เฮียน้อยร้อยอาชีพ

พีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ เฮียน้อยร้อยอาชีพ

พีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ เฮียน้อยร้อยอาชีพ

ครั้งแรกที่ได้ยินสมญา “ เฮียน้อยร้อยอาชีพ ” ก็คิดว่าเขาคงทำงานมาหลายอาชีพแล้ว เรื่องที่เล่าให้ฟังคงเป็นเรื่องรายละเอียดการทำมาหากินในแต่ละอาชีพเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อได้มาคุยกับ คุณ พีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ จริงจัง กลับได้ฟังแนวคิดที่น่าสนใจหลายเรื่อง ทั้งการทำงานและการดำเนินชีวิต รวมทั้งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนอีกด้วย

ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการศึกษา

พ่อแม่ผมเป็นคนจังหวัดอื่น แต่แต่งงานแล้วย้ายมาอยู่ที่อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ผมจึงเกิดที่นี่ มีพี่น้องแปดคน ผมเป็นคนที่เจ็ด เตี่ยผมมีวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งคือ ต้องให้ทุกคนเรียนหนังสือ ถึงแม้จะอยู่บ้านนอกก็ต้องส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯ ลูกมีทั้งจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก

เตี่ยค้าขายหลายอย่าง ท่านเป็นคนมีน้ำใจกว้างขวาง สมัยก่อนคนอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ต้องมาแวะพักที่นี่ เตี่ยก็ต้อนรับขับสู้ หรือข้าราชการจะมาตรวจราชการก็จะมาพักที่บ้าน เตี่ยก็เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ พอมาบ่อย ๆ เข้า คนก็เกรงใจ เลยบอกว่าให้เตี่ยทำโรงแรมเถอะ เป็นโรงแรมที่ทำจากตึกแถวไม้นี่แหละ แต่เตี่ยยังเลี้ยงข้าวฟรีเหมือนเดิม ต่อมาคนก็เกรงใจ แนะนำให้ทำร้านอาหาร ก็เลยทำร้านอาหารไปด้วย นอกจากนั้นก็ยังค้าวัสดุก่อสร้าง

เนื่องจากให้ลูกเรียนหนังสือสูง ๆ ทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายเยอะ ต้องกู้เงินดอกร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ส่งลูกเรียน พอมาถึงลูกคนที่หก เงินหมด เตี่ยเรียกผมซึ่งเป็นลูกคนที่เจ็ดแล้วบอกว่าจะขายห้องแถวสี่ห้องเพื่อส่งเรียน ผมคิดว่าจะบ้าเหรอ จะขายบ้านส่งให้เรียนหนังสือนี่นะ ผมบอกเตี่ยว่าไม่เอา ไม่เรียนหรอก อยู่ช่วยพ่อแม่ก็ได้ แต่คำพูดของเตี่ยวันนั้นฝังใจผมมาตลอด เตี่ยบอกว่า อย่าว่าแต่สี่ห้องนี้เลย ต่อให้มีร้อยห้อง ถ้าไม่มีความรู้ วันหนึ่งก็ขายกินหมด ให้มันหมดตั้งแต่วันนี้ แต่มีความรู้ เรียนจบแล้วค่อยมาหาใหม่ก็ได้ เตี่ยเลยต้องขายห้องแถว ขายบ้านส่งผมเรียน ผมก็ทำให้ครอบครัวผิดหวังเหมือนกันนะ เพราะผมเรียนหลายปีกว่าจะจบ

ครั้งแรกสอบติดคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ เรียนอยู่สองปีก็ลาออก เพราะรู้สึกว่าตัวเองชอบด้านการเกษตรมากกว่า คราวนี้สอบได้คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เรียนได้ปีเดียวก็ออกเพราะทนระบบโซตัสไม่ได้ เลยไปสอบใหม่เป็นครั้งที่สาม ติดคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เรียนอยู่หนึ่งปีก็สอบใหม่ได้คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และมาเรียนจบที่ธรรมศาสตร์ ผมเป็นคนชอบกิจกรรม เป็นประธานชุมนุมพุทธศาสตร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของธรรมศาสตร์ เป็นประธานค่ายอาสาพัฒนา ธรรมศาสตร์ เป็นประธานชุมนุมอีสานธรรมศาสตร์ แล้วก็เป็นเลขาฯพรรคยูงทอง ธรรมศาสตร์

เป็นเกษตรกร

พอเรียนจบธรรมศาสตร์ เตี่ยล้มป่วยเลยให้กลับมาค้าขายอยู่บ้าน เพราะพี่น้องรับราชการกันหมด แต่ก็ยังชอบด้านเกษตรอยู่ดี ไม่รู้เพราะอะไร พอกลับมาอยู่บ้านก็มาทำไร่มัน เราเป็นคนรุ่น 14 ตุลา อุดมการณ์เยอะ คิดอยากช่วยเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ก็ไปดาวน์รถไถมาไถที่ดินตัวเอง ตอนนั้นใฝ่ฝันว่าจะมีม้าสักตัว มีที่ดินสักผืน แล้วทำสวนปลูกอะไรไปก็มีความสุขแล้ว แต่พอทำจริง ๆ ออกรถไถคันหนึ่ง ไถที่ตัวเองเสร็จ รถอยู่ว่าง ๆ ก็ไปรับจ้างไถนาให้คนอื่นด้วย โดยไปไถให้เขาก่อน พอขายมันได้ค่อยเอามาขายให้เรา ครบปีก็รอให้เขาเอามันมาส่งเรา ปรากฏว่าเงียบหาย เราก็ไปตามว่าทำไมไม่มาส่งมัน เขาบอกไม่เห็นมาทวง ก็เลยเอาไปขายที่อื่น ปกติคนอื่นมาทำให้ 11 เดือน ก็จะมาตามทวงหนี้แล้ว แต่ของเรา 12 เดือนยังไม่เห็นมา นึกว่าลืม

เราก็คิดว่าไม่เป็นไร ปีต่อไปก็ยังไปไถให้เขาก่อนอีก เขาก็มาผ่อนให้บ้าง เอาไปขายเองด้วย จนปีที่สามที่สี่เขาเริ่มเชื่อว่าเราไม่ได้เอาเปรียบ สถานการณ์จึงดีขึ้น ต่อมาผมก็ซื้อรถไถเพิ่มเป็น 8 คัน แล้วก็ซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยรับจ้างไถให้ชาวบ้านก่อนเหมือนเดิม รับจ้างไถจาก 100 ไร่ เป็น 2,000 ไร่ ปรากฏว่าเจ๊ง เพราะคุมไม่ได้ ต้องใช้คนงานหลายร้อยคน เราคุมได้ไม่ทั่วถึง คนงานเขียนชื่อเพิ่มมาเอง เราไม่รู้ก็จ่ายเงินค่าจ้างไป ท้ายที่สุดเจ๊ง ต้องเลิกทำ แต่เราก็ได้ประสบการณ์

พีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์

ที่ดิน ทรัพย์สินที่มูลค่าไม่ลดลง

สมัยที่อาจารย์บุญชู โรจนเสถียร สอนที่ธรรมศาสตร์ ท่านบอกว่าถ้ามีเงินร้อยบาท เก็บไว้สิบปีค่าเงินลดเหลือสิบบาท แต่ถ้าเอาเงินร้อยบาทไปซื้อที่ดินไว้ อีกสิบปีมันจะกลายเป็นพันเป็นหมื่นได้ เงินพิมพ์เพิ่มได้ คนเกิดเพิ่มได้แต่ที่ดินเพิ่มไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีเงินให้ซื้อที่ดินไว้

สมัยก่อนที่ดินไม่แพง แถวต่างจังหวัดอย่างที่ดินโฉนดติดถนนลูกรังในบุรีรัมย์ ไร่ละ 300 – 500 บาท ถ้าไกลถนนหน่อยก็ไร่ละ 200 ซื้อไปซื้อมาเก็บสะสมมาได้หมื่นกว่าไร่ อันไหนแพงหน่อยก็ผ่อนเอา ผมซื้ออย่างเดียว ซื้อแต่ที่ดินจนไม่รู้จะซื้อไปทำไม บางครั้งไปชวนคนอื่นมาซื้อร่วมกับเราด้วย

ไม่เคยลืมว่าชาวบ้านคือผู้มีพระคุณ

ถึงแม้ผมจะทำมาค้าขาย แต่ผมชอบทำกิจกรรมและชอบช่วยชาวบ้าน แม่ผมเป็นคนบ้านนอก ผมชอบสิ่งที่แม่สอนไว้อย่างหนึ่งคือ แม่บอกว่า อย่าลืมกำพืดตัวเอง ที่เราได้กินได้ใช้ ได้เรียนทุกวันนี้ เพราะชาวบ้านให้นะ ถ้าวันไหนพอลืมตาอ้าปากได้หรือช่วยตัวเองได้ อย่าลืมชาวบ้าน เขามาซื้อของเรา มาขายให้เรา เราได้ส่วนต่างตรงนั้นมาเป็นค่าใช้จ่าย เขาเป็นผู้มีพระคุณ เรื่องนี้อยู่ในใจผมมาตลอด เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ผมก็ช่วยชาวบ้านเสมอ ช่วยหาอาชีพ ช่วยส่งเสริมอาชีพ

ตอนที่ผมเป็นประธานชุมนุมพุทธศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ได้อัญเชิญกฐินพระราชทานมาทอดที่อำเภอพุทไธสง ตอนนั้นท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นประธาน ผมได้พาท่านไปดูผ้าไหมที่อำเภอพุทไธสง ต่อมาก็มีการก่อตั้งสถานีส่งเสริมหม่อนไหม จะเรียกว่าศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกของประเทศไทยอยู่ที่อำเภอนาโพธิ์ (เดิมขึ้นกับอำเภอพุทไธสง) ก็ได้

ใครว่าขึ้นหลังเสือแล้วจะลงไม่ได้

ผมเคยเป็น ส.ส.ประมาณ 10 ปี แล้วก็ตัดสินใจเลิกเป็น เพราะไม่มีความสุขกับการเป็น ส.ส. แต่ก็ภูมิใจที่ตอนเป็น ส.ส.ได้ทำตามที่เคยหาเสียงไว้ ผมบอกว่า พี่น้องครับ ถ้าผมเป็น ส.ส. ผมจะทำให้ชาวบ้าน 3 อย่างที่ผมถนัด หนึ่ง เรื่องการศึกษา สอง เรื่องคุณธรรมจริยธรรม สาม เรื่องอาชีพ ถ้าพี่น้องต้องการ ส.ส.ที่ทำถนน ทำสระน้ำ ทำไฟฟ้า พี่น้องต้องเลือกคนที่เขาถนัด

เมื่อประชาชนตัดสินใจเลือกเรา เราก็ต้องทำตามที่พูดไว้ อย่างเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ผมก็นิมนต์หลวงพ่อพระพยอมมาอยู่ด้วย ถวายที่ให้ท่านสองร้อยไร่สร้างสาขามูลนิธิสวนแก้วที่นี่ เหตุที่นิมนต์ท่านมาเพราะตอนเป็น ส.ส. มักต้องไปประกันตัวลูกหลานชาวบ้านที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ เรื่องยาเสพติดบ้าง ตีกันบ้าง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ก็เลยคิดแก้ที่ต้นเหตุ คือนิมนต์หลวงพ่อมาอบรมเยาวชน ผมพาท่านไปบิณฑบาตตอนเช้า ตอนบ่ายก็พาท่านไปเทศน์ตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน ทำอย่างนี้อยู่สองปี ตอนนี้ท่านเริ่มเทศน์ทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แล้ว เอาเด็กไปนั่งในหอประชุมแล้วท่านก็เทศน์ส่งสัญญาณเข้ามา

เรื่องการศึกษา ผมแจกคอมพิวเตอร์ตามโรงเรียน เป็นของบริจาคบ้าง เป็นของเก่าเอามาซ่อมบ้าง นักเรียนสิบคนต่อหนึ่งเครื่อง ผมอยากให้เด็กเล่นคอมพิวเตอร์ เพราะสมัยก่อนคอมพิวเตอร์แพงมาก โรงเรียนหนึ่งมี 1 – 2 เครื่องก็ถือว่าดีแล้ว เครื่องที่เอามาแจกเป็นของเก่า เราก็ฝึกเด็กให้เล่นคอมพิวเตอร์และให้ฝึกซ่อมเครื่องไปด้วย

เฮียน้อย ร้อยอาชีพ

เรื่องอาชีพที่สัญญาไว้กับชาวบ้าน นี่แหละเป็นที่มาที่เขาเรียกผมว่า เฮียน้อย ร้อยอาชีพ ไม่ใช่เพราะผมทำร้อยอาชีพ แต่เพราะผมสามารถหาได้เป็นร้อยอาชีพต่อวัน ผมเป็นคนชอบซอกแซกหาอาชีพ สถานที่จะพบอาชีพมากมายคือปั๊มน้ำมัน รถที่เข้ามาเติมน้ำมันมีอาชีพทั้งนั้น ยกตัวอย่างรถคันหนึ่งเข้ามาจอด ผมก็ไปถามเขาว่าขนอะไรมา เขาบอกว่ามะยมดอง ซื้อมาจากชัยภูมิ กิโลละ 3 บาท เอาไปขายที่บ้านโป่ง ราชบุรี กิโลละ 9 บาท รถปิกอัพคันหนึ่งบรรทุกมะนาวได้ 2 ตัน ปีหนึ่งขายได้ประมาณ 500 เที่ยว คราวนี้เราก็รู้แล้วว่า ซื้อมา 3 บาท ขายไป 9 บาท ได้กำไร 6 บาท บรรทุกไปขายเที่ยวละ 2,000 กิโลกรัม เท่ากับได้กำไร 12,000 บาท ส่วนค่าจ้างขนมะนาว 4,000 บาท ก็ได้กำไรเที่ยวละ 8,000 บาท 500 เที่ยวก็เท่ากับ 4,000,000 บาท เห็นไหมได้หนึ่งอาชีพในเวลาแป๊บเดียว รถวิ่งเข้ามา 100 คัน ก็ร้อยอาชีพแล้ว และถ้าทำแล้วไม่ได้กำไร คงไม่จ้างรถมาวิ่งส่งของแบบนี้หรอก นี่แค่ตัวอย่างเดียว

อาชีพเหล่านี้ผมไม่ได้ทำเอง แต่บอกให้คนอื่นทำ บอกพรรคพวกที่ตกงานคิดไม่ออก เวลาหาเสียงผมก็ไปบอกอย่างนี้ แล้วมีคนเอาไปทำตามกันมากมาย นั่นเท่ากับผมทำหน้าที่ตามที่สัญญาไว้ได้ครบถ้วนแล้ว ก็เลิกเป็น ส.ส.

เลิกเป็น ส.ส. แต่ไม่เลิกช่วยชาวบ้าน

ตอนเป็นกรรมาธิการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมได้ไปดูงานที่อิสราเอล ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เพื่อหาอะไรใหม่ ๆ มาช่วยเกษตรกร ก็เกิดคำถามว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานการเกษตรที่ดี ดินดี น้ำดี ทำไมอิสราเอลซึ่งแห้งแล้งสามารถทำการเกษตรส่งขายทั่วโลกได้ แต่เราทำไม่ได้ พอไปญี่ปุ่นเจอเมลอนติดป้ายลูกละพัน ลูกใหญ่สวย ก็คิดในใจว่า บ้าเหรอ ผลไม้อะไรทำไมแพงขนาดนี้ พอซักถามก็ได้รู้ว่าที่ญี่ปุ่นปลูกเมลอนยากเพราะอากาศหนาว เมลอนชอบอากาศร้อน ปีหนึ่งมีฤดูร้อนสั้นนิดเดียว ขนาดจะปลูกในฤดูร้อนยังต้องใช้ฮีตเตอร์ช่วยมันถึงออกผล ราคาเลยแพง จึงถามเขาว่าไทยปลูกได้มั้ย เขาบอกว่าอากาศเมืองไทยสุดยอด ทำได้ตลอดทั้งปี

พีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์

พอเลิกเป็น ส.ส. ตอนนี้กิจการก็ยกให้ลูก ๆ หมดแล้ว ต้นปี 2558 จึงลองทำเมลอนเล่น ๆ ราว 10 – 20 โรงเรือน ทำแบบไม่มีความรู้เลย ถือเป็นการพักผ่อน คิดว่าจะทำได้ง่าย ๆ ปรากฏว่าไม่ง่าย ผมจึงไปหาสองสามีภรรยาซึ่งเป็นคนในท้องที่และจบปริญญาโทด้านการเกษตรที่แม่โจ้มาดูแล ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะขาย คิดจะทำเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรมาเรียนรู้ แต่พอดีโลตัสมาเห็นโรงเรือนซึ่งปลูกอยู่ริมถนน เขาก็อยากได้เมลอนในโรงเรือน เพราะซื้อเมลอนนอกโรงเรือนฉีดยาเยอะ เขาก็มาคุยกับเราหลายเดือน เพราะต้องออร์เดอร์ก่อนถึงจะปลูกได้ เมื่อตกลงกันได้ก็ต้องเร่งปลูก จากนั้นลูกค้าก็ตามเรื่อย ๆ ตอนนี้มีทั้ง Big C, Tops ต่างประเทศก็มาดู ญี่ปุ่นติดต่อมา 2 – 3 รอบ แต่ผมยังทำให้ไม่ได้ ตอนนี้เรามีทั้งหมด 900 โรงเรือน ปีนี้ผมจะเร่งทำให้ได้ 2,000 โรงเรือน

เมลอนโมเดลช่วยชาวบ้าน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมรู้ว่า เกษตรกรไทยจะอยู่รอดได้ต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการ คือ เงินทุน วิชาการและการตลาด ขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ปรากฏว่าชาวบ้านขาดทั้งสามอย่าง มีแต่แรงงาน เมลอนที่ทำนี้ผมลงทุนให้ทั้งหมด ทั้งโรงเรือน พันธ์ุ ปุ๋ย ฯลฯ ให้เกษตรกรที่สนใจมาเรียนวิธีปลูกวิธีดูแลฟรี แล้วให้รับผิดชอบปลูกและดูแลครอบครัวละห้าโรงเรือน ถ้าเกษตรกรคนไหนทำงานจริงจังดูแลโรงเรือนดี เราก็จะขยายให้ดูแลโรงเรือนมากขึ้น เราให้เกษตรกรมาลองก่อน ถ้าชอบก็ทำ ถ้าไม่ชอบก็หยุด

เมื่อได้ผลผลิต เรารับซื้อผลผลิตทั้งหมด คือทำการตลาดให้ ขายให้ เพราะการรวมกันขายทำให้ต่อรองได้ดีกว่า แต่ถ้าผมเจ๊ง คุณไม่ต้องมารับผิดชอบกับผม

ผมอยากให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ด้วยโมเดลแบบนี้ ที่ผ่านมาช่วยให้เกษตรกรปลดหนี้ห้าหกแสนไปได้หลายครอบครัว แค่นี้ผมก็ภูมิใจแล้ว เราไม่ต้องการรวยอะไร ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ผมอยากคืนอะไรให้สังคมอย่างที่แม่เคยสอนไว้

ชีวิตนี้ไม่ตายก็จะทำไปเรื่อย ๆ

ผมอายุ 67 แล้ว ถามว่าผมจะทำไปได้นานแค่ไหนผมไม่รู้ รู้แต่ว่าชีวิตนี้เมื่อยังไม่ตายก็จะทำไปเรื่อย ๆ ผมได้ธรรมะข้อหนึ่งจากหลวงพ่อพยอม ผมเห็นท่านตื่นตั้งแต่ตีห้าทำงานทั้งวัน เข้านอนเที่ยงคืน ผมถามท่านว่า หลวงพ่อขยันอะไรนักหนา ครอบครัวก็ไม่มี ชาวบ้านยังไม่ขยันขนาดนี้ ท่านบอกว่า โยม คนไทยเฉลี่ยอายุ 70 ปี ตอนนี้อาตมาอายุ 60 เหลืออีก 10 ปีก็ตาย เท่ากับ 3,650 วัน หักเวลานอนครึ่งหนึ่งเหลือเวลา 1,825 วัน ในพันแปดร้อยวันก็ไม่ได้ทำงานอย่างนี้ทุกวันนะ พอมาเทียบกับผมเหลืออีก 3 ปี คูณ 365 วัน หักเวลานอนแล้ว ก็เหลือเวลาทำงานแค่ 500 วัน ยิ่งอายุมากก็อาจเหลือแค่ 250 วัน มันเหลือเวลานิดเดียวเองนะ เพราะฉะนั้นต้องรีบทำ

สมัยท่านพุทธทาสฯยังอยู่ ผมชอบสนทนาธรรมกับท่าน ท่านบอกว่า โยมอาจตายเร็วกว่านี้ก็ได้นะ หรืออาจจะยาวกว่านี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าตั้งอยู่ในความประมาทว่า พรุ่งนี้ค่อยทำก็ได้ เดือนหน้าค่อยทำก็ได้ ปีหน้าค่อยทำก็ได้ บางทีเราเดินออกจากบ้านไปนี่ไม่รู้จะเกิดอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นวินาทีนี้ที่คุณมีลมหายใจ ทำอะไรก็ได้ให้ดีที่สุด ให้สุขที่สุด ผมจึงทำให้ดีที่สุด สุขที่สุด ผมจะไม่ทุกข์กับมัน เพราะท่านบอกว่า ตัวทุกข์ไม่เคยช่วยอะไรเราเลย มีแต่ทำลายเรา แต่ทำไมเราต้องทุกข์กับมัน

ความสุขไม่ได้อยู่ที่ทรัพย์ ความสุขอยู่ที่ความพอใจ การให้คือความสุขไม่ใช่การรับ บารมีจึงเกิดจากการให้ ท่านพุทธทาสฯว่า โยมเอามือมา อาตมาจะให้ของ เห็นมั้ย มือผู้ให้ย่อมอยู่เหนือมือผู้รับเสมอ

ธรรมะเหล่านี้คือสิ่งที่ผมนำมาปฏิบัติจนทุกวันนี้

 

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 232

เรียบเรียง : ชนาฉัตร

ภาพ : ชณา วสุวัต

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสใหม่ๆ เสมอ

ฉัตรชัย วชิระเธียรชัย จากพ่อค้าห้องแถว สู่ธุรกิจพริก กระเทียมร้อยล้าน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.