทธิสาคร
บทความอื่นๆ น่าสนใจ
Dhamma Daily : ทำอย่างไรไม่ให้คิดกังวลและกลัวความตาย
ความตายเป็นเรื่องไม่ไกลตัว พระไพศาล วิสาโล