อาหารเพิ่มความจำ สำหรับทุกเพศทุกวัย
อาหารเพิ่มความจำ คือการใช้ “การกิน” มาส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท เพื่อให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า สมองแล่น ความจำดี ลองมาดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
- โอเมก้า-3 (Omega-3) DHA (Docosahexaenoic acid) เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ในการพัฒนาสมอง มีส่วนสำคัญในการเรียนรู้จากการมองเห็น มีผลให้สมองกระฉับกระเฉงและสมาธิดีขึ้น ทั้งยังกระตุ้นเซลล์สมองให้ไวต่อการรับสัญญาณประสาทอีกด้วย โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่อยู่ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า รวมทั้งสาหร่ายทะเล จมูกข้าว และรำข้าว
- กลุ่มวิตามินบี(Vitamin B) วิตามินบีมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความจำเป็นในการทำงานของ ระบบประสาทด้านความจำ ทั้งยังช่วยเร่งการส่งต่อข้อมูลของเซลล์สมอง ทำให้เยื่อหุ้มรอบๆเซลล์สมองทำงานได้อย่างปกติ การคิดวิเคราะห์จึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและลื่นไหล พบมากในเมล็ดธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี จมูกข้าว รำข้าว ปลาแซลมอน และทูน่า
- กรดโฟลิก (Folic Acid) เป็นสารอาหารสำคัญต่อระบบการเผาผลาญกรดไขมันโมเลกุลยาวในสมอง พบมากในผักใบสีเขียวจัดทุกชนิด แครอต ฟักทอง กล้วย ส้ม มะนาว ข้าวซ้อมมือ และข้าวสาลีไม่ขัดขาว
- ซิงค์ (Zinc) หรือที่เรารู้จักในชื่อแร่ธาตุสังกะสี ช่วยส่งเสริมประสาทส่วนกลาง ช่วยพัฒนาร่างกายและสติปัญญา พบในอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล รวมทั้งจมูกข้าว รำข้าว และเมล็ดพืช เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง ด้วย
- ธาตุเหล็ก (Iron) แร่ธาตุที่สำคัญมากในการ กระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นบริเวณ ที่ทำหน้าที่คิดวิเคราะห์และส่งเสริมทักษะในการใช้คำพูด จำเป็นต่อการนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์สมอง พบในอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ ผักที่มีใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม
- โคลีน (Choline) เป็นสารที่ใช้ในการสร้างแอซีทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญของระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะความจำเสื่อม อาการหลงลืม พบมากในข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ผักใบเขียวต่างๆ และจมูกข้าวโพด ดังนั้นการนำข้าวโพดมาประกอบ อาหารควรฝานให้ลึกถึงซังข้าวโพด ซึ่งเป็นที่อยู่ของจมูกข้าวโพด
- กลูโคส (Glucose) พลังงานหลักของสมองคือ กลูโคส ซึ่งส่งไปเลี้ยงเซลล์ประสาทการเรียนรู้และความจำ ช่วยให้สมองทำงานเต็มที่ กลูโคสพบได้ในข้าวหรือแป้งต่างๆ เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต นอกจากจะได้กลูโคสแล้วยังมีวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหารอีกด้วย ส่วนผลไม้จะมีอยู่มากในองุ่น ชมพู่ มะละกอ
- เปปไทด์ (Peptide) งานวิจัยหนึ่งพบว่าเปปไทด์มีส่วนช่วยลดความวิตกกังวล ความเครียด เพิ่มสมาธิและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้ร่างกายเปลี่ยนกลูโคสที่เป็นอาหารหลักของสมองให้เป็นพลังงานเร็วและมากขึ้น พบได้ในถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ จากถั่วเหลือง
- เรสเวอราทรอล (Resveratrol) เป็นสารฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยลดความเสื่อมของหลอดเลือดสมองและระบบภูมิคุ้มกัน พบในลูกหม่อน บลูเบอร์รี่ องุ่น โดย เฉพาะอย่างยิ่งเปลือกองุ่นและเมล็ดองุ่นแดงจะมีเรสเวอราทรอล สูงมาก
ฉะนั้นเพียงคุณบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงความเครียด ฝึกบริหารสมอง ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไปอย่างสมดุล ก็เท่ากับช่วยดำรงประสิทธิภาพของสมองให้สมบูรณ์ ไปตราบนานเท่านานค่ะ
บทความน่าสนใจอื่นๆ
บ.ก.ขอตอบ : 10 แหล่งโอเมก้า-3 บำรุงสมอง หัวใจ ป้องกันซึมเศร้า
7 ตัวการทำลายสมอง ความจำเสื่อม ก่อนวัย
บ.ก.ขอตอบ : วิธีกิน วิตามิน บี บำรุงสมองและประสาท แก้อาการชา