วิศวกรขุดเจาะหญิง

ปัญญวดี กฤษณมนตรี กับอาชีพวิศวกรขุดเจาะหญิง…ใครว่ามีแต่ผู้ชายทำได้

กิ๊ฟ – ปัญญวดี กฤษณมนตรี วิศวกรขุดเจาะหญิง แห่ง Halliburton Energy Services Inc

หลายคนอาจคิดว่าคุณสมบัติหลักของอาชีพวิศวกรขุดเจาะคือเป็นเพศชายเท่านั้น เพราะต้องนอนกลางดินกินกลางทราย  แต่ กิ๊ฟ - ปัญญวดี  กฤษณมนตรี กลับไม่มีความคิดนี้อยู่ในหัวเลยแม้แต่น้อย

“ตอนเด็ก ๆ รู้จักอาชีพนี้จากหนังและหนังสือ รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่เท่มาก  อยากทำ พอโตขึ้นมาจึงเลือกเรียนสาขาใกล้เคียง  คือวิศวเคมี  โชคดีมีรุ่นพี่มาพูดให้ฟังถึงอาชีพวิศวกรขุดเจาะ  หลังเรียนจบจึงลองไปสมัครงาน  ปรากฏว่าได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้”

เมื่อได้เข้ามาทำงานจริง  เธอพบว่าต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด

“เนื่องจากอาชีพนี้เป็นอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง  ทุกคนที่เข้ามาต้องเรียนรู้ใหม่หมดไม่ว่าจะจบอะไรมา โดยบริษัทจะส่งไปเรียน ไปดูงาน  มีสอบทุกวัน เทรนนิ่งทั้งปี ต้องพบปะผู้คนหลากหลายทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม  พูดภาษาอังกฤษเหมือนกันก็จริงแต่หลายสำเนียงมาก บางทีคุยกันไม่รู้เรื่องเลยก็มี

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพแวดล้อม บางทีไปกลางทะเล  คลื่นทั้งแรงและสูง 4 - 5 เมตร  จะลงจากแท่นขุดต้องอาศัยกระเช้า บางครั้งถ้าเราอยู่ในกระเช้าคนเดียวมันก็เอียง ลองคิดดูว่าถ้ามันเอียงในเวลาที่คลื่นโถมเข้ามานี่จะรู้สึกอย่างไร (หัวเราะ)

“ถ้าต้องไปทำงานในป่า ก็ไม่ใช่ป่าแบบสวย ๆ  แต่มันคือป่าที่ยังมีช้างเดินเหมือนเป็นเจ้าของบ้าน ที่พักกับที่ทำงานก็อยู่ห่างกันต้องนั่งเรือข้ามน้ำไป  ซึ่งต้องรอระดับน้ำขึ้นจึงจะข้ามเรือไปได้  รุ่นพี่ชอบขู่ว่าในแม่น้ำนี้มีจระเข้  ถ้าตกลงไปคงไม่เหลือแน่ ๆ ไปช่วงแรกเราจะตื่น ๆ  เพราะทุกอย่างมันใหม่ดูน่ากลัว  ตกกลางคืนยุงเยอะมาก  นั่งหรือยืนนิ่ง ๆ ไม่ได้เลย  ต้องเปลี่ยนท่าไปเรื่อย ๆ หรือถ้าไปทำงานที่ญี่ปุ่น ก็จะไปที่ที่หนาว -10 องศา  ร่างกายต้องแข็งแรงจริง ๆ ถ้างานมีปัญหา บางครั้งก็ต้องทำต่อเนื่อง ไม่ได้พัก เคยทำงานโดยแทบไม่ได้นอนติดกัน 3 วัน 3 คืน  หลังจากนั้นนั่งเก้าอี้แล้วก็หลับไปเองโดยที่ไม่รู้ตัว

“พอถึงช่วงที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศอาจไม่ต้องใช้แรงกายมากนัก  แต่ต้องใช้ความคิดตั้งแต่เริ่มโปรเจ็กต์  ก็หนักไปอีกแบบ เพราะฉะนั้นอาชีพนี้จึงมีความหลากหลายมาก”

สภาพการทำงานที่เธอเล่าให้ฟังนับว่าค่อนข้างอันตรายไม่น้อย  เธอได้เล่าถึงเหตุการณ์เสี่ยงตายครั้งหนึ่งว่า

“ปกติเราจะออกไปทำงานที่แท่นขุดเจาะในวันที่สภาพอากาศไม่แปรปรวน  แล้วเวลาออกไปที่แท่นก็จะนั่งเรือใหญ่ไป  พอไปถึงเรือใหญ่จะมีบันไดพาดไปจากตัวเรือให้เราเดินไปสถานที่ที่เราทำงาน  หลังจากทำงานจนเกือบจะเสร็จแล้ว  ปรากฏว่าคลื่นแรงต้องเอาบันไดออก  แต่อุปกรณ์ขุดเจาะยังอยู่ในหลุมซึ่งผลิตไฮโดรคาร์บอน  เราไม่สามารถทิ้งอุปกรณ์ไว้ในหลุมได้  กัปตันวิทยุมาบอกว่าเอาขึ้นเร็ว ๆ  จะไปแล้ว  ไม่รอแล้วนะ เราก็ต้องลงไปเอา  พอลงไปแล้วปรากฏว่าด้วยความที่คลื่นแรง เรายกอุปกรณ์ไม่ได้เพราะเครนอยู่บนเรือ  ตอนนั้นเรืออยู่ห่างจากเราแล้วด้วย  ฝนก็ตกหนักไม่ลืมหูลืมตา ต้องรออยู่อย่างนั้นจนกว่าคลื่นจะสงบ ถามว่ากลัวไหม ตอบเลยว่ากลัว  แต่สุดท้ายเราก็ผ่านมันมาได้อย่างปลอดภัย

“เล่าแล้วอาจดูน่ากลัวมาก  จริง ๆ การทำงานแบบนี้ถามว่าเสี่ยงไหม  เสี่ยงแน่นอนค่ะ  และเพราะตัวงานมีความเสี่ยงจึงมีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง  ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจริง ๆ จะมีเฮลิคอปเตอร์มาช่วย ไม่ปล่อยให้เคว้งคว้างแน่นอน  แต่สำหรับกิ๊ฟยังไม่เคยเกิดเหตุถึงขนาดเฮลิคอปเตอร์ต้องมาช่วยนะ ไม่อยากลองด้วย” (หัวเราะ)

งานสมบุกสมบันขนาดนี้  เธอยอมรับว่าอาจมีข้อจำกัดเรื่องกำลังของร่างกายมากกว่าผู้ชาย  แต่ความเป็นผู้หญิงก็มีส่วนดีในสายอาชีพนี้เช่นกัน

“ข้อดีคือ ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงจะได้เปรียบเรื่องการประสานงาน ถ้าหากทำอะไรผิดพลาด  คนที่เราทำงานด้วยมักพูดกับเราดี ๆ  อย่างบางทีคนที่ต้องประสานงานกับเราทะเลาะกับหัวหน้ามา  ดูหงุดหงิดฉุนเฉียว แต่เวลาจะต้องประสานงานกันต่อ เขาก็จะปรับคำพูดให้อ่อนลง  ทำให้การทำงานทุกอย่างราบรื่นกว่าผู้ชายคุยกัน”

ปัจจุบันเธอปักใจรักอาชีพนี้ไปเสียแล้วและวางเป้าหมายของการเป็น วิศวกรขุดเจาะหญิง ไว้อย่างชัดเจนว่า จะศึกษาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ  เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้

 

ขอบคุณ Halliburton Energy Services Inc  เอื้อเฟื้อสถานที่

ที่มา  นิตยสาร Secret ฉบับที่ 170

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ SCOOP “เรื่อง ผู้หญิงนอกกรอบ”

เรื่อง เชิญพร  คงมา,  อุรัชษฎา  ขุนขำ  

ภาพ ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.