ความทุกข์

ความทุกข์ ของคนที่ชอบ “แบก” ไว้มากมาย

ความทุกข์ ของคนที่ชอบ “แบก” ไว้มากมาย

ในวันที่ต้องเจอเรื่องหนักๆ หรือมี ความทุกข์ เข้ามาเยือน บางคนทุกข์แสนสาหัสกับเรื่องที่เกิดขึ้น ในขณะที่อีกคนสามารถลุกขึ้นตั้งตัวใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เราไม่อาจบังคับควบคุมชีวิตได้ว่าจะต้องได้เจอแต่กับเรื่องดีๆ แต่ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ความทุกข์นั้นอยู่กับเราไม่นาน พระไพศาล วิสาโล ได้บอกไว้ใน วิชาสุดท้ายที่ใช้ได้ตลอดชีวิต ว่า

ความสุขหรือความทุกข์ของคนเรา ถ้ามองให้ดี มันไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพใจของเรามากกว่า เจออย่างเดียวกัน บางคนกลับทุกข์ทรมาน แต่บางคนกลับเฉยๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากความเจ็บป่วย คนบางคนเจอเชื้อโรคก็ไม่เป็นไร แต่บางคนเจอเชื้อโรคอย่างเดียวกลับถึงตายได้

อย่างเชื้อหวัด ถ้าคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ได้รับเชื้อหวัดก็ถึงตายได้ ขณะที่บางคนรู้สึกเฉยๆ บางคนติดเชื้อเอชไอวีแล้วเฉย ไม่เป็นอะไร แต่ส่วนใหญ่พอติดเชื้อเอชไอวีแล้วป่วยเลย ถ้าไม่เยียวยารักษาก็ตาย ดังนั้นเวลาเจ็บป่วย จะโทษเชื้อโรคอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษภูมิคุ้มกันในร่างกายของแต่ละคนด้วย

หลายคนเวลามีความทุกข์ก็จะโทษสิ่งภายนอก เช่น โทษพ่อแม่ คนรัก เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ฯลฯ ว่าเขาพูดไม่ดี เขาทำไม่ถูก แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ปัจจัยภายนอกไม่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้ ถ้าหากว่าใจของเรามีภูมิคุ้มกันความทุกข์ หรือมีคุณภาพจิตที่ดี

เวลาเรารู้สึกเป็นทุกข์จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เรามักคิดว่าเป็นเพราะมีปัญหาสารพัดมารุมเร้า แต่แท้จริงแล้วปัญหามันไม่ทำให้เราทุกข์หรอก หากใจเราไม่ไปแบกมันเอาไว้ เหมือนกับก้อนหิน ถ้าปล่อยมันไว้เฉยๆ เราก็จะไม่รู้สึกไปกับมัน แต่เมื่อใดเราไปแบกมันเราจึงเป็นทุกข์ ปัญหานั้นมีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม แต่ถ้าไปแบกมันเมื่อไหร่ก็ทุกข์ทันที

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เล่าว่า สมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่มขณะบิณฑบาตในเมืองอุบลราชธานี เห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนรอใส่บาตร ข้างๆ มีลูกชายตัวเล็กยืนอยู่ พอท่านเดินไปใกล้เด็กก็พูดขึ้นมาว่า “มึงบ่แม่นพระดอกๆ” ท่านได้ยินก็ไม่พอใจ แต่สักพักก็ได้สติ ท่านคิดในใจว่า “เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระหรอก ถ้าเราเป็นพระ เราต้องไม่โกรธสิ” พอคิดได้แบบนี้ความโกรธก็หายไป สามารถเดินไปรับบาตรจากแม่ของเด็กได้ด้วยอาการปกติ

ท่านบอกว่าเด็กคนนี้คืออาจารย์ของท่าน ทั้งๆ ที่ด่าท่านนั่นแหละ แต่หลายคนถ้าเจอเข้าแบบนี้ก็จะโกรธ โกรธเด็ก บางทีก็โกรธแม่ด้วยว่าทำไมไม่สอนลูก ปล่อยให้ลูกพูดอย่างนั้น อาจจะนึกในใจว่า “กูเป็นพระ มาพูดกับกูแบบนี้ได้ยังไง” ความสำนึกว่าฉันเป็นพระสามารถจะปรุงให้โกรธหรือไม่โกรธก็ได้

สำหรับหลวงพ่อพุธ ความสำนึกว่าเป็นพระทำให้ท่านไม่โกรธ ทันทีที่ท่านคิดว่า “เราเป็นพระ เราต้องไม่โกรธ” แค่นี้แหละความโกรธก็ทุเลา ในทางตรงข้าม ถ้าคิดว่า “กูเป็นพระ ทำไมมาพูดกับกูแบบนี้” จะยิ่งโกรธมากขึ้น เกิดความแค้น ความพยาบาท แล้วตัวเองก็เป็นทุกข์เอง เห็นไหมว่าสาเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจเรา ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครพูดอะไรกับเรา

ความทุกข์ที่เราเห็นว่าหนักหนาสาหัสในตอนนี้ อาจเป็นเรื่องที่เราเฉยๆ กับมันในอนาคตข้างหน้าก็เป็นได้

 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ วิชาสุดท้ายที่ใช้ได้ตลอดชีวิต โดยพระไพศาล วิสาโล สำนักพิมพ์อมรินทร์


บทความที่น่าสนใจ

ลาก่อนความทุกข์ 4 วิธีรับมือกับความทุกข์ในตัวคุณ

อย่ากลัวความทุกข์ แต่จงก้าวข้ามความทุกข์

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.