ส้วมซึม, ชักโครก, ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ, สวัสดิการผู้สูงอายุ, ห้องน้ำ, flush toilet

สธ.ยัน! ไม่ยกเลิก “ส้วมซึม” แต่รณรงค์ใช้ชักโครก เพื่อเข่าผู้สูงอายุ

สธ.ยัน! ไม่ยกเลิก “ส้วมซึม”
แต่
รณรงค์นั่งชักโครก เพื่อเข่าผู้สูงอายุ

หลังจากไม่นานนี้ หลายแหล่งข่าวในโลกโซเชียลมีเดียต่างเผยแพร่ข้อมูลที่อ้างถึงพระราชกฤษฎีที่ระบุว่า “กระทรวงสาธารณสุขต้องการเปลี่ยนส้วมซึมนั่งยอง เป็นโถส้วมนั่งราบหรือแบบชักโครก” ส่งผลให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า ไม่สมควรให้ยกเลิก เนื่องจากการใช้ส้วมนั่งยองถูกหลักสุขลักษณะ ขณะที่อีกกลุ่มมองว่า ส้วมแบบชักโครกจะช่วยถนอมข้อเข่าผู้สูงอายุได้ดี จนกลายเป็นข้อถกเถียงกันในโลกโซเชียลขณะนี้

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่ได้มีการยกเลิกการใช้ส้วมซึม เพียงแต่รณรงค์ใช้ส้วมชักโครก เนื่องจากจะถนอมข้อเข่ามากกว่า แต่ที่ผ่านมากลับมีความเข้าใจผิด และระบุว่า มีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ก.) บังคับใช้ โดยเนื้อความแล้ว พ.ร.ก.ดังกล่าว ระบุว่า  “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556” โดยมาตรา 3 ระบุ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792 – 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554)

เหตุที่ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน

กล่าวต่อว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ. 2556-2559 สาระสำคัญ คือ พัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโรคข้อเสื่อม ส่งเสริมให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย เพื่อให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลัก สุขาภิบาล ตั้งเป้าภายในปี 2559 ให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบร้อยละ 90 สถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่

นพ.วชิระ กล่าวต่ออีกว่า วัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมาย คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะร้อยละ 90 และองค์กรปกครองส่งท้องถิ่นได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ตลาด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เป็นต้น มีการจัดการกับสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลัก ร้อยละ 50 ของทั้งหมด

ดังนั้นการให้เปลี่ยนเป็นส้วมนั่งราบหรือชักโครก จึงไม่ได้เป็นการบังคับ เพียงแต่ขอความร่วมมือ และเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเท่านั้น

ที่มา : มติชนออนไลน์

เครดิตภาพ: http://nebula.wsimg.com/

ข้อมูลเรื่อง “สธ.ยัน! ไม่ยกเลิก “ส้วมซึม” แต่รณรงค์ใช้ชักโครกเพื่อเข่าผู้สูงอายุ” จากเว็บไซต์ www.cheewajit.com

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.