เช็คด่วน 5 อาการโรคจิตหลงผิด ก่อนหลงเชื่อคนผิด

เช็คด่วน 5 อาการโรคจิตหลงผิด ก่อนหลงเชื่อคนผิด

ผู้ป่วยทางจิต

ผู้ป่วยทางจิต หรือมีอาการทางจิตที่เราพบได้ทั่วๆ ไปและมีอาการชัดเจนนั้นป่วยเป็น โรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งเป็นโรคจิตที่พบบ่อยที่สุด

แต่ยังมีโรคจิตอีกประเภทหนึ่งที่คนทั่วๆ ไปไม่ค่อยคุ้นเคย นั่นคือ โรคจิตหลงผิด (DelusionalDisorder) นพ.อนันต์ ธนาประเสริฐกรณ์ อธิบายว่า คนที่ป่วยเป็นโรคจิตหลงผิดนั้น ดูผิวเผินก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไป มีชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัวเหมือนคนอื่นๆ ไม่มีลักษณะที่ดูแปลกประหลาด พูดคุยกันปกติ ดังนั้นจึงไม่ค่อยทราบว่าคนที่เรารู้จักกำลังป่วยอยู่หรือไม่

แต่ถ้าได้พูดคุยกันในรายละเอียดของความคิดจะเริ่มพบว่า มีลักษณะความคิดที่หลงผิดเป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกันเป็นฉาก มีเหตุผล หลักฐานประกอบและในเรื่องที่หลงผิดก็มักจะมีการแสดงออกของอารมณ์ในเรื่องที่เชื่อนั้นด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาดูเหตุผลที่นำมาเชื่อมโยง มักจะเป็นอะไรที่เล็กน้อยมากๆ เช่น กินอาหารแล้วรสชาติเปลี่ยนไป อะไรทำนองนี้จะถูกเอามาเรียบเรียงให้ดูเป็นเรื่องราวตามความเชื่อของตนเอง

ส่วนเรื่องราวที่ระแวงหรือหลงผิดมักจะอยู่ใน5 ประเภทนี้ คือ

ผู้ป่วยทางจิต

1.หลงผิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักตนเอง (Erotomanic  Type)

โดยบุคคลนั้นมักจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญหรือมีชื่อเสียง ตัวอย่างเช่น คนที่ลอบสังหารประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ก็ทำไปเพื่อสร้างความประทับใจแก่นักเทนนิสสาวที่ตนเองชื่นชอบหรือพวกผมเองสมัยเป็นนักเรียนแพทย์ก็เคยมีผู้ป่วยมาแอบดักรอพบทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นหอพักบนหอผู้ป่วย โรงอาหาร และรู้เบอร์โทรศัพท์หมดไม่ว่ามือถือ ที่บ้าน ที่ทำงาน บางคนแอบถ่ายรูปเก็บเอาไว้ชุดใหญ่ น่ากลัวมาก

2. เชื่อว่าตนเองมีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น (Grandiose  Type)

เช่น มีญาณหยั่งรู้ หูทิพย์ ตาทิพย์หรือคิดว่าตนเองเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ เช่น เป็นพระพุทธเจ้า เป็นลูกนายกฯ เป็นเชื้อสายเจ้านาย ฯลฯ

3.หลงผิดว่าคู่ครองของตนเองนอกใจ (Jealous  Type)

โดยไม่ยอมระบุเหตุผล บอกอยู่คำเดียวว่า…ชัวร์

4.ระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง (Persecutory  Type)

หรือถูกสะกดรอย วางยาพิษ ชนิดนี้พบได้บ่อยที่สุด และที่น่าสังเกตคือ อายุจะบ่งบอกเรื่องราว เช่น ถ้าเป็นคนแก่อย่างอาม่า อากง ก็จะบอกว่ามีทหารขี่ม้าคอยจะเอาธนูมายิง มาแพร่พิษแต่ถ้าเป็นคนยุคใหม่ๆ อาจจะบอกว่ามีองค์กรลับหรือมนุษย์ต่างดาวส่งคลื่นพลังงานมารบกวน

5.หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง (Somatic  Type)

เช่น คิดว่ามีลูกจระเข้อยู่ในท้อง หมอบอกอย่างไรก็ไม่เชื่อ จนต้องทำการเอกซเรย์และต้องระบุว่าไม่พบจระเข้ คนไข้ก็ยังไม่ยอมเชื่อ ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า ต้องใช้วิธีการคุยโดยใช้คำถามที่ค่อนข้างเฉพาะ จึงจะทำให้เห็นลักษณะความคิดที่หลงผิดได้

ส่วนสาเหตุนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่จะพบบ่อยในคนที่มีการเลี้ยงดูในช่วงต้นของชีวิตในลักษณะที่ทำให้ขาดความไว้วางใจต่อโลกภายนอกไวต่อท่าทีผู้อื่นเมื่อตกอยู่ในภาวะเครียดหรือกดดันทำให้ใช้กลไกทางจิตในระบบเอาความคิดของตัวเองไปใส่คนอื่น โทษคนอื่นว่าทำให้ตัวเองไม่มีความสุข

บางกรณีเกิดในกลุ่มผู้อพยพ ฐานะต่ำ ต้องพบความกดดันทางสังคม

บางกรณีพบร่วมกับความผิดปกติของสมองซีกซ้ายหรือลมชัก

วิธีแก้ไขโรคจิตหลงผิด

นายแพทย์อนันต์กล่าวว่า ในการรักษาจะเน้นที่ความสัมพันธ์ คือ รับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่โต้แย้งแต่ไม่เข้าข้าง จุดประสงค์คือ ให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความคิดให้ยืดหยุ่นพอที่จะอยู่ในสังคมได้ บางรายต้องรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยมั่นใจได้ โดยไม่ต้องเดาเอาเอง และป้องกันการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น

นอกจากนี้ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งได้แก่ การรับยากิน ส่วนใหญ่หายขาด กลับมาใช้ชีวิตตามปกติบางส่วนอาจจะระแวงบ้าง แต่พอปรับตัวจึงปล่อยวางได้บ้าง

โรคนี้เป็นโรคที่รักษาแล้วอาการค่อนข้างดีขึ้นถึงดีมาก แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแล ก็อาจจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดหรืออาจถึงชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ถ้าสำรวจตัวเองดูแล้ว ไม่เป็นคนยึดมั่นในความคิดตัวเองมากนัก แก้ปัญหาชีวิตของตนเองด้วยตนเอง ไม่โทษคนอื่น ไม่หวังพึ่งพิงอะไรที่วิเศษไปกว่าความสามารถธรรมดาๆ ของมนุษย์

แต่กรณีที่น่าห่วงคือ การที่คนหรือกลุ่มคนให้การสนับสนุนความคิดที่หลงผิด เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง

 

ข้อมูลจาก คอลัมน์ดีท็อกซ์หัวใจ นิตยสารชีวจิด

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.