จิตไม่มีปัญญา

“จิตไม่มีปัญญา ย่อมหลงกลลวงของกิเลส” ธรรมะดี ๆ โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

จิตนี้หลงกลลวงของกิเลสตัณหามานาน และอยู่ในวงล้อมของโมหะอวิชชามาแล้ว และถูกกิเลสคุมเชิงอยู่ตลอดเวลา การคุมเชิงของกิเลสนั้นไม่เหมือนกับการคุมนักโทษในเรือนจำ นักโทษที่เรือนจำย่อมมีกฎบังคับให้อยู่ในขอบเขต ไม่มีอิสระในการไปมา จะกินอยู่หลับนอนต้องอยู่ในการควบคุมดูแล ถูกบังคับด้วยของแข็งอยู่เสมอ และถูกลงโทษในความผิดตามกฎหมาย  (จิตไม่มีปัญญา)

ส่วนจิตที่ตกเข้าไปในท่ามกลางของกิเลสตัณหาอวิชชาแล้ว ย่อมมีความติดใจใฝ่ฝันอยากอยู่ในที่นั้นต่อไป ใครว่านิพพานคือความดับสนิทของกิเลสตัณหาก็ไม่สนใจ นี้ก็เพราะจิตถูกกลอันซึมเซ่อของกิเลสตัณหาฝังอยู่แล้ว

กิเลสตัณหาจะพาทำอะไร จิตก็ยอมรับ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ หรือจิตต้องการในกามคุณ กิเลสก็ส่งเสริมเต็มที่ จิตมีความยินดีรักใคร่ในสิ่งใดที่จะเป็นไปตามกระแสโลก กิเลสก็จะอนุมัติทันที และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือทุกวิถีทาง

ส่วนความดีที่เราจะต้องทำ นับแต่การให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมภาวนา กิเลสก็พยายามขัดขวางเต็มที่ ถ้าไม่มีปัญญาที่ดี ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำความดีได้เลย ถ้าจิตมีปัญญาก็ฝ่าฝืนทำความดีไปได้ แต่กิเลสก็ไม่ยอมปล่อยวาง ถึงความดีนั้นจะพาไปพักผ่อนในสุคติ สวรรค์ พรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง กิเลสก็พลอยติดตามไปด้วย เมื่อถึงเวลา กิเลสก็พามาเกิดเอาภพชาติในโลกนี้ตามเดิม

ส่วนแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ถึงมรรคถึงผล หรือที่สุดคือพระนิพพานนั้น กิเลสย่อมหาวิธีหลอกลวงด้วยกลวิธีต่าง ๆ เอากามคุณมาเป็นเครื่องอ้าง พรรณนาความสุขในกามคุณอย่างหยดย้อยเหนือกว่าน้ำอ้อยน้ำตาล ใช้แผนหว่านล้อมจิตไว้ทุกวิถีทาง พรรณนาความสุขในลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุขในวัตถุสมบัติ ความสุขในภพชาติ ฉลาดในการประเล้าประโลม จนจิตเคลิ้มตามในอารมณ์ที่คมคายของกิเลสตัณหาโดยไม่รู้ตัว จิตที่ไม่มีปัญญาก็ยากที่จะรู้ทัน

ฉะนั้น นักปฏิบัติทุกท่านต้องเบิกทางปัญญาออกให้กว้าง ฝืนการขัดขวางของกิเลสตัณหาอย่างเต็มที่ ดังพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปจากโลกนี้ได้ ก็เพราะมีสติปัญญาที่กล้าหาญ แม้ชีวิตก็อุทิศเพื่อธรรมอย่างจริงจัง

 

ที่มา  ทวนกระแสโลก พบกระแสธรรม โดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Image by Josch13 from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

จิตสงบด้วยการภาวนา “ พุท–โธ ” ธรรมะโดย ส. ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.