รักษาโรคหัวใจ, หัวใจ, โรคหัวใจ

Q&A รู้ครบขั้นตอนการตรวจ รักษาโรคหัวใจ

Q&A รู้ครบขั้นตอนการตรวจ รักษาโรคหัวใจ โดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ เล่าถึงอาการและขั้นตอนการตรวจ รักษาโรคหัวใจ ชีวจิตได้เก็บคำถามและคำตอบโดยละเอียดมาฝากทุกท่าน ดังนี้

 

Q : หากเราสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เพราะมีอาการเจ็บหน้าอกคุณหมอมีวิธีวินิจฉัยในเบื้องต้นอย่างไร

A : เริ่มจากซักประวัติคนไข้ก่อน หมอจะต้องแยกว่าคนไข้เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจจริงหรือเปล่า ซึ่งการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจจะเจ็บเป็นบริเวณกว้าง เจ็บแบบแน่นๆ  ถ้าพบว่าเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจจริง  ต้องแยกต่อไปว่าเป็นชนิดเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน

 

Q : อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจชนิดเร่งด่วนและไม่เร่งด่วนมีสาเหตุจากอะไรและอันตรายแค่ไหน

A : อาการเจ็บหน้าอกที่สัมพันธ์กับการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกกำลังกายการมีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้นตกใจ เมื่อหยุดทำกิจกรรมนั้นๆ หรืออารมณ์กลับมาเป็นปกติ อาการเจ็บหน้าอกจะหายไป อย่างนี้เรียกว่าเจ็บหน้าอก แบบไม่เร่งด่วน

ส่วนเจ็บหน้าอก แบบเร่งด่วน คือ อยู่ดีๆ ก็มีอาการเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเช่น ช่วงตื่นนอน 20 นาทีผ่านไปก็ยังไม่หาย อย่างนี้เรียกว่าเร่งด่วน หรืออาจบอกได้ว่า ด่วนกับไม่ด่วน ตัดสินกันที่เจ็บแล้วไม่หายภายใน 20 นาที อย่างนี้เร่งด่วน เพราะแสดงว่าหลอดเลือดหัวใจอุดตันและกล้ามเนื้อหัวใจกำลังตายลงต้องรีบแก้ไข

อาการเจ็บหน้าอก, รักษาโรคหัวใจ, หัวใจ, โรคหัวใจ
อาการเจ็บหน้าอกบางครั้งอาจเกิดจากการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ

Q : เมื่อรู้ว่าอาการเจ็บหน้าอกเกิดจากโรคหัวใจ คุณหมอมีขั้นตอนการตรวจรักษาอย่างไร

A : หมอจะต้องตรวจร่างกายเบื้องต้นอย่างละเอียดเริ่มจาก ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ เพราะการ

เจ็บหน้าอกบางครั้งอาจเกิดจากการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ช้าไปบ้าง เร็วไปบ้าง ซึ่งจะใช้วิธีจับชีพจรหรือใช้หูฟังเสียงหัวใจเต้น จากนั้นจะวัดความดันโลหิต แล้วหมอจะประเมินว่าคนไข้มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่  จากการดูว่ามีอาการหอบเหนื่อยจากภาวะน้ำท่วมปอดหรือไม่

เมื่อตรวจเบื้องต้น  หมอจะส่งคนไข้ไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรืออีเคจี (EKG-Electrocardiogram) เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้หัวใจกำลังขาดเลือดไหมนอกจากนี้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจยังสามารถบอกได้ ว่าในอดีตหัวใจเคยมีภาวะขาดเลือดหรือไม่

ต่อจากนั้นคนไข้จะต้องเข้ารับการ เจาะเลือดทันทีเพื่อหา เอนไซม์ของหัวใจ ที่รั่วไหลออกมา และต้องเจาะเลือดซ้ำอีกครั้งใน 10 ชั่วโมงให้หลัง เพราะเป็นช่วงเวลาที่เอนไซม์หัวใจรั่วไหลออกมามากที่สุด ถ้าพบเอนไซม์หัวใจในเลือด แสดงว่ากล้ามเนื้อหัวใจกำลังตายอยู่

 

 

 

<< คำถามเกี่ยวหับการตรวจ โรคหัวใจ ยังมีต่อหน้าที่ 2 ค่ะ >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.