หยุดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
คำถาม
(สืบเนื่องจากคำถามของตอนที่แล้ว ที่ถามว่า…) มีเนื้องอกในลำไส้ ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่มีความกังวลมากค่ะ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรดี ตอนนี้พยายามกินผักผลไม้ให้มากขึ้นอยู่ค่ะ
บ.ก.ขอตอบคำถามให้
ตอนที่แล้ว บ.ก. เล่าถึง 3 ประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่หายจากโรค ด้วยการกินผักผลไม้ เพื่อให้กำลังใจผู้ที่กำลังป่วย หรือกำลังกังวลกับความผิดปกติบางอย่างของตนเอง แต่ถึงอย่างนั้น เชื่อว่ากำลังใจอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องให้ข้อมูลความรู้ เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกับคนที่กำลังดำเนินชีวิตด้วยความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อมูลจากนิตยสารชีวจิต ปี 2552 คอลัมน์รายงานพิเศษ ซึ่งเราไปสัมภาษณ์พลตรี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ท่านกล่าวว่า
“มะเร็งลำไส้ใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมของตัวเอง ส่วนน้อยเท่านั้นที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ดังนั้นถ้าใครเป็นโรคนี้อย่าโทษพ่อโทษแม่ คุณทำตัวเองทั้งนั้น โดยส่วนที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์จะมีลักษณะพิเศษคือ จะพบการเกิดโรคในคนอายุต่ำกว่า 50 ปี
“โดยเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ แล้วเยื่อบุนี้สัมผัสกับอะไร ก็สัมผัสกับอุจจาระ โดยอุจจาระจะเคลื่อนผ่านมาตามลำไส้ใหญ่ และมาเก็บสะสมอยู่ที่ไส้ตรงดังนั้นถ้าวันหนึ่งเราอุจจาระหนึ่งครั้งเยื่อบุลำไส้ใหญ่เราจะสัมผัสกับอุจจาระ 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นถ้าเรากินอาหารผิด เยื่อบุจึงได้รับพิษไปตรงๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค”
ส่วนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ มาจาก…
- กินผักน้อย หรือกินผักปนเปื้อนยาฆ่าแมลง
คุณหมอเล่าว่า “การกินผักน้อยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราท้องผูก เพราะในผักมีเส้นใยอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำ ทำให้อุจจาระนิ่ม ทำให้เราถ่ายอุจจาระทุกวันอีกประการสำคัญคือ เส้นใยอาหารจะช่วยดูดสารพิษ ร่างกายจึงไม่มีสารพิษตกค้าง เพราะถูกขับออกไปกับอุจจาระ
“นอกจากนี้ผักที่กินต้องเป็นผักปลอดสารพิษด้วย เพราะถ้าเป็นผักที่มียาฆ่าแมลงตกค้างก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน ผมเคยพบคนไข้ที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทั้งหมู่บ้านไม่ได้กินเนื้อสัตว์อะไรเลย กินแต่ผัก เพียงแต่เขาระดมใช้สารเคมีกับผักที่ปลูกมากเกินจำเป็น”
กินไขมันมากเกินไป
“กินอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้ร่างกายหลั่งกรดน้ำดีออกมามาก พบว่าเมื่อกรดนี้สัมผัสกับเยื่อบลำไส้ใหญ่แล้วทำให้เยื่อบุลำไส้ใหญ่มีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ แต่ไม่ได้หมายถึงให้คุณไม่กินไขมันเลย ต้องกินอย่างพอเหมาะ”
- กินยาถ่ายผิดวิธี
“นอกจากนี้การกินยาระบายก็เป็นอันตราย ซึ่งเราต้องเลือกกิน โดยเราแบ่งยาระบายเป็น 2 ชนิด คือ ยาระบายธรรมชาติ ลักษณะเป็นผงละลายน้ำ ซึ่งคือไฟเบอร์ที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มกากใยฉะนั้นชนิดนี้ไม่เป็นอันตราย
“สองคือ ยาระบายที่สร้างความระคายเคืองแก่ลำไส้ ลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ชนิดนี้กินแล้วจะติดในระยะยาวจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุลำไส้ใหญ่ และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้าย เพราะลำไส้เกิดการระคายเคืองอยู่เป็นสิบๆ ปี” คุณหมอกล่าวไว้ในบทความดังกล่าว
วิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ใช้วิธีการตรวจคัดกรอง คุณหมอปริญญาเล่าว่า การตรวจคัดกรองที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การส่องกล้องตรวจตลอดความยาวลำไส้ใหญ่ จะทำให้เราเห็นติ่งเนื้อ ซึ่งติ่งเนื้อนี้จะค่อยๆ โต โดยติ่งเนื้อหนึ่งเซนติเมตรจะใช้เวลากว่าสิบปีในการพัฒนาเป็นมะเร็ง โดยคนปกติจะเริ่มเกิดติ่งเนื้อที่อายุ 40 ปี ยกเว้นคนที่มีกรรมพันธุ์ผิดปกติ
โดยการส่องกล้องนี้ ควรเริ่มตรวจเมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยกเว้นในรายที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วย ซึ่งควรเริ่มที่อายุ 40 ปี เพราะหากพบติ่งเนื้อ แพทย์จะตัดออกให้ เป็นการตัดวงจรการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
นอกจากนี้ ยังมีการคัดกรองด้วยการตรวจอุจจาระ เพื่อหาเลือดแฝงที่ปนมากับอุจจาระ ซึ่งมักเป็นวิธีที่คุณหมอแนะนำก่อนการส่องกล้อง
- ปรับพฤติกรรมการกินอยู่ โดยลดการกินเนื้อสัตว์ และกินผักหรืออาหารที่มีไฟเบอร์เพิ่มขึ้น อีกทั้งวิธีที่สำคัญที่คุณหมอแนะนำคือ การออกกำลังกาย “การออกกำลังกายเพื่อบริหารลำไส้ใหญ่มีความสำคัญ และมีวิธีที่แตกต่างจากการออกกำลังหัวใจ โดยจะต้องออกกำลังกายหนักจนถึงขนาดเรอหรือผายลมออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลำไส้ใหญ่เกิดการขยับตัวแล้ว จะด้วยวิธีไหนก็ได้ เช่น วิ่ง รำกระบองแบบชีวจิต แอโรบิก แต่ขอให้หนักและเหนื่อยจนเรอหรือผายลมออกมา”
อย่าลืมนะคะ มีข้อสงสัย อินบ็อกซ์เข้ามา บ.ก.ขอหาคำตอบให้ค่ะ