วัยผู้สูงอายุ, ผู้สูงอายุ, ผู้สูงวัย, คนแก่, คนสูงวัย

เป็น ผู้สูงอายุ อย่างมีความสุข สุขภาพใจแข็งแรง

เป็น ผู้สูงอายุ อย่างมีความสุข สุขภาพใจแข็งแรง

เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง ผู้สูงอายุ คำนามที่คนอื่นเคยเรียกเราว่า “พี่” จะค่อยๆ หายไปจากชีวิต แล้วแปรเปลี่ยนเป็นคำว่าคุณลุง คุณป้า ไปจนถึงคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายแทน

ถึงอย่างไร ท่องไว้ค่ะว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เพราะหากทุกท่านสามารถดูแลสุขภาพร่างกายให้ฟิตเต็มร้อย รวมทั้งดูแลจิตใจให้สดใสกระชุ่มกระชวยเหมือนตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวได้อยู่ เราก็ยังคงดูอ่อนกว่าวัยได้เสมอ

ชีวจิต จึงมีเทคนิคดูแลใจสำหรับคนสูงวัยมาฝาก เพื่อให้ทุกท่านเป็นคุณลุงคุณป้าที่น่ารักและอารมณ์ดีไม่แพ้ลูกหลานค่ะ

 

เทคนิคปรับอารมณ์คนสูงวัย

คำอธิบายจาก นายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง ในหนังสือเรื่อง สติบำบัด กล่าวถึงความหมายของคำว่า “อารมณ์” ไว้ว่า “อารมณ์เกิดจากการมีสิ่งเร้า เช่น การได้ยิน การเห็นภาพ หรือความต้องการภายในร่างกาย เช่น ความหิว ความต้องการต่างๆ มากระตุ้นให้ตัวเราแปลความหมายของสิ่งเหล่านั้นไปในทางบวก (สุข) ทางลบ (ทุกข์) หรือธรรมดา (ไม่สุขไม่ทุกข์)”

ความจริงแล้วคนเราสามารถควบคุมอารมณ์ของตนไม่ให้เอนเอียงไปในทางลบได้

ยิ่งในวัยผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยแห่งการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง การปรับเพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นทักษะที่คนสูงวัยทุกท่านควรฝึกฝน โดยเริ่มต้นจากวิธีต่อไปนี้ค่ะมม

 

มองความเปลี่ยนแปลงว่าไม่ใช่ปัญหา

แพทย์หญิงศรีประภา ชัยสินธพ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  กล่าวว่า “เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุ ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงตามภาวะธรรมชาติเกิดขึ้น เช่น ร่างกายเสื่อมถอย ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำสิ่งต่างๆ หรือบางคนอาจมีปัญหาด้านจิตใจซึ่งเกิดจากการสูญเสีย เช่น  สูญเสียคนใกล้ชิดเพื่อนสนิทถึงแก่กรรม หรือลูกหลานแยกย้ายไปมีครอบครัว”

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บางครั้งความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินี้ก็อาจกลายเป็นปัญหา เช่น ผู้สูงอายุบางท่านอาจเคยเป็นคนที่เดินได้ว่องไว แต่มาวันนี้ต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงอาจส่งผลต่ออารมณ์ของคนสูงวัยได้ เนื่องจากความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจเหมือนเมื่อก่อน

แต่ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่ร่วงโรยไปตามธรรมชาติได้ สิ่งที่ควรทำมากกว่าจึงเป็นการเลิกยึดติดว่าสิ่งเหล่านั้นคือปัญหา และหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่เรายังควบคุมได้จะดีกว่า

ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายเพื่อไม่ให้สุขภาพแย่ลง การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอการดูรายการตลกเพื่อสร้างความผ่อนคลาย  หรือทำสิ่งใดก็ได้ที่มีความสุขและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน  ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมองข้ามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นค่ะ

วัยผู้สูงอายุ, ผู้สูงอายุ, ผู้สูงวัย, คนแก่, คนสูงวัย
วัยผู้สูงอายุ เป็นวัยแห่งการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง

Balanced mind Tip

“ช่วงที่ยังทำงานอยู่ ผมเจอความกดดันหลายอย่างโดยเฉพาะความกดดันทางอารมณ์ ซึ่งเป็นผลจากความเครียดที่สะสมมาตลอด จนเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีโรคอื่นตามมาบ้าง

“แต่เมื่อผ่านภาวะนั้นมา ผมเริ่มรู้สึกว่าเราต้องพยายามทำใจให้ว่างๆ เพราะบางทีเราไปพะวงกับเรื่องจนสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เช่น ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน โดยไม่กินมาก ไม่กินเค็มจัดและเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษ รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งผมชอบการเดินและทำสวน เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผมได้เรียนรู้สภาพจิตใจและทำสมาธิไปพร้อมกัน”

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อายุ 76 ปี ปราชญ์ด้านการเกษตร

 

ฝึกคิดถึงเรื่องดีๆ

“ธรรมชาติของคนเราจะจดจำเรื่องร้ายได้มากกว่าเรื่องดี เมื่อเรื่องร้ายๆ ถูกบันทึกที่ศูนย์ควบคุมอารมณ์ในสมองจึงทำให้เราคอยนึกว่าคนอื่นๆ มักจะทำไม่ดีกับเรา แล้วก็เอามาต่อว่ากัน ทะเลาะกัน”

คำกล่าวด้านบนเป็นของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ที่สะท้อนให้เราเห็นว่า  ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องร้ายและดีย่อมผ่านเข้ามาในชีวิตมากขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกท่านสามารถทำได้คือ การเลือกคิดถึงสิ่งดีๆ ที่ผ่านเข้ามาให้มากกว่าเรื่องร้ายๆ โดยเริ่มฝึกสังเกตตัวเองว่า ในแต่ละวันเรามักจะนั่งนึกถึงสิ่งที่ไม่ดีอยู่บ่อยๆ หรือไม่ ซึ่งเมื่อไรที่รู้ตัวว่ากำลังคิดลบอยู่ ควรรีบหยุดความคิดนั้น เพื่อให้สมองได้บันทึกเรื่องราวดีๆ ลงไป

ดังใจความตอนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง สงบ เขียนโดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย) ที่บอกไว้ว่า “เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นที่จิตจิตจะทำหน้าที่แก้ของเขาเอง…เมื่อเขาแก้แล้ว ผิดหรือถูกเราอย่าไปสำคัญมั่นหมาย…แม้บางทีจิตอาจเถียงกัน เราเพียงแต่ฟังมันเท่านั้น อย่าเอามาเป็นอารมณ์” แล้วเราจะสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องเก็บมาเครียดค่ะ

วัยผู้สูงอายุ, ผู้สูงอายุ, ผู้สูงวัย, คนแก่, คนสูงวัย
การรู้จักปล่อยวาง นึกถึงแต่เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ช่วยคลายความเครียดในวัยสูงอายุได้

Balanced mind Tip

“หลักการดูแลจิตใจของตัวเองคือ ต้องไม่เครียดซึ่งการที่จะไม่เครียดได้นั้นต้องอาศัยหลักธรรมมาช่วย ปกติถ้ามีเวลาจะชอบการไปปฏิบัติธรรมมากแต่ถ้าไม่มีเวลาจะฟังธรรมะทางวิทยุหรืออ่านหนังสือธรรมะ

“โดยส่วนตัวคิดว่าธรรมะสอนเราได้ดีในเรื่องการปล่อยวาง เพราะเมื่อก่อนเคยทำอาชีพค้าขายเป็นเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ ในวันหนึ่งๆ เราต้องพบเจอคนเยอะ ยิ่งเจอคนมาก คำพูดที่มาเข้าหูเราก็ยิ่งมาก จึงมีบ้างที่เราเก็บคำบางคำกลับไปคิด แต่ธรรมะสอนให้เรารู้จักปลดปล่อยบางอย่างที่ไม่สำคัญออกไปจากความคิดบ้าง ซึ่งเมื่อเราปล่อยวางได้ เราก็จะไม่มีความเครียด”

คุณรุ่งทิพย์ แซ่จิว อายุ 62 ปี แม่บ้าน

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.