ACTIVE COUPLE นักวิ่งสูงวัย หัวใจสตรอง

ACTIVE COUPLE นักวิ่งสูงวัย หัวใจสตรอง

ACTIVE COUPLE นักวิ่งสูงวัย หัวใจสตรอง ขอเพียงกายพร้อม ใครก็ทำได้

เชื่อว่าคุณผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” นั่นหมายความว่ามันอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนักที่จะต้องนำมาคำนึง รวมถึงบนเส้นทางการ “วิ่ง” ออกกำลังกาย ที่มีตัวอย่างของ นักวิ่งสูงวัย หัวใจสตรองให้เห็นมากมาย อาทิ

คุณตาจอห์น เคลเลย์ นักวิ่งอาวุโสวัย 84 ปีเจ้าของสถิติลงแข่งรายการบอสตัน มาราธอน มากที่สุด

คุณตาดิมิทริออน ยอร์ดานิดิส ผู้ซึ่งลงแข่งขันวิ่งจากเมืองมาราธอนไปยังกรุงเอเธนส์ในปีค.ศ.1976 ด้วยวัย 98 ปี

รวมถึงการทุบสถิติใหม่ให้กับแวดวงการวิ่งของ คุณยายแกลดีส เบอร์ริลล์ อายุ 92 ปี ด้วยการเป็นผู้หญิงที่อายุมากที่สุดในโลกที่ลงแข่งวิ่งมาราธอนและเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ

ส่วนนักวิ่งอาวุโสของไทยก็มีไม่น้อย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น คุณสุนันทา เลื่อมประภัศร์ หญิงแกร่งน่องเหล็กวัย 80 ปี เจ้าของประสบการณ์สุขภาพของเราในวันนี้ค่ะ

นักวิ่งสูงวัย

คู่ชีวิต คู่ออกกำลังกาย

แม้กล้ามเนื้อขาที่ฟิตแอนด์เฟิร์มเกินอายุจะบ่งบอกถึงความเก๋าสนามของคุณสุนันทาได้เป็นอย่างดี แต่เชื่อหรือไม่คะว่าผู้หญิงคนนี้ไม่เคยคิดจะวิ่งอย่างจริงจังมาก่อน จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนเข้ามาในชีวิต ทำให้เธอเริ่มวิ่ง และต้องวิ่งในช่วงอายุที่มากแล้ว

“เนื่องจากสามีไม่สบาย เป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ ต้องผ่าตัดบายพาส หลังจากผ่าตัด คุณหมอให้ไปออกกำลังกาย ตัวเองอยู่บ้าน ไม่รู้จะทำอะไร ก็ตามออกไปเป็นเพื่อน แรกๆ ก็ไปนั่งรอเฉยๆ จนกระทั่งสามีวิ่งจบ ใช้เวลาชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง นั่งรอไปรอมาตัวเองก็เบื่อ เลยลุกขึ้นมาหัดวิ่งเองบ้าง” คุณสุนันทาเล่าต่อว่า

“ครั้งแรกวิ่งได้แค่ 100 เมตร ก็เหนื่อยแฮ่กแล้ววิ่งไม่ไหว ต้องนั่งพัก เพราะหายใจไม่ออก คนไม่เคยออกกำลังกายจะวิ่งไม่ได้ แต่ก็ไม่ท้อนะ พอหายเหนื่อยก็วิ่งต่อไปอีก วิ่งๆ หยุดๆ อยู่แบบนี้จนกระทั่งครบ 1 รอบสนาม”

ด้วยความพยายาม ระยะทางที่เคยวิ่งได้เพียงหลักร้อยเมตร จึงเริ่มขยับเป็น 3 กิโลเมตรบ้าง 5 กิโลเมตรบ้าง นานเข้าเธอก็สามารถเพิ่มระยะจนวิ่ง 10 กิโลเมตรได้ และเพิ่มเป็น 21.1 กิโลเมตร กระทั่งกล้ามเนื้อเริ่มแข็งแกร่งสามารถสร้างพละกำลังให้ก้าวถึงระยะทาง 42 กิโลเมตรได้อย่างน่าประหลาดทั้งที่อายุมาก และไม่เคยเป็นนักกีฬามาก่อน

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

วิ่ง…สลัดทิ้งซึมเศร้า

ในเวลานั้น คุณสุนันทาและสามีจึงกลายเป็นคู่รักนักวิ่งที่โลดแล่นอยู่ในสนามแข่งหลากหลายสนามทั้งในและต่างประเทศ และด้วยยาวิเศษที่ชื่อว่า “การวิ่ง” ทำให้สามีของเธอมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นมาก แต่สุดท้ายก็ไม่อาจยื้อกำลังมัจจุราชได้

เป็นสาเหตุให้ อาการซึมเศร้าค่อยๆ เข้ามาเกาะกุมจิตใจของคุณสุนันทา

“หลังจากสามีเสีย ฉันร้องไห้ทุกวัน บังคับตัวเองไม่ได้ นั่งๆ อยู่ก็ร้องไห้ ตัวร้อนผ่าว ปั่นป่วน ไม่มีกระจิตกระใจจะวิ่งอีกต่อไปรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วจนต้องไปหาหมอ กินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ร่วมสองปี”

นักวิ่งสูงวัย

ไม่เพียงแต่รักษาด้วยวิธีทางการแพทย์เท่านั้นการวิ่งที่เคยถูกเมินเฉยก็กลับกลายมาเป็นวิตามินสร้างความสุขให้ชีวิตเธออีกครั้ง

“เพื่อนนักวิ่งมาหาที่บ้าน เขาเห็นสภาพเราแล้วทนไม่ได้ ทั้งต่อว่า ทั้งดุ ทั้งปลอบ ชวนให้ออกไปวิ่งด้วยกันอีกครั้ง

“ทำให้ฉันหวนกลับมาคิดว่า ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ จะมานั่งซังกะตายแบบนี้เรื่อยๆ ได้ยังไง ก็เลยตัดสินใจเป็นไงเป็นกัน ไปก็ไป สุดท้ายตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ หลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่เคยหยุดวิ่งเลย”

เมื่อจิตวิญญาณนักวิ่งถูกปลุกให้ลุกโชน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หญิงแกร่งน่องเหล็กคนนี้จะมีถ้วยและเหรียญรางวัลกองเต็มบ้านเลยทีเดียว

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

เพราะชีวิตคือการวิ่ง

คุณสุนันทาเล่าแบบติดตลกต่อว่า แม้การวิ่งจะกลายเป็นชีวิตและจิตใจ แต่ปัจจุบันเธอตัดสินใจเลิกวิ่งมาราธอนเสียแล้ว

“ทั้งชีวิตวิ่งมาราธอนมาทั้งหมด 53 สนาม เพิ่งหยุดวิ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะเกรงใจคนจัดงานเขาน่ะ ต้องมารอคนแก่”

เธอบอกเหตุผลพร้อมเสียงหัวเราะ แต่กระนั้นนักวิ่งสูงวัย หัวใจสตรองคนนี้ก็ยังคงวิ่งฮาล์ฟมาราธอน (21กิโลเมตร) และมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร และเพิ่มสีสันให้ชีวิตด้วยการไปวิ่งในประเทศเพื่อนบ้านอยู่เนืองๆ ทั้งสิงคโปร์กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง โตเกียว เซียะเหมิน ฯลฯ

นักวิ่งสูงวัย

ณ วันนี้แม้วัยจะล่วงเลยเข้าสู่เลขแปด แต่คุณสุนันทายังคงมีตารางงานวิ่งรออยู่อีกมากมาย ส่วนในวันว่างที่ไม่มีโปรแกรมการวิ่ง เธอก็ไม่เคยปล่อยให้ร่างกายเหี่ยวเฉาไปตามเวลา ต้องออกมายืดเส้นยืดสายเสริมสมรรถภาพเบาๆอย่างสม่ำเสมอ

“ต้องหากิจกรรมอะไรทำที่เราชอบ จะไปทำอย่างอื่นก็ไม่ชอบ รู้สึกไม่สนุก คิดว่าการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีด้วย และเป็นกิจกรรมที่ทำได้ตลอด

“ถึงแม้ไม่มีงานวิ่งแข่ง ทุกเช้าก็จะเดินจากบ้านไปหาเพื่อนที่สนามกีฬาใกล้บ้าน แวะตลาดซื้อกับข้าวกับปลาอีกนิดหน่อย รวมระยะทางไปกลับก็ 3 กิโลเมตรแล้ว หรือไม่ก็ยกดัมเบลเบาๆ ตามวัย รดน้ำต้นไม้ ตัดหญ้าพอให้เหงื่อออก”

นอกจากการออกกำลัง “กาย” แล้ว คุณสุนันทายังแบ่งเวลาในแต่ละวันให้กับการออกกำลัง “สมอง” ซะด้วย

“ฉันจะจดรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน พอถึงสิ้นเดือนก็จะเอามาบวกลบว่าใช้เงินไปทั้งหมดเท่าไหร่ อย่าลืมว่าคนแก่ถ้าไม่ทำอะไรเลย มือไม้ก็จะแข็ง การจดเท่ากับเป็นการซ้อมเขียนหนังสือ และช่วยฝึกสมองป้องกันอัลไซเมอร์ได้ด้วยนะ”

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ผลลัพธ์ของการดูแลสุขภาพมีค่าเสมอ

สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพสมองฟิตปั๋งแบบนี้ คุณสุนันทาแอบกระซิบบอกอีกด้วยว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอดูแลเรื่องอาหารการกิน และให้ความสำคัญกับการพักผ่อนไม่น้อยเช่นกัน

“ฉันจะทำอาหารกินเอง เพราะสามารถดูแลเรื่องวัตถุดิบและความสะอาดได้เป็นอย่างดี ผงชูรสก็ไม่ใส่ ผักผลไม้ก็ล้างแล้วล้างอีก (หัวเราะ) พยายามกินทุกอย่างให้สมดุล หลากหลาย และหลีกเลี่ยงของมันของทอดส่วนการพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือ เข้านอนแต่หัวค่ำ”

นักวิ่งสูงวัย

เคล็ดลับง่ายๆ แค่นี้ส่งผลให้คุณสุนันทา กลายเป็นสาววัย 80 ยังแจ๋ว ที่หนุ่มสาวหลายคนต้องซูฮกเลยทีเดียว

“ตั้งแต่เริ่มวิ่ง ฉันไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย เจ็บป่วยวันเดียวก็หาย ไม่เรื้อรัง ความดันมีนิดหน่อย แต่เบาหวานไม่มี คอเลสเตอรอลไม่มี กระดูกแข็งแรงมาก อาการปวดขา ปวดเข่านี่ลืมไปได้เลย” เธอยิ้มพร้อมกับโชว์กล้ามเนื้อขาสุดเฟิร์มให้ดู ผู้เขียนเห็นแล้วเลยต้องแอบถามเคล็ดลับมาฝากมือใหม่หัดวิ่งกันเสียหน่อย

“คนที่ไม่เคยวิ่ง ไม่ว่าจะวัยไหน อายุเท่าไหร่ ต้องเริ่มจากการเดินเร็วก่อน จากนั้นให้ลองวิ่งเหยาะๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเหนื่อยก็หยุด อย่าฝืนร่างกาย ทำเท่าที่ทำไหว อย่าไปรีบร้อน พรุ่งนี้ก็เริ่มฝึกใหม่ไปเรื่อยๆ แล้วกล้ามเนื้อจะค่อยๆ พัฒนาไปเอง ที่สำคัญ ขณะวิ่ง จิตใจต้องเบิกบาน สนุก และมีความสุขด้วย”

          อยากสูงวัยแบบสตรองเหมือนเธอคนนี้ รีบหยิบรองเท้าผ้าใบแล้วออกไปวิ่งกันค่ะ

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.