5 ประโยชน์ต้องรู้ของ โพรไบโอติก ช่วยระบบย่อย
โพรไบโอติก สิ่งมีชีวิตเล็กๆ สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ด้วยรูปแบบการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายถดถอยลง คนในยุคปัจจุบันจึงพบกับปัญหาสุขภาพต่างๆ รวมถึงความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย ซึ่งมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี
ขอแนะนำสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่า จุลินทรีย์โพรไบโอติก ซึ่งถือเป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลคนสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อระบบภายในร่างกายของคุณโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายค่ะ
ทำความรู้จัก…
ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยในร่างกายมนุษย์ขยายวงกว้างมากขึ้น จนทำให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณและเป็นโทษต่อร่างกาย ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเรามีมากมายหลายชนิด รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างโพรไบโอติก (Probiotic)
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความหมายของโพรไบโอติกไว้ว่าคือกลุ่มจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารที่มีผลต่อความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้มีคุณสมบัติทนต่อสภาวะกรดในกระเพาะอาหารและทนต่อเกลือน้ำดีในลำไส้สามารถผลิตกรดแล็กติกและสร้างสารยับยั้งแบคทีเรียชนิดก่อโรคได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดความสมดุลในระบบการย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ช่วยให้สุขภาพของมนุษย์ดีขึ้น
เมื่อบริโภคโพรไบโอติกที่อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์อาหารจะช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ซึ่งโดยปกติแล้วในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์จะมีแบคทีเรียที่ดีกับเชื้อก่อโรคอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล แต่ความสมดุลนี้จะถูกทำลายจากการกินอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ความเครียด การพักผ่อนน้อย อายุที่เพิ่มขึ้นรวมถึงโรคต่าง ๆ และการใช้ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด การบำบัดโรคด้วยวิธีฉายรังสี หรือแม้แต่การผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น ภูมิแพ้ คอเลสเตอรอลสูง ภูมิต้านทานโรคต่ำ ท้องผูก ซึ่งการกินอาหารที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีชีวิตในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยทำหน้าที่ปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารได้
เรื่อง (ใน) ท้อง โพรไบโอติกช่วยได้
ระบบทางเดินอาหารหรือระบบย่อยอาหารเป็นระบบที่สำคัญระบบหนึ่งในร่างกายที่ต้องทำงานหนักตลอดชีวิตเรา หากประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกิน และการดูแลตัวเองที่ไม่สมดุล ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้แปรปรวน ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด เป็นต้น
ดร.แกรี่ บี. ฮัฟฟ์นาเกิล และซาร่าห์ เวอร์นิก กล่าวไว้ในหนังสือ The Probiotics Revolution ว่า “โรคระบบทางเดินอาหารมักพบว่าเป็นปัญหาหลักของชาวตะวันตกที่ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่าย ค่ารักษาอาการปีละไม่น้อย แต่การใช้ยารักษาโรคอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีนัก หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาระบบการย่อยและสุขภาพของร่างกายให้เป็นปกติได้คือ การใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หรือโพรไบโอติกนั่นเอง”
โดยผลของโพรไบโอติกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพท้องของเรานั้นมีมากมาย ดังนี้
โพรไบโอติกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อ่านต่อหน้าที่ 2 ค่ะ
- ลดภาวะไม่ทนต่อเอนไซม์แล็กโตส
อาจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงคุณประโยชน์ข้อนี้ของโพรไบโอติกว่า
“เนื่องจากประชากรโลกส่วนใหญ่มีปริมาณของน้ำย่อยหรือเอนไซม์แล็กโตส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยน้ำตาลแล็กโตสต่ำ จึงทำให้น้ำตาลแล็กโตสไม่สามารถย่อยในทางเดินอาหาร
“ดังนั้นคนที่ดื่มนมแล้วเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน หรือปวดท้อง โพรไบโอติกในอาหารหมัก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ตสามารถผลิตน้ำย่อยเพื่อช่วยย่อยแล็กโตสในนมไปแล้วในระหว่างการหมัก จึงทำให้มีแล็กโตสเหลือน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นผลต่อสุขภาพที่สำคัญของโพรไบโอติก”
- ลดอาการท้องผูก
ในรายที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง มีหลักฐานการวิจัยทางคลินิกพบว่า การใช้โพรไบโอติกจะช่วยปรับความสมดุลของลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้นเนื่องจากกรดอินทรีย์ที่จุลินทรีย์ไบฟิโดแบคทีเรีย(Bifidobacteria) ผลิตขึ้นจะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่และช่วยเพิ่มความชื้นของอุจจาระ ทำให้สามารถขับถ่ายได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ข้อมูลจาก ภาควิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า มีการศึกษาแบบสุ่มที่มีการควบคุม 5 การศึกษา ในอาสาสมัครทั้งหมด 377 คน โดยเป็นการศึกษาในผู้ใหญ่ 3 การศึกษาและเป็นการศึกษาในเด็ก 2 การศึกษา พบว่า การใช้โพรไบโอติกมีผลต่อความถี่ในการถ่ายอุจจาระและลักษณะของอุจจาระเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า โพรไบโอติกมีส่วนช่วยอาการท้องผูกทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- บำบัดโรคลำไส้แปรปรวน
จากการทดลองทางคลินิกซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Gastroenterology ค้นพบว่า โพรไบโอติกบางชนิดสามารถลดอาการของโรคลำไส้แปรปรวนได้ ยกตัวอย่างเช่น นักวิจัยชาวไอร์แลนด์รับสมัครผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนจำนวน 77 คน เพื่อประมวลผลการใช้โพร-ไบโอติก 2 สายพันธุ์ในการบำบัดโรคนี้ โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับโพรไบโอติกชนิดแล็กโตบาซิลลัส ซาลิวาเรียสยูซีซี 4331 เป็นประจำทุกวันโดยผสมในนมมอลต์ให้ดื่ม กลุ่มที่ 2 ได้ดื่มนมแบบเดียวกันแต่ผสมโพรไบโอติกต่างชนิดคือ ไบฟิโดแบคทีเรียม อินแฟนทิส 35624 และกลุ่มที่ 3 ได้ดื่มนมมอลต์ธรรมดาที่ไม่มีผลต่อร่างกายใด ๆ โดยผู้ป่วยแต่ละคนไม่รู้ว่าตัวเองสังกัดกลุ่มใด
ตลอดเวลา 4 สัปดาห์ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มดื่มนมมอลต์ และในระหว่าง 8 สัปดาห์ต่อมาผู้เข้าร่วมการทดลองต้องจดบันทึกอาการของตนนอกจากนี้พวกเขายังถูกห้ามไม่ให้ใช้ยาใด ๆ อาทิ ยาระบาย ยาระงับอาการท้องร่วง ยาปฏิชีวนะ ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีโพรไบโอติกเจือปน
ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยซึ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีเชื้อไบฟิโดแบคทีเรียม อินแฟนทิส 35624 ที่เคยมีทั้งอาการปวดท้อง การพองตัวของลำไส้และความสม่ำเสมอในการเคลื่อนตัวของลำไส้มีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติกที่มีเชื้อแล็กโตบาซิลลัส ซาลิวาเรียส ยูซีซี 4331 ไม่แสดงผลที่เหนือกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับโพรไบโอติก
- บรรเทาอาการท้องเดิน
ถือเป็นอีกคุณสมบัติของโพรไบโอติก โดยอาจารย์ไชยวัฒน์ อธิบายว่า โพรไบโอติกสามารถลดความถี่และระยะเวลาของอาการท้องร่วง ลดการติดเชื้อภายในลำไส้ และเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยกลไกที่เป็นไปได้คือ การทำให้ลำไส้ใหญ่มีความเป็นกรดจากการผลิตกรดแล็กติกและกรดแอซิติกที่เกิดจากกระบวนการหมักหรือใช้น้ำตาลเป็นอาหารแล้วเปลี่ยนเป็นกรด ซึ่งกรดดังกล่าวที่ผลิตขึ้นมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ อีกกลไกหนึ่งคือ ทำให้การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น สามารถลดอาการแพ้ (Allergic Symptoms) ได้
- ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีความสัมพันธ์กับการกินอาหารไขมันสูง เพราะไขมันในอาหารจะกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดน้ำดีในลำไส้ใหญ่มากขึ้น ร่วมกับกรดน้ำดีอีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรียเองซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้เกิดมะเร็งได้ดังนั้นกลไกในการต้านมะเร็งของโพรไบโอติก ได้แก่ กดการทำงานของสารก่อมะเร็ง สามารถลดเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ควบคุมหรือเหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีเอนไซม์ในการทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง มีผลต่อการเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ร่างกายกำจัดสารก่อกลายพันธุ์ออกได้เร็วขึ้น และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 424 (1 มิถุนายน 2559)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
12 ปัจจัยใกล้ตัว ทำร้ายระบบย่อยอาหาร