ปิดวาจา

ปัญหาธรรมประจำวันนี้: การ ปิดวาจา ขณะปฏิบัติธรรม คืออะไร

การ ปิดวาจา ขณะปฏิบัติธรรม คืออะไร

การ ปิดวาจา ก็คืองดพูด เพราะว่าพูดแล้วอาจเกิดปัญหา คนเราเวลาพูดกันไม่ได้คุยกันแต่เรื่องของสองคน มักจะพาดพิงถึงคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของเรา ถือเป็นการส่งจิตออก

คำถาม : ตอนไปปฏิบัติธรรมมีกฎให้ปิดวาจา อยากทราบความหมายของคำว่าปิดวาจา หมายถึงไม่พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ไม่น่าจะหมายความว่าห้ามพูดโดยเด็ดขาด ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือไม่คะ

พระอาจารย์มานพ อุปสโม พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา ตอบคำถามนี้ว่า

ปิดก็คือไม่เปิด ปิดวาจาก็คืองดพูด เพราะว่าพูดแล้วอาจเกิดปัญหา คนเราเวลาพูดกันไม่ได้คุยกันแต่เรื่องของสองคน มักจะพาดพิงถึงคนอื่น เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถือเป็นการส่งจิตออก ทำให้จิตว้าวุ่น ขณะเดียวกันคนสองคนคุยกันก็มีปัญหาได้ คือชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง การคุยกันจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการกระทำความเพียร จึงควรงดคุย คนสองคนก็ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน

แต่จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญการงดพูดโดยเด็ดขาด สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ มีพระสงฆ์ไปจำพรรษาร่วมกันหลายรูปในป่าโดยตั้งกติกาไม่คุยกัน ยกเว้นกรณีที่อุบาสกอุบาสิกาถาม เมื่อไปบิณฑบาต พระจะอมน้ำ ถ้าโยมไม่ถามก็จะอมอยู่อย่างนั้น ถ้าโยมถามก็กลืนน้ำแล้วตอบ เมื่อถึงวันพระพระก็จะมาพบกันครั้งหนึ่ง แต่ผลคือ มีพระรูปหนึ่งหาย ก็สอบถามกันว่าไปไหนได้คำตอบว่าพระรูปนั้นถูกเสือกิน แต่ตั้งกติกาปิดวาจา จึงไม่ได้บอกกัน ดังนั้นการจำพรรษาด้วยกันแล้วไม่พูดกัน บางครั้งก็ทำให้เกิดโทษได้ จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าควรพูดเวลาใด

มองไปในตัว  จิตก็ไม่ไปที่อื่นแล้ว  อย่าทิ้งการมองดูตัวเราเอง  มองดูตัวเอง  จิตก็อยู่ในตัว  หยุดมองดูตัวเอง จิตก็ไปข้างนอก  แล้วเราก็ห้ามไม่ได้  แต่เราสามารถสกัดได้ โดยการเข้ามามองภายใน  ก็จะเริ่มเห็นความเป็นจริง  ก็ให้ตั้งใจดู  แล้วจิตก็จะไม่เตลิดไปไกล  ในขณะเดินจงกรม  ให้เราเดินไปด้วย  ดูความรู้สึกไปด้วย  ฝึกดูความคิดบ่อย ๆ จิตก็จะไม่ส่งออก  ไม่ทุรนทุราย  ไม่ซัดส่าย

“มีปากแล้วไม่พูดก็เหมือนคนใบ้” คำพูดประโยคนี้บังเอิญลอยมากระทบโสตประสาท ขณะเดินผ่านผู้หญิงสองคนที่กำลังนั่งคุยกันในวัดแห่งหนึ่งที่ครูไปเข้ากรรมฐาน และครูอาจเป็นคนเดียวในหมู่คนที่นั่นที่ปิดวาจา เลยดูเป็นของแปลกสำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติอย่างนี้ เขาคงไม่ชินกับอาการของคนที่ไม่มองหน้าใคร ไม่พูดกับใคร เพราะในวิถีโลกคนเราต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ต้องยิ้มแย้มทักทายกัน บางคนเคยถามว่าไม่อึดอัดเหรอ ไม่พูดเป็นเดือน ๆ (ตอนเข้าพรรษา) บางคนถามว่า การปิดวาจามีผลอย่างไรกับการปฏิบัติธรรม บางคนถามว่าการปิดวาจามีผลต่อการเดินจงกรมและนั่งสมาธิไหม

การสำรวมอินทรีย์ หรือการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่นักปฏิบัติภาวนาต้องมี เพราะเมื่อใดที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรสกายรับสัมผัสหรือเคลื่อนไหว จิตจะเกิดอาการกระเพื่อมไหว การสำรวมอินทรีย์จะช่วยให้จิตทำงานน้อยลง เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ได้มากขึ้นและง่ายขึ้น กายที่สงบสำรวมจะช่วยให้จิตสงบได้ง่ายขึ้น

การปิดวาจาในระหว่างเข้ากรรมฐานภาวนาจึงมีประโยชน์เกื้อกูลต่อการปฏิบัติอย่างมาก ดังนี้

1. ทำให้มรรคข้อสัมมาวาจาสมบูรณ์ไม่ด่างพร้อย

2. ไม่เสียพลังของสติและสมาธิในการระวังไม่ให้พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ พูดเท็จ  พูดโปรยประโยชน์

3. เป็นการบำเพ็ญขันติบารมี อดทนอดกลั้นต่อความเคยชินในการพูดทุกอย่างที่คิด อดทนอดกลั้นต่อท่าทีของหมู่คณะที่ไม่มีความเข้าใจในมรรคปฏิบัติ

4. ทำให้ไม่ต้องคลุกคลีกับหมู่คณะในวิถีธรรมการเข้ากรรมฐาน  คือเรากำลังไปเรียนรู้ธรรมชาติของกายและใจ จึงควรใช้เวลาในการรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้แจ่มกระจ่าง

5. ทำให้การภาวนาต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้การภาวนาเกิดมรรคเกิดผล เพราะการภาวนาเป็นการสร้างวิถีจิตใหม่โดยให้จิตเสพอารมณ์ที่เป็นกุศล จดจ่ออยู่กับคำบริกรรมซึ่งในการนี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร

6. ทำให้เห็นความคิดได้ชัดเจนขึ้น เรียนรู้ธรรมชาติของจิตได้ง่ายขึ้น กายเงียบแต่จิตที่ยังไม่ได้ฝึกไม่เคยเงียบ คำพูดเพียงประโยคเดียวสามารถวนเวียนเข้ามาในหัวได้วันละหลาย ๆ รอบ ถ้าเรามีสติดีเราจะเห็นแล้วลองนึกดูว่า ถ้ามีการพูดคุยกันอย่างปกติจะมีคำพูดเบียดอยู่ในหัวของเราเท่าไหร่ แล้วเราก็จะหลงเพลินไปกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากความคิดเหล่านั้น

7. หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันในหมู่คนที่มาจากต่างถิ่นต่างที่

8. ทำให้ไม่เผลอใช้มิจฉาวาจาไปสร้างวจีกรรมล่วงเกินผู้ปฏิบัติดีคนอื่น อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในการภาวนา

 


บทความน่าสนใจ

รวม 3 สถาน ปฏิบัติธรรม ในกรุงเทพฯ

รวม 3 สถานปฏิบัติธรรม เจริญสติแนวเคลื่อนไหว

เมื่อผมพาแม่ไปปฏิบัติธรรม

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.