ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 อักโกธะ (ความไม่โกรธ)
Secret ขอน้อมนำ ทศพิธราชธรรมข้อที่ 7 (อักโกธะ) มาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อ่านได้น้อมนำมาเป็นแบบอย่างในการครองตนเพื่อความสุขแบบพอเพียง
7. อักโกธะ
ความไม่โกรธ
“…เวลาเรามีความโกรธแค้น เราก็มีกำลังกายมาก แต่ว่ากำลังกายนั้นอาจมีไม่ได้เต็มที่ คือไม่ได้รับการควบคุมจากวิชาความรู้หรือสิ่งที่ดีที่อยู่ในตัวได้ อาจเปะปะไปบ้างฉะนั้นความโกรธนั้นก็เป็นผลทำให้เราไม่สามารถที่จะใช้กำลังกายโดยเต็มเปี่ยมเหตุผลก็คือ เวลาเรามีความโกรธ จิตใจของเราไม่สว่าง มีสิ่งที่มาครอบอยู่ ทำให้มืดมนไม่เห็นทาง เราจึงอาจเปะปะ และมิใช่เฉพาะความโกรธ ความเศร้าก็ทำให้มืดก็ได้ หรือแม้แต่ความดีใจก็ทำให้มืดก็ได้ ฉะนั้นทุกคนจึงมีหน้าที่ที่จะควบคุมจิตใจ ทั้งจิตใจทางโกรธ ทางเศร้า หรือทางดีใจ เพื่อให้ทุกคนสามารถที่จะมีความสว่างในใจ…”
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ที่มาเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่สวนอัมพรวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2516
อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทยและนานาประเทศมาเป็นเวลาช้านาน
นายแก้วขวัญ วัชโรทัย อดีตเลขาธิการพระราชวัง ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมานานกว่า 60 ปี กล่าวไว้ในหนังสือ ชีวิตของพ่อ ว่า
“…ไม่มีใครเป็นอย่างพระองค์ท่านได้อย่างน้อยที่สุดการจะกริ้วให้เห็นนั้นไม่มีเลยไม่รู้ว่าท่านทรงอดทนได้อย่างไร มีแต่ทรงพระเมตตาปรานี ไม่เคยมีรับสั่งให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจเลย”
ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี มีคนร้องเรียกและยกป้ายมีใจความเป็นภาษาไทยว่าเราไม่ต้องการต้อนรับผู้เผด็จการเมืองไทยครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถโดยเสด็จด้วย และทรงเล่าเหตุการณ์นี้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ ว่า
“…กระซิบทูลถามพระเจ้าอยู่หัวว่าทอดพระเนตรเห็นป้ายไล่ผู้เผด็จการหรือไม่รับสั่งตอบว่าทอดพระเนตรเห็น พลางหันไปทรงยิ้มและโบกพระหัตถ์กับประชาชนที่มาโห่ร้องรับเสด็จฯตลอดทางจนถึงทำเนียบรัฐบาลอันเป็นที่ประทับ ไม่ทรงแสดงความรู้สึกแม้แต่น้อย
“…พระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำไม่ให้ข้าพเจ้าลืมว่าเมื่อกี้เป็นการกระทำของคนส่วนน้อยไม่ใช่เป็นการกระทำของประชาชนทั่วประเทศ”
ข้อมูลจาก นิตยสาร Secret
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 1 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ทาน)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 2 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ศีล)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 3 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (ปริจจาคะ)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 4 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (อาชชวะ)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 5 10 ทศพิธราชธรรม ธรรมที่พ่อสอน (มัททวะ)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 6 ตบะ (ความเพียร)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 8 อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 9 ขันติ (ความอดทน)
ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 ทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ (ความหนักแน่น เที่ยงธรรม)