4 เทคนิคกิน วิตามินต้านมะเร็ง จากอาหารทั่วๆไป
วิตามินต้านมะเร็ง มีด้วยกันหลากหลายชนิด ที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของร่างกายให้แข็งแรงเพียงพอที่จะต่อสู้กับโรคมะเร็งได้
ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าวิตามินมีผลทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์โดยตรง แต่วิตามินจะทำหน้าที่เป็นกองหนุนร่วมกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ในการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและบรรเทาอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายรังสี
นอกจากนี้ ผลข้างเคียงจากการใช้วิตามินกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยังคงคลุมเครือ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยแต่ละบุคคลมีสภาวะของโรคและความต้องการวิตามินและสารอาหารที่แตกต่างกัน ฉะนั้น ผู้ดูแลและผู้ป่วยโรคมะเร็งควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และปรึกษา แพทย์ประจำตัวก่อนเสริมวิตามิน
มาดูกันดีกว่า ว่ามีวิตามินจำเป็นอะไรบ้างที่ช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็ง
-
วิตามินดี
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Nation Cancer Institute: NCI) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า หลายการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการกินอาหารที่ให้วิตามินดีสูง หรือผู้ที่มีมีระดับวิตามินดีในเลือดสูงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
สอดคล้องกับองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ(International Agency for Research on Cancer: IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่รวบรวมข้อมูลและสรุปรายงานเรื่องวิตามินดีไว้ในปีค.ศ. 2008 ว่า วิตามินดีอาจช่วยลดความเสี่ยงและการพัฒนาของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ไม่มีผลต่อโรคมะเร็งชนิดอื่น เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งเต้านม
แหล่งวิตามินจากธรรมชาติ : โยเกิร์ตและแสงแดดยามเช้า โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรับวิตามินดีจากแสงแดดคือ ตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00 น. – 10.00 น. และตอนเย็นเวลา 16.30 น. – 18.00 น
-
โฟเลต
โฟเลต(Folate) หรือกรดโฟลิก (Folic Acid) คือ วิตามินบีชนิดหนึ่ง โฟเลตพบในอาหารธรรมชาติ ส่วนกรดโฟลิกคือวิตามินที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ง่าย ในระหว่างสร้างเซลล์ใหม่ โฟเลตมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างดีเอ็นเอ (DNA) และซ่อมแซมเซลล์ต่างๆภายในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า หากร่างกายมีระดับของโฟเลตต่ำ อาจทำให้การซ่อมแซมและแบ่งเซลล์ผิดปกติ นำไปสู่โรคมะเร็งและเพิ่มความรุนแรงของโรคได้
สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (The American Cancer Society: ACS) หยิบยกการศึกษาหนึ่ง ที่น่าสนใจ โดยพบว่าผู้หญิงที่กินโฟเลตมากกว่าวันละ 400 ไมโครกรัมมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยกว่าผู้ที่กินโฟเลตน้อยกว่าวันละ 200 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 2 แก้วขึ้นไป หากเสริมโฟเลตจะมีอัตราการเสียชีวิตจาก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง
แหล่งวิตามินจากธรรมชาติ : ผัก ผลไม้ ข้าวแดง ข้าวโพด รำละเอียด ถั่ว เห็ด ยีสต์
-
วิตามินเอ
สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า หลายงานวิจัยพบว่าวิตามินเอสามารถลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งหลายชนิด หากได้รับวิตามินเอพร้อมสารอาหารอื่นซึ่งพบมากในผัก ผลไม้ พืช ตระกูลกะหล่ำ และธัญพืช
สอดคล้องกับ สถาบันการแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกา (The Institute of Medicine) ที่ยืนยันว่า หากต้องการกินวิตามินเอเพื่อป้องกันโรคมะเร็งและเพิ่มภูมิคุ้มกัน ควรกินวิตามินจากอาหารดีกว่า
แหล่งวิตามินจากธรรมชาติ : กล้วย มะละกอสุก ส้มเขียวหวาน มันเทศ มะเขือเทศ แครอท ตำลึง ใบมะขาม ใบมะยมอ่อน
-
วิตามินซี
ผู้ที่กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและมีระดับวิตามินซีในเลือดสูงเสี่ยงเป็น โรคมะเร็งน้อยกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ โดยสถาบันโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นว่า ผักผลไม้ที่มีวิตามินซีและใยอาหารสูง สามารถลดความเสี่ยงต่อการพัฒนาของโรคมะเร็งในหลายอวัยวะ เช่น ปาก หลอดอาหาร กล่องเสียง เต้านม ปอด กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยใหม่จาก The Journal Science Translational Medicine ซึ่งค้นพบว่า การใช้วิตามินซีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด เช่น ยาแพคลิแท็กเซล (Paclitaxel) และยาคาร์โบพลาติน (Carboplatin) สามารถหยุดการเจริญของเซลล์มะเร็งบริเวณรังไข่และลดผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดได้
การทดลองนี้ศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ระยะที่ 3 และ 4 จำนวน 27 คน โดย ทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด มีบางส่วนได้รับวิตามินซีร่วมด้วย หลังจากติดตามผู้ป่วยเป็นเวลา 5 ปี ผลลัพธ์เป็นไปตามความคาดหมาย ผู้ที่ ได้รับวิตามินซีมีอาการข้างเคียงจากเคมีบำบัดน้อยกว่าผู้ที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว
นักวิจัยพบว่า วิตามินซีที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์มีผลหยุดยั้งการเจริญของ เซลล์มะเร็ง แต่ไม่ทำร้ายเซลล์ข้างเคียง ทั้งไม่พบการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นพิษ ต่อเซลล์ ตับ ไต และม้าม
แหล่งวิตามินจากธรรมชาติ : ฝรั่ง ส้ม กล้วย เชอร์รี่ มะเขือเทศ ดอกแค ตำลึง ผักกระเฉด ผักกาดขาว ผักโขม ผักคะน้า ผักกาดหอม พริก กะหล่ำปลี แตงกวา หอมหัวใหญ่
ใครถูกใจก็ลิสต์รายชื่ออาหารที่สนใจไว้ได้เลยค่า
(สนับสนุนข้อมูล : คอลัมน์ชีวจิต+ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 374)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เช็กร่างกาย อาการแบบนี้ต้อง กินวิตามิน อะไรบ้าง