ชะลอวัย

โปรแกรมช่วย ชะลอวัย ลดไขมันในเลือด

โปรแกรมง่ายช่วย ชะลอวัย ลดไขมันในเลือด

ไม่ว่าหญิงหรือชาย ใคร ๆ ก็อยาก ชะลอวัย ชะลอความชราด้วยกันทั้งนั้น แต่หากถามว่า ปัจจุบันเรื่อง Anti-aging หรือศาสตร์ด้านการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพนี้ มีอะไรได้ผลจริงจังบ้างขอตอบว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เรื่อง Anti-aging (ในคน) ทุกวันนี้มีน้อย เพราะไม่มีตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ หากจะเอาความยืนยาวของชีวิตเป็นตัวชี้วัด ก็ต้องทำงานวิจัยกันนานถึง 20-40 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่มีใครทำงานวิจัยแบบนี้สักชิ้นเดียว

ในบรรดาตัวชี้วัด Anti-aging ที่พอใช้ได้ทุกวันนี้ วงการแพทย์ดูจะยอมรับการยืดหรือหดตัวของทีโลเมียร์ (Telomere) ว่ามีความสัมพันธ์กับการแก่ช้าหรือเร็วมากที่สุด โดยเจ้าทีโลเมียร์ที่ว่าก็คือส่วนปลายเส้นโมเลกุลของโครโมโซม ซึ่งเป็นแหล่งรวมรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า “ยีน (Gene)” ผู้บงการชะตาชีวิตของเซลล์ร่างกายเรานั่นเอง

ทีโลเมียร์มีหน้าที่คุ้มกันยีนไม่ให้หลุดลุ่ยเสียหายจากการแบ่งตัวของเซลล์ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เปรียบเหมือนตรงปลายของเชือกผูกรองเท้าที่จะมีปลอกพลาสติกหรือปลอกเหล็กเล็ก ๆ รัดไว้ไม่ให้ปลายเชือกผูกรองเท้าหลุดลุ่ย

ประเด็นก็คือ เมื่อเซลล์แบ่งตัวรุ่นแล้วรุ่นเล่า ทีโลเมียร์จะหดสั้นลงจนหมดเกลี้ยงในที่สุด เมื่อทีโลเมียร์หมดเกลี้ยง ยีนจะเริ่มหลุดลุ่ยเสียหายทำให้เซลล์รุ่นต่อไปออกอาการผิดเพี้ยนเหลาเหย่ เป็นมะเร็ง หมดอายุ หรือพูดง่าย ๆ ว่าความแก่มาเยือน

บรรทัดนี้ ขอหยุด 1 นาที เพื่อคารวะนักศึกษาปริญญาโทสาวชาวออสซี่คนหนึ่งชื่อ แครอล กรีเดอร์ (Carol W. Greider) ผู้ค้นพบเอนไซม์ทีโลเมียเรส (Telormerase) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการหดสั้นของทีโลเมียร์ ขณะที่เธอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และผลงานนี้ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลโนเบลร่วมในสาขาชีวโมเลกุล

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สรุปผลได้ว่าความเครียดเรื้อรังทำให้ความแอ๊คทีฟของเอนไซม์ทีโลเมียเรสลดลง และทำให้ทีโลเมียร์หดสั้นเร็วกว่าปกติ จึงอาจมีผลให้อายุสั้นลงด้วย ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคืองานวิจัยที่แคลิฟอร์เนีย ทำโดยกลุ่มคนที่เชื่อถือได้รวมทั้งผู้ที่ได้รางวัลโนเบลเรื่องทีโลเมียร์ได้เอาคนอายุมากตัวเป็นๆ 30 คนมาวัดกิจกรรมของเอนไซม์ทีโลเมียเรสและความยาวของทีโลเมียร์ไว้หมด แล้วให้เข้า

ชะลอวัย ลดไขมันในเลือด
ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยชะลอวัย ลดไขมันในเลือด

โปรแกรมปรับวิถีชีวิต อย่างสิ้นเชิงเป็นเวลา 3 เดือน โดยไปเริ่มต้นกันที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง ซึ่งในโปรแกรมนี้ทุกคนจะต้องทำสิ่งต่อไปนี้ คือ

1. เปลี่ยนอาหารที่เคยกิน ไปกินอาหารแคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ (มีแคลอรีจากไขมันไม่เกินร้อยละ 10) เป็นอาหารแนวมังสวิรัติ (Plant Based) มีผักผลไม้ ถั่วต่างๆ จำนวนมากกินธัญพืชไม่ขัดสีแทนแป้ง และบังคับให้กินเต้าหู้กับน้ำมันปลาทุกวัน โดยมีนักโภชนาการคอยจัดอาหารและคุมอาหารให้

2. ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ด้วยวิธีเดินเร็วจนถึงระดับหนักพอควร (หอบจนร้องเพลงไม่ได้) อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 6 ครั้ง

3. จัดการความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ โดยใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน เช่น ฝึกโยคะแบบผ่อนคลาย หรือฝึกสติตามดูลมหายใจ (Breathing Meditation) หรือฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

  4. พบปะกันในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง

ทำอยู่อย่างนี้นาน 3 เดือน แล้ววัดดูตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมของทีโล-เมียเรสและความยาวของทีโลเมียร์ พบว่าตัวชี้วัดสุขภาพพื้นฐานของทุกคนดีขึ้น เช่นดัชนีมวลกายที่สูงเกินปกติลดลง ไขมันเลว

ในเลือดที่สูงอยู่ลดลง ความดันเลือดที่สูงลดลง น้ำตาลในเลือดและการใช้ยาเบาหวานลดลง แล้วยังพบว่าทุกคนมีกิจกรรมของทีโลเมียเรสเพิ่มขึ้น และความยาวของทีโลเมียร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

ผมเองก็พยายามทำตามหลักการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงทั้งข้อ 1 2 3 4 เหยงๆ ตอนนี้ข้อ 1 2 ทำได้แล้วพอควรข้อ 3 4 ยังทำไม่ได้ แต่ก็กำลังพยายามอยู่ ความยากอยู่ที่มีเวลาไม่พอใช้ แหะ…แหะ แบบว่าป่วยเป็นโรคคลาสสิก “กลุ่มอาการเวลาไม่พอใช้” หรือ “Not Enough Time Syndrome” เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องตัดใจโชะจึงจะรักษาให้หายได้

แต่ตอนนี้ยังตัดใจไม่ขาด เอาไว้รอให้รายการทีวีหมดซีซั่นก่อนนะ คราวนี้จะ…โชะ ปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง เอาให้หายขาดแน่

จาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 449

ชีวจิต Tips กินอาหาร ชะลอวัย ทำอย่างไร

  1. อาหารคือแหล่งพลังงานชีวิต
    ก่อนซื้อ หรือกินอาหารทุกครั้ง ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ร่างกายของฉันต้องการ หรือแค่อยากกินอาหารชนิดนี้” เพื่อเตือนตนเอง ให้ใส่ใจการเลือกอาหาร
    หากทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน คุณจะเห็นว่า สัดส่วนของอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นโดยธรรมชาติ
    หากตระหนักได้เสมอว่า อาหาร คือแหล่งพลังงานชีวิต มิใช่เป็นแค่เพียงการกิน เพื่อให้อิ่มเป็นครั้งคราว คุณจะมองเห็นคุณค่า ในการใส่ใจเลือกอาหารให้ตนเอง และมองเห็นคุณค่าของการใส่ใจสุขภาพในทุก ๆ มิติ
  2. เลือกอาหารโภชนาการสูง
    การเลือกกินผักผลไม้ที่สด ธัญพืช ถั่วหลากสี จำกัดแป้ง น้ำตาล และเครื่องปรุงรส เลือกโปรตีนย่อยง่าย และมีปริมาณไม่มากเกินไป เน้นอาหารที่ปลูก หรือผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ จะทำให้กินน้อยลง แต่ได้รับคุณประโยชน์ทางโภชนาการมากขึ้น อิ่มนานขึ้น
    และทำให้ร่างกายสดชื่น
    วิธีนี้ ส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ช่วยให้อารมณ์คงที่ สมองแจ่มใส ผิวพรรณเปล่งปลั่งขึ้น มากกว่า การกินอาหารทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะอาหารที่มีพลังงานชีวิตต่ำ ได้แก่ อาหารทอดและอาหารที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม
  3. กินอย่างเจริญสติ
    เน้นกินด้วยความสำรวม และพิจารณาอาหาร โดยมองให้เห็นประโยชน์มากกว่ากิน เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยมีวิธีดังนี้ ระลึกถึง และขอบคุณผู้ที่มีส่วนให้เราได้รับอาหารในมื้อนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร คนขนส่งอาหาร พ่อค้าแม่ค้า และคนปรุงอาหาร ต่อมาจึงตักอาหารมาใส่จานในปริมาณที่ตนเองกินหมด เคี้ยวช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด เมื่อปฏิบัติเป็นประจำ ทุกมื้อในทุก ๆ วัน จะช่วยลดความอยากอาหารก่อโรค เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารทอด อาหารมัน อาหารที่มีน้ำตาลสูง การกินอาหารตามความเคยชิน และการบริโภคเกินขนาดได้
  4. เพิ่มอาหารรสเปรี้ยว
    ในบรรดา 6 รสชาติ ที่คนเรารับรู้ได้นั้น คุณดอนน่า อธิบายว่า รสเปรี้ยว เป็นรสชาติแห่งสุขภาพ เพราะได้จากผักผลไม้สด และอาหารหมักดอง ดังนั้น แทนที่จะติดรสหวาน ขอให้ค่อย ๆ ฝึกให้คุ้นชินกับรสเปรี้ยวทีละน้อย มีสุภาษิตไทยกล่าวว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ข้อนี้นำมาปรับใช้ได้เลย เบื้องต้นเราได้รับรสขม จากผักและสมุนไพรบางประเภทอยู่แล้ว ถัดไปขอให้ “เพิ่มเปรี้ยวเพิ่มประโยชน์” โดยเติมผักผลไม้รสเปรี้ยว และอาหารหมักดองลงไปในแต่ละมื้อด้วย
  5. งดกินอาหารทำลายสุขภาพ
    นายแพทย์ลีโอนาร์ด สมิท ศัลยแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร และสมาชิกกรรมการที่ปรึกษาแพทยสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (Clinical Advisory Board) หนึ่งในแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่คุณดอนน่าคัดสรรมาร่วมงานอธิบายว่า จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร “จำ” อาหารได้เหมือนการอ่านหนังสือ จึงมีปฏิกิริยาตอบสนองกับอาหารแต่ละชนิดอย่างแม่นยำเสมอ และรู้ว่าอาหารชนิดใดมีประโยชน์ อาหารชนิดใดมีโทษต่อสุขภาพ

ดังนั้น เมื่อคนคนนั้นกินอาหารก่อโรคซ้ำ ๆ เช่น อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ อาหารไขมันสูง อาหารหวานจัด เค็มจัด อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป จะทำให้จุลินทรีย์ดีในร่างกายค่อย ๆ ตายและลดจำนวนช้า ๆ

พฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้สมดุลจุลินทรีย์ ในระบบทางเดินอาหารทั้งหมดสูญเสียไป การขับถ่ายย่อมผิดปกติ เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูกบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีกากอาหารตกค้างนานกว่าปกติ เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนปลายของระบบขับถ่ายจะดูดซึมสารพิษตกค้างเข้าไปสะสมอีก

หากไม่ปรับเปลี่ยนอาหาร โดยหันมากินผักผลไม้ ซึ่งกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวตามปกติจะยิ่งมีปัญหาต่อระบบขับถ่ายโดยรวม และในที่สุดเซลล์ที่อยู่ในผนังลำไส้ อาจเกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

เรื่อง สาทิส อินทรกำแหง


บทความอื่นที่น่าสนใจ

ผู้ป่วยมะเร็ง ออกกำลังกายอย่างไรดี ?

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

มหัศจรรย์แห่ง การเดิน แรงกระแทกต่ำ ทำได้ทุกคน

บอกต่อวิธีชะลอวัย 1. เร่งเมแทบอลิซึม 2. เร่งขับพิษ เพื่อสุขภาพดี

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.