อุบาสิกา

มาติกมาตา อุบาสิกาผู้บรรลุธรรมก่อนพระภิกษุ

มาติกมาตา อุบาสิกา ผู้บรรลุธรรมก่อนพระภิกษุ

อุบาสิกา หมายถึงผู้หญิงผู้เข้าใกล้พระรัตนตรัย ซึ่งอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนาคือนางสุชาดา บุตรีเศรษฐีผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า (ศึกษาเรื่องราวของนางสุชาดาได้ที่ >>> นางสุชาดา : อุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา) เรื่องที่นำมาฝากต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของอุบาสิกานางหนึ่งในสมัยพุทธกาล ซึ่งสำเร็จมรรคและผลอย่างรวดเร็ว ลองมาหาคำตอบคลายข้อสงสัยนี้กันว่า อุบาสิกานางนี้บรรลุธรรมได้ด้วยวิธีไหน

ครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ในกรุงสาวัตถี ได้ทรงปรารถเรื่องอุบาสิกาบรรลุธรรม เพื่อให้เป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่พระภิกษุทั้งหลายในพระเชตวัน โดยเรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งมีพระภิกษุ 60 รูปเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ในอรรถกถา ธรรมบท ระบุชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “มาติกคาม” เพื่อหาสถานที่จำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน และใช้สถานที่นั้นปฏิบัติกรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนด้วย

พระภิกษุทั้ง 60 รูป เมื่อมาถึงมาติกคาม ได้รับการต้อนรับจากอุบาสิกาที่มีชื่อว่า “มาติกมาตา” (ชื่อเดียวกับหมู่บ้านเลย  ดีไม่ดีหมู่บ้านแห่งนี้อาจเรียกตามชื่อของอุบาสิกาท่านนี้ก็เป็นได้ เพราะมาติกคามมีความหมายว่า บ้าน หรือ  หมู่บ้านของนางมาติกะนั่นเอง) นางมาติกมาตาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก นิมนต์ให้พระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วิหารในหมู่บ้านแห่งนี้ นางรับอาสาจัดเตรียมสถานที่ รวมทั้งเป็นผู้เตรียมอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไว้รับรอง รุ่งเช้าก็เตรียมอาหารสำหรับใส่บาตรไว้ใส่บาตรพระภิกษุทั้ง  60 รูป พอถึงเวลามื้อเพลก็นำอาหารและของขบเคี้ยวไปถวายยังวิหาร และระหว่างที่พระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ นางมาติกมาตาอาราธนาอุโบสถศีลด้วย

พระภิกษุทั้งหลายต่างตกลงกันว่าจะออกไปบิณฑบาตทีละรูป จะไม่ออกพร้อมกันเป็นคณะ เมื่อมาติกมาตาเห็นว่ามีพระภืกษุเข้ามาบิณฑบาตในหมู้บ้านทีละรูปก็ประหลาดใจหลงคิดว่า พระภิกษุทะเลาะกันหรืออย่างไรจึงไม่มาเป็นคณะอย่างที่เคย พระภิกษุรูปหนึ่งจึงตอบอุบาสิกาผู้มีแรงศรัทธาอย่างแรงกล้าว่า “อาตมาไม่ได้ทะเลาะกัน เพียงแต่แยกกันออกบิณฑบาตเท่านั้นเอง เพราะพวกเราแย่งกันปฏิบัติกรรมฐานด้วย”

 

อุบาสิกา

 

นางมาติกมาตาเมื่อได้ยินคำว่ากรรมฐานก็เกิดความสนใจจึงถามพระภิกษุว่า “พระอาจารย์ปฏิบัติกรรมฐานอย่างไรบ้างเจ้าคะ” พระภิกษุตอบว่า “พวกอาตมาต่างพิจารณาอาการ 32 เป็นหลัก” (อาการ 32 ประการเป็นอย่างไร สามารถศึกษาได้ที่ >>> บทพิจารณาอาการ 32 เพื่อการหลุดพ้นและหยุดการปรุงแต่ง) มาติกมาตากล่าวต่อทันทีว่า “ขอพระอาจารย์เมตตาสอนดิฉันบ้างนะเจ้าคะ” จากนั้นอุบาสิกาก็ก้มลงกราบกับพื้น พระภิกษุตอบรับคำว่า “ยินดีเพราะสิ่งนี้พระบรมศาสดามิได้ทรงห้ามเราสอนผู้ใด” จากนั้นมาติกมาตาจึงได้รู้การปฏิบัติกรรมฐานด้วยการเจริญอาการ 32 จนกระทั่งสำเร็จมรรค 3 ผล 3 ซึ่งนางบรรลุธรรมก่อนพระภิกษุทั้ง 60 เสียอีก

มรรค 3 ในที่นี้ไม่ใช่ มรรคมีองค์ 8 แต่หมายถึง มรรค 4 (เส้นทางแห่งพระอริยบุคคล 4 ระดับ) ซึ่งมาติกมาตาได้บรรลุธรรมขั้นอนาคามี (พระอนาคามี) พระอริยบุคคลลำดับที่ 3 ในพระพุทธศาสนา  ส่วนผล 3 หมายถึงการสำเร็จเป็นอริยบุคคลขั้นอนาคามีเช่นกัน จึงสรุปว่า นางมาติกมาตาหลังจากเจริญอาการ 32 แล้วได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ผู้เกิดอีกครั้งก็เป็นพรหม แล้วหลังจากนั้นก็เข้าสู่พระนิพพานทันทีไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

เมื่อมาติกมาตาสำเร็จขั้นพระอนาคามีแล้วได้ใช้ญาณตรวจตราพระภิกษุทั้ง 60 รูป ว่าเวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง พบว่าพระภิกษุยังไม่มีรูปใดสำเร็จมรรคผลเลย นางจึงคอยเข้าไปดูแล ทำความสะอาดให้วิหารมีความสัมปายะ และดูแลเรื่องอาหาร จนกระทั่งพระภิกษุทั้ง 60 รูป สำเร็จอรหัตตผลในที่สุด

ไม่ทราบว่าทำไมมาติกมาตาจึงสำเร็จเพียงพระอนาคามี แต่พอสังเกตได้ว่าฆราวาสในสมัยพุทธกาลมักสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลระดับสูงสุดคืออนาคามีผล เช่น วิสาขเศรษฐี สามีของพระธัมมาทินนาเถรี  สัญชัยเจ้าลัทธิ ผู้เป็นอดีตพระอาจารย์ของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น ซึ่งไม่มีฆราวาสคนไหนสำเร็จอรหัตตผลเลย (สามารถศึกษาเรื่องพระอนาคามีได้จาก >>> พระอนาคามี : พระอริยบุคคลผู้ไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป) ถ้ามีจะหลังจากสำเร็จอรหัตตผลจะบวชทันที เช่น พระนางเถริกาที่สำเร็จอรหัตตผลจากการพิจารณาอาหารที่พระนางปรุง เป็นต้น (สามารถศึกษาเรื่องราวของพระนางเถริกาบรรลุอรหัตตผลได้อย่างไรจาก >>> พระนางเถริกาผู้บรรลุธรรมจากการทำครัว)

 

ที่มา :

อรรถกถา ธรรมบท เรื่อง ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  

www.dhammajak.net

ภาพ :

https://pixabay.com


บทความน่าสนใจ

นางสุชาดา : อุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา

สุมนา เจ้าหญิงผู้ได้สัมผัสพระนิพพาน 

นางปุณณทาสี สงสัยว่าทำไมพระภิกษุไม่ยอมนอน

เจ้าหญิงเชนตา บวชเพราะหนีภัย

เจ้าหญิงกิสาโคตมี อีกหนึ่งสตรีผู้อยู่เบื้องหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.