โขนไทย

คนไทยปลื้มใจ ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “โขนไทย” เป็นมรดกโลก

ข่าวดีส่งท้ายปีของคนไทย ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน “โขนไทย” เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรมของไทยเตรียมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ จัดแสดงทั้งส่วนกลางและภูมิภาค

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล เพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 13 ที่เมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้าร่วม 181 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย ได้เสนอ “การแสดงโขนในประเทศไทย” (Khon masked dance drama in Thailand) ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อที่ประชุมยูเนสโก เพื่อพิจารณาเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 37 จาก 40 รายการ โดยมีนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำทีมคณะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม

โขนไทย

โขนไทย

โขนไทย

โขนไทย

ขั้นตอนการพิจารณาดำเนินไปอย่างลุ้นระทึก คณะกรรมการพิจารณารายการที่แต่ละประเทศเสนอเข้ามา โดยดูข้อมูล และฉายวิดีโอประกอบ เรียงตามลำดับตัวอักษรรายชื่อประเทศ และในที่สุดก็ประกาศรายชื่อรับรอง “การแสดงโขนในประเทศไทย” ให้เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ สร้างความดีใจให้กับตัวแทนประเทศไทยทั้งคณะ นอกจากนั้นยังได้ประกาศรับรอง “ละครโขน” (Lkhon Khol Wat Svay Andet) โขนรูปแบบหนึ่งจากประเทศกัมพูชา เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ที่ต้องได้รับการปกป้องอย่างเร่งด่วนด้วย

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีของคนไทยที่การแสดงโขนได้รับการประกาศขึ้นบัญชีจากยูเนสโก หลังจากนี้จะมีแผนงานจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองโขนตลอดปี 2561-2562 อาทิ

1. จัดแสดงโขนรอบพิเศษ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” วันที่ 3–4 ธ.ค. 2561 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

2. จัดสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสาธิตงานช่างฝีมือโขน สาธิตการแสดงโขน การเสวนาความรู้คุณค่าของโขน จัดพิมพ์หนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับโขนฉบับเยาวชน สารคดีโขน คลังข้อมูลโขนในรูปแบบดิจิทัล

3. จัดกิจกรรมสร้างความภาคภูมิใจด้วยการยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคล องค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน

4. จัดงานมหกรรมการแสดงโขน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

“ส่วนสำคัญในการผลักดัน การแสดงโขนของไทย ให้เข้าร่วมพิจารณาจากยูเนสโก คือ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริมการแสดงโขนในทุกมิติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายเครื่องประดับโขนชุดใหม่ พัฒนาการแต่งหน้าให้งดงามดึงดูดความสนใจ พัฒนาเทคนิคการแสดง ฉากเวที แสง สี เสียง อันเป็นที่มาของโขนพระราชทานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น จึงทำให้โขนไทยยิ่งใหญ่อลังการ สร้างความตื่นตาประทับใจ แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงทำให้การแสดงโขนได้รับการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ และพัฒนา เป็นมรดกของชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งสร้างอัตลักษณ์ไทยในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

“โขน” เป็นนาฏศิลป์และศิลปะชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเอกลักษณ์โดดเด่น รวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกันทั้งนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรมและงานช่างฝีมือต่างๆ โขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีการบรรจุหลักสูตรการเรียน การสอนโขนในสถาบันการศึกษาหลายระดับ นอกจากนั้นยังถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกันในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชาและไทย โดยรับวัฒนธรรมมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่องรามายณะและมีการพัฒนารูปแบบการแสดงในแบบฉบับของตนเองจนเป็นอัตลักษณ์

โขนไทย

โขนไทย

โขนไทย

 

ที่มา  https://mgronline.com/qol/detail/9610000119276

https://www.thairath.co.th/content/1433148


บทความน่าสนใจ

เด็กชายวัย 11 ขวบ ใช้เวลา 79 วันหลังเลิกเรียน วาดผลงานสืบสานหัวโขนไทยให้ยั่งยืน

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.