ฉันทะในการทำงาน โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เคยพูดถึงเรื่อง ฉันทะในการทำงาน เอาไว้ว่า “ฉันทะ” ในความหมายอย่างง่ายๆ คือ ชอบ มีพระรูปหนึ่งท่านถามคนมาสมัครงานว่า คุณชอบงานนี้ไหม คำว่า “ชอบ” นี้กำกวม ชอบที่เงินเดือนดีจะได้เงินมากๆ ทำงานสบายไม่ต้องหนัก ไม่ต้องเหนื่อย งานก็ง่าย สะดวก ทั้งมีเวลาพักผ่อนแล้วก็เงินเยอะถือว่าเป็นชอบอย่างหนึ่ง
ทีนี้อีกคนหนึ่งตอบว่า “ชอบ” ชอบอย่างไร ก็ชอบงานนี้ว่ามันถูกกับความถนัดความสามารถ ทำแล้วมันมีประโยชน์ช่วยประเทศชาติสังคมได้ เป็นงานที่ดีงามสร้างสรรค์อย่างนั้นอย่างนี้ชอบเพราะว่าอย่างนี้
นี่แหละคำว่า “ชอบ” ในที่นี้มันเป็นคำกำกวมระหว่างตัณหากับฉันทะ ถ้าจะให้ชัดก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจในคำว่าฉันทะให้ชัดขึ้นในสังคมไทย
ถ้าถามว่า เอ้อ งานนี้คุณมีฉันทะไหม ก็หมายความว่ามันถูกกับความถนัดความสามารถ เรามองเห็นคุณค่าประโยชน์ของมันไหม ต้องมองด้วยปัญญา ไม่ใช่ชอบเพียงเพราะว่า มันเงินเดือนดี สบาย ขี้เกียจได้ พักผ่อนเยอะ อย่างนี้ก็อยู่แค่ความรู้สึกเห็นแก่ตัว นี่คือตัณหา
ถ้ามีฉันทะอย่างที่ว่า เราทำงานนี้เรารักงานจริงๆ รักนั้นเพราะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ว่างานนี้เป็นการสร้างสรรค์สังคมแล้วก็พัฒนาประเทศชาติ
ถ้ามันไม่ชัดเจนในเรื่องประโยชน์ทางสังคม ก็ต้องพยายามให้เกิดฉันทะในแง่ที่มองเห็นว่ามีคุณค่าในการพัฒนาตัวเรา เวลาเราเข้าไปทำงานอะไรก็ตาม คุณค่าอย่างหนึ่งของงานนั้นไม่ว่างานอะไรจะชอบหรือไม่ก็ตาม มันจะทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง เช่น ยิ่งงานยากเราก็ยิ่งได้พัฒนาตัวมาก คือได้ฝึกตนได้พัฒนาสติปัญญาและความสามารถต่างๆ
เพราะฉะนั้นถ้าคนมีฉันทะพอปลุกฉันทะได้ดีแล้วมีความใฝ่ฝึก ใฝ่ศึกษา ตอนนี้แหละจะชอบแม้แต่สิ่งที่ยาก เข้าคติที่ว่า “ยิ่งยากยิ่งได้มาก” จริงไหมล่ะ ยิ่งงานยากเราก็ยิ่งได้มาก คือได้พัฒนาตัวเองมากกว่างานนั้นจะเสร็จ กว่างานนั้นจะเดินไปได้ดี เราก็ได้พัฒนาตัวเองไปมากมาย
ถ้างานที่เราทำอยู่นั้นเรามองไม่เห็นคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติ แต่เราจำเป็นต้องทำงาน ก็สร้างฉันทะขึ้นมาในแง่ที่ว่ามันจะทำให้เราได้พัฒนาชีวิตของเรา เพราะว่างานนั้นมีความหมายอย่างหนึ่งก็คือเป็นแดนพัฒนาชีวิตของเรา
งานนี้กินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเรา เช่น วันละ 8 ชั่วโมง คือเข้าไป 1 ใน 3 ของวัน เหลืออีก 16 ชั่วโมง ก็นั่งบ้าง เดินทางบ้าง หมดไปอีกเยอะ เพราะฉะนั้นเราจะเอาอะไรก็ต้องเอากับเวลา 8 ชั่วโมงนี้อย่าให้เสียเปล่า ถ้าไปมัวทุกข์ฝืนใจกับงานนี้ เราก็แย่เสียไปวันละ 8 ชั่วโมงเปล่าๆ และชีวิตเราก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ด้วย
เพราะฉะนั้นเราก็รีบสร้างฉันทะขึ้นมาให้เห็นคุณค่าที่จะรักงานขึ้นมาให้ได้ เราก็บอกตัวเองว่างานนี้เราทำไปเถอะนะ เราจะได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะ พัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา พัฒนาปัญญา พัฒนาจิตใจให้มีความอดทน ให้มีความเพียร ให้รู้จักควบคุมตน ให้มีสติ มีสมาธิ เป็นต้น งานทุกอย่างใช้พัฒนาตัวเราได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็ได้พัฒนาตัวเอง
ถ้ามีฉันทะอย่างนี้ทำงานก็จะมีความหมายและมีความสุขมากขึ้น
อ้างอิง
หนังสือ “ความสุข ทุกแง่ทุกมุม” โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
Image by Free-Photos on Pixabay
บทความที่น่าสนใจ
ปัญหาธรรมประจำวันนี้: อายุก็เริ่มมากแล้ว ไม่มีเป้าหมายชีวิต ควรทำอย่างไรดี
Q: เราจะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ โดยไม่ทุกข์ ไม่เครียด หรือไม่กังวล