ให้อภัย

“ให้” อะไรก็ไม่ดีเท่า “ให้อภัย” – มาร์ก๊อต แวน สลอยท์แมน ผู้ให้อภัยฆาตกรสังหารพ่อของเธอ

“ให้” อะไรก็ไม่ดีเท่า “ให้อภัย”

การ ให้อภัย คือการเยียวยา

เมื่อมาร์ก๊อต แวน สลอยท์แมน (Margot Van Sluytman) อายุ 8 ขวบ พ่อและแม่ของเธอได้ย้ายจากประเทศกายอานามาตั้งรกรากในแคนาดา เพื่อให้ลูก ๆ ทั้งสามได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยกว่า

ต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 1978 ขณะมาร์ก๊อตอายุ 16 ปี พ่อของเธอถูกยิงตายในเหตุการณ์ปล้นห้างฮัดสันเบย์สโตร์ซึ่งพ่อของเธอทำงานอยู่ที่นั่น

มาร์ก๊อต พี่ชายและพี่สาว รวมทั้งแม่ของเธอหัวใจแตกสลาย สามวันหลังการเสียชีวิต มีนักข่าวมาที่บ้านและถามแม่ของเธอว่า สามารถให้อภัย เกล็น เฟล็ทท์ คนที่ยิงสามีของคุณได้ไหม แม่ของเธอตอบอย่างไม่ลังเลว่า ได้สิ ฉันให้อภัยเขาเพื่อให้ฉันมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

แต่มาร์ก๊อตทำใจไม่ได้ หลังจากพ่อจากไปได้สามเดือนเธอก็ย้ายออกจากบ้าน เพราะต้องการอยู่คนเดียวกับความโศกเศร้า มาร์ก๊อตกินยาฆ่าตัวตายตอนอายุ 18 แม่ของเธอมาหาและบอกว่า แม่เสียพ่อของลูกไปแล้ว แม่เสียลูกไปอีกไม่ได้ มาร์ก๊อตจึงเลิกคิดฆ่าตัวตาย

ต่อมาเธอป่วยเป็นโรคบูลิเมีย ซึ่งเป็นช่วงที่มาร์ก๊อตรู้สึกเคว้งคว้างเหมือนคนไร้ชีวิตจิตใจ แต่เธอก็ยังเอาตัวรอด สามารถเรียนจบเกียรตินิยมด้านภาษาอังกฤษและปรัชญา เธอแต่งงานมีลูกสองคน ไม่นานก็หย่าขาดจากสามี  ลูก ๆ คือเหตุผลที่ทำให้เธอมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้ว่ายังจมปลักอยู่กับความเจ็บปวด

มาร์ก๊อตรักบทกวี เธอพิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่ม เล่มที่ได้รับรางวัลจาก National Association of Poetry Therapy ในอเมริกา  ชื่อเรื่อง  Dance With Your Healing: Tears Let Me Begin to Speak  ซึ่งช่วยให้เธอรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมาอีกครั้ง

หลังจากได้รับรางวัลไม่นาน มาร์ก๊อตก็ได้รับเงินบริจาคจากผู้หญิงที่เธอไม่รู้จัก เมื่อเห็นชื่อนามสกุล เธอจำได้ว่าคือภรรยาของเกล็น เฟล็ทท์ คนที่สังหารพ่อของเธอนั่นเอง

 

ให้อภัย
มาร์ก๊อตกับเกล็น เฟล็ทท์

 

มาร์ก๊อตส่งอีเมล์ไปขอบคุณสำหรับเงินบริจาค และถามว่าเกล็นจะมาขอโทษเธอไหม ก็ได้รับอีเมล์ตอบกลับมาทันทีว่า หลังจากติดคุก 14 ปี เขาพ้นโทษและรอมาขอโทษมาร์ก๊อตมานานแล้ว นับแต่นั้นมา เกล็นและมาร์ก๊อตก็ติดต่อกันทางอีเมล์มาตลอดด้วยเนื้อหาให้กำลังใจ ข้อความของเกล็นช่วยเยียวยามาร์ก๊อต สามเดือนต่อมา มาร์ก๊อตจึงนัดพบชายผู้ฆ่าพ่อของเธอ

เมื่อพบหน้ากัน ทั้งคู่สะอื้นไห้และสวมกอดกัน ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มนึกถึงการให้อภัย มาร์ก๊อตรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เธอรู้สึกว่าตัวเองเติมเต็มและมีความสุขสงบมากขึ้น มุมมืดในตัวเธอพลันมีสีสัน การให้อภัยคือกระบวนการเยียวยาของเธอ

 

ครอบครัวมาร์ก๊อต แวน สลอยท์แมน

 

ปัจจุบันเกล็นและมาร์ก๊อตยังติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน เขาช่วยงาน  Sawbonna Project ซึ่งมาร์ก๊อตเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ เป็นโครงการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  (restorative justice) มุ่งฟื้นฟูและเยียวยาความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายที่สูญเสียเพราะอาชญากรรมหรือการกระทำความผิด

นอกจากนั้นมาร์ก๊อตยังสอนการเขียนเพื่อการรักษา เป็นการให้ความรู้รายบุคคลถึงวิธีการเขียนเพื่อเยียวยาและเปลี่ยนแปลงตัวเอง เธอได้รับเชิญจากทั่วอเมริกาเหนือให้ไปพูดถึงความสำคัญของบทกวีและการเล่าเรื่อง การเยียวยาและการให้อภัย รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์


เรื่อง ชนาฉัตร

ขอบคุณภาพจาก : www.thesun.co.uk

แหล่งที่มา : คอลัมน์ Inspiration นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 212


บทความน่าสนใจ

ชายผู้ไม่เคยหมด แรงบันดาลใจ โอม ชาตรี คงสุวรรณ

อานุภาพของ การให้อภัย เรื่องราวมหัศจรรย์จากผู้อ่าน

7 ขั้นตอนเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัดให้อภัย

เมื่อผมให้ความไม่โกรธ นั่นคือ “อภัยทาน”

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.