เมื่อรู้สึกหดหู่ใจ จาก “ความคิด” ที่ทำให้เป็นไป
ความรู้สึกห่อเหี่ยวใจ หดหู่ใจ อยู่ๆ ก็เดินเข้ามาเคาะถึงหน้าบ้าน ถ้าเลือกได้ทุกคนก็คงอยากมีชีวิตที่สนุกสนานไม่มีอะไรให้ต้องเครียดหรือวิตกกังวล แต่สภาพการณ์ปัจจุบันที่แต่ละคนต่างต้องแบกรับปัญหาเอาไว้ ก็ช่วยไม่ได้ที่ ความรู้สึกหดหู่ใจ จะก่อตัวขึ้นมาในมุมหนึ่งมุมใดในความคิด ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจตัวเราเองก่อนว่าทุกคนไม่ได้เพอร์เฟ็ค หรือจำเป็นต้องชอบชีวิตของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะเราก็เป็นเพียงคนธรรมดาๆ คนนึงที่ทุกข์ เศร้า เหงา ก็เป็น
อย่างที่พระเฮมิน พระภิกษุชาวเกาหลีใต้ได้บอกไว้ในหนังสือ จงรักในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง เพื่อให้เราทุกคนรักตัวเอง แม้เราจะไม่สมบูรณ์แบบ ท่านพูดถึงความหดหู่ใจว่า ความรู้สึกนี้มักแวะมาเยี่ยมเราในเวลาที่ผิดหวัง เวลาที่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีทั้งๆ ที่พยายามถึงที่สุด เวลาที่คนอื่นพูดถึงเราในแง่ร้ายหรือต่างไปจากความเป็นจริง ฯลฯ
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ความหดหู่ใจเกิดขึ้นและไม่ยอมหายไปไหน เพราะความคิดซ้ำๆ ของตัวเราเอง เรื่องที่เรายังคิดวนเวียน ถ้าคิดในแง่ร้ายก็จะรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าเราไม่เติมเชื้อไฟลงไป เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกหดหู่ใจก็จะมอดดับไปพร้อมความคิด ดังนั้นถ้าเราอยากจะเข้าใจความรู้สึกหดหู่ เราก็ต้องเข้าใจ “ความคิด” ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้เสียก่อน
ความคิดเป็นสิ่งที่ใจของเราสร้างขึ้น เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกตัวเรา มีคนบอกว่า วันหนึ่งคนเราคิดบ่อยถึง 170,000 ครั้ง แต่ปัญหาคือคนเราไม่สามารถรู้ความคิดเหล่านั้นได้ทัน จมอยู่ในความคิด และใจของเราก็ถูกลากไปมาตามความคิดนั้น กล่าวคือ แม้จะเป็นความคิดที่ใจของเราสร้างขึ้นเอง แต่แทนที่ใจจะเป็นนาย กลับกลายเป็นความคิดที่เป็นนาย ยิ่งไปกว่านั้นส่วนใหญ่ความคิดต่างๆ จะมาๆ ไปๆ อยู่ในจิตไร้สำนึก ทำให้เราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าความคิดนั้นเป็นความจริงหรือเป็นแค่ความคิดเห็นจากมุมมองของเรากัน
เมื่อความคิดที่ทำให้เกิดความหดหู่ใจเกิดขึ้นแล้ว เราจะมีวิธีจัดการกับใจอย่างไรดี ลองมาดูวิธีคิด 3 แบบที่พระเฮมินแนะนำเอาไว้กัน
1.ถ้ามีความคิดที่หดหู่ใจเกิดขึ้นมาให้คิดว่าเป็นแค่เมฆความคิดก้อนหนึ่งที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดทั้งมวลของชีวิตเรา ปัญหาทางใจส่วนใหญ่เกิดเพราะเราคิดว่าความคิดกับเราเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ความคิดนั้นเดิมเกิดขึ้นและหายไปเองตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ถ้าเราถอยหลังมาหนึ่งก้าวและไม่คิดว่ามันสำคัญอะไร ความคิดนั้นจะไม่ต่อเนื่องไป ไม่นานเชื้อเพลิงก็จะหมดลง แต่ถ้าถือว่าความคิดกับเราเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วเราก็จะยึดติดกับมัน และจมลงในบึงของความหดหู่ใจ
2.ถ้าสาเหตุที่เราหดหู่ใจเป็นเพราะคำพูดของคนอื่นที่ไม่รู้จักเราดีพอ ก็ขอให้คิดว่าความจริงแล้วนั่นเป็นการพูดถึงสภาพจิตใจของตัวเขาเองที่พาดพิงเราอยู่ต่างหาก ดังนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทุกข์โดยเอาปัญหาด้านสภาพจิตใจของของคนอื่นมาเป็นปัญหาของเรา
3.ต้องจำไว้ว่าความคิดส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่มาจากกรอบประสบการณ์ของเรา ซึ่งมีข้อจำกัด ความคิดเหล่านั้นไม่ใช่ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไป มันก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ถ้าในใจเรากำลังวิจารณ์เกี่ยวกับตัวเองโดยใช้ความคิดในอดีตจนทำให้เชื่อมั่นในตัวเองน้อยลง ก็อย่าไปใส่ใจกับมัน แต่ให้เอาใจของเรามาอยู่กับปัจจุบันแล้วหยุดพักสักครู่ ยิ่งถ้ากลับมาอยู่ที่ลมหายใจได้จะดีมาก เพราะลมหายใจนั้นอยู่กับปัจจุบันเสมอ
ถ้ารู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกก็จะทำให้เราสบายใจขึ้น ร่างกายและอารมณ์ก็จะดีขึ้น และเมื่อใจอยู่กับปัจจุบันเราก็จะไม่คิด ไม่อย่างนั้นก็ขอให้ลองหายใจเข้าออกลึกๆ ประมาณ 3 นาที ใจที่หดหู่ของเราก็จะบรรเทาลง
ขอบคุณข้อมูลจาก
จงรักในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความที่น่าสนใจ