คนทำชั่วได้ดีมีจริงไหม ไขข้อข้องใจ โดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)
ไม่มีแน่นอน และทำดีได้ชั่วก็ไม่มี มันอยู่ที่คำจำกัดความของคำว่า “ดี” ว่าใครพูด
ทุกวันนี้เรานิยามเอาคำว่าดีเป็นรวย เป็นเกียรติ เป็นยศ ยกตัวอย่างเช่น ทำชั่วแล้วทำไมรวย ทำชั่วแล้วทำไมได้ยศ ทำชั่วแล้วทำไมมีเกียรติ แต่จริงๆ แล้วเรานิยามคำว่า “ดี” กันผิด
ต้องถามคนที่ทำนั้นน่ะว่าดีไหม คนอื่นตอบไม่ได้ มีแต่ตัวคนทำเท่านั้นที่จะตอบได้
เขารู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เช่น คนทุจริตคอร์รัปชัน ถ้ายังไม่มีคนจับได้ก็ดูเหมือนภาพดี ต่อเมื่อมีคนจับได้ ความชั่วเกิดปะทุขึ้นมาเหมือนภูเขาไฟระเบิดกลางทะเลน้ำแข็ง เขาก็จะมีปัญหา เกิดโทษ
“ดี” ที่แท้จริงแล้วเป็นความสุข อิ่มใจ รำลึกถึงทีไรก็มีความอิ่มอุ่นกายใจ ใจก็สบาย กายก็สดชื่น
สังเกตดูเวลาที่เรามีความสุข ล้วนแล้วแต่เกิดจากสิ่งเล็กน้อยทั้งสิ้น เช่น จากเพื่อนรักที่เขียนการ์ดมาสองสามบรรทัด ลูกเขียนกลอนมาให้ในวันเกิด พอลูกอ่านให้ฟัง เราจะมีความรู้สึกดีใจ น้ำตาร่วง ดีใจยิ่งกว่าคนเอาของขวัญราคาแพงๆ มาให้ ได้เงินมา ก็สู้ลูกคลานเข้ามากราบเท้าไม่ได้ เพราะทำให้ปลื้มปีติใจ ชื่นใจโดยที่เราไม่คาดคิด
ในสังคมที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เราได้สร้างค่านิยมผิดๆ ขึ้นมา เราตัดสินคำว่าดีด้วยความรวย ด้วยการมีหน้ามีตา ด้วยยศด้วยเกียรติ คุณต้องนั่งรถเบนซ์ คุณต้องมีบ้านหลังใหญ่
เมื่อคนส่วนใหญ่คิดอย่างนี้แล้ว ก็เกิดภาพใหม่ขึ้นมาว่า “ได้ดี” คือได้ทรัพย์สิน มีเงิน ได้ยศ ได้เกียรติ คนดีมีทรัพย์สิน ไม่ใช่คนดีมี “ศีลธรรม” เสียแล้ว
วิธีแก้ไขก็คือ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนให้มาทำความรู้สึกว่า ความดีนั้นไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่ความดีนั้นหมายถึงอารมณ์ในใจ คนไม่ร่ำรวยทำดีก็ต้องได้รับการยกย่อง มีเกียรติในสังคม อารมณ์ที่ดีในใจจะเลี้ยงใจเราได้ ให้อิ่มเอิบ มีเกียรติอยู่ในตัวมันเอง ไม่ต้องให้ใครเชิญไปรับโล่เกียรติคุณ
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)