ชาติชาย ไทยกล้า วีรบุรุษในเปลวไฟ
นักดับเพลิง หนึ่งในอาชีพที่เสี่ยงชีวิตมากที่สุด ต้องเสียสละทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อดับเปลวไฟที่โหมกระหน่ำ แม้จะยากลำบากสักเพียงใด แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำหรับ อาจารย์ชาติชาย ไทยกล้า เพราะความสุขของเขาคือการได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน
ปัจจุบันอาจารย์ชาติชาย ไทยกล้า ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันฝึกดับเพลิงและกู้ภัยชั้นสูง ทาฟต้า นอกจากนั้นยังทำงานอาสากู้ภัยเพื่อสังคม แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมายผ่านการฝึกฝนมานับพันนับหมื่นชั่วโมง
วัยเด็กของลูกชาวนาที่เติบโตในค่ายทหาร
ผมเกิดและเติบโตที่ตำบลบ้านพริก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก ที่บ้านทำนาตอนเด็ก ๆ ร่างกายไม่แข็งแรงนัก เลือดกำเดาไหลและชักบ่อยมาก ทางบ้านจึงส่งผมไปอยู่กับอา ซึ่งเปิดร้านขายข้าวแกงและกาแฟอยู่ในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องจากในค่ายมีโรงพยาบาล เวลาผมไม่สบายจะได้หาหมอได้ทันเวลา
ระหว่างอาศัยอยู่กับอา ผมต้องช่วยงานทุกอย่างเท่าที่ช่วยได้ ออกไปจ่ายตลาด ทำกับข้าว ชงกาแฟตั้งแต่อายุ 6 - 7 ขวบ ตอนนั้นผมตัวเล็กมาก ต้องยืนบนเก้าอี้ถึงจะชงกาแฟขายได้ แม้งานหนัก แต่เป็นข้อดีที่ทำให้ผมรู้จักอดทนมาตั้งแต่เด็ก
การอยู่ในค่ายช่วยให้ร่างกายของผมแข็งแรงขึ้น เพราะได้หาหมออย่างสม่ำเสมอและยังเปิดโอกาสให้เด็กบ้านนอกคนหนึ่งได้เห็นรถถัง เครื่องบิน เห็นภาพการฝึกของทหาร เห็นการซ้อมรบ และได้วิ่งตามเครื่องบินเป็นประจำ จนเกิดแรงบันดาลใจว่าสักวันผมต้องเป็นนักบินให้ได้
ผจญภัยก่อนจะได้ผจญเพลิง
จำได้ว่าตอนเรียน มศ.3 สูงแค่ 140 เซนติเมตร ขณะที่เพื่อนผู้ชายเป็นหนุ่มกันหมด สูง 160 - 170 เซนติเมตร ผมจึงถูกเพื่อน ๆ แกล้งเป็นประจำ แต่ทำอะไรไม่ได้ได้แต่เก็บความอึดอัดไว้ในใจ
กระทั่งจบ มศ.3 ที่บ้านส่งผมไปเรียนที่กรุงเทพฯ เป็นช่วงที่ผมสูงขึ้นพรวด ๆไม่ต้องกลัวใครรังแกแล้ว จึงเกเรซะเลย(หัวเราะ) ผมเรียนหนังสือดี แต่ไม่ยอมไปโรงเรียน มีเรื่องชกต่อยไม่เว้นแต่ละวัน ทางบ้านจึงเรียกให้กลับพิษณุโลก ผมกลับไปทำนาได้ปีกว่าก็เริ่มคิดว่า ชีวิตจะเอาแค่นี้จริง ๆ หรือเราควรกลับไปเรียนหนังสือ ทำตามฝันเสียที
เมื่อคิดได้จึงไปสมัครเป็นนักเรียนจ่าอากาศ ลุงของผมเป็นทหาร ท่านสนับสนุนเต็มที่ บอกว่าเป็นทหารก็ดีจะได้ดัดสันดานหน่อย (หัวเราะ)
พอเริ่มฝึกผมรู้ซึ้งเลย การเป็นทหารโหดมาก เราเป็นเหมือนควายไร้คอกมาก่อนจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องสนใจใคร พอมาเจอกฎระเบียบ เจอผู้บังคับบัญชา เจอการลงโทษ เรากระดุกกระดิกไม่ได้เลย ตอนนั้นผมอึดอัดมาก คิดอย่างเดียวว่า ไม่ไหวแล้วโว้ย อยากลาออก (หัวเราะ)
แม้กฎระเบียบจะเข้มงวดแค่ไหน ผมก็ยังดื้อ ยังเกเร โดดเรียน หนีเรียนประจำขึ้นปีสองก็ยังไม่หยุด ผมเป็นนักเรียนคนเดียวในรุ่นที่ถูกส่งเข้าคอร์สวิปัสสนา (หัวเราะ)พระอาจารย์ท่านสอนเดินจงกรม นั่งสมาธิผมทำตามนะ แต่ไม่ได้อะไรสักเท่าไร เพราะตอนนั้นใจเรายังไม่นิ่ง
แต่สุดท้ายผมก็เรียนจนจบ ติดยศจ่าอากาศเอก เป็นทหารอยู่ 4 ปี เป็นความภาคภูมิใจมาก ๆ แต่ยังคิดว่าชีวิตเราต้องไปให้ไกลกว่านี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ท้าทายรออยู่ นอกจากนั้นผมมีโอกาสทำงานกับชาวต่างชาติในโรงเรียนฐานบิน ผมจึงได้รู้ว่าประเทศที่เจริญแล้วเขามีมุมมอง มีความคิดอย่างไร ผมคิดว่าขืนอยู่ที่นี่ เราเป็นนักบินไม่ได้แน่นอน เพราะเราไม่ได้จบจากโรงเรียนนายเรืออากาศและมัวแต่เกเรเสียก่อน จึงตัดสินใจลาออก
เด็กบ้านนอกฝันจะไปเมืองนอก
เมื่อลาออกจากทหาร ผมตัดสินใจไปประเทศสหรัฐอเมริกาเลย ตอนนั้นทุนก็ไม่มีไม่มีอะไรทั้งนั้น คิดว่าไปตายเอาดาบหน้าแต่โชคดีที่ครูของผมที่เป็นทหารมีญาติอยู่ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ท่านจึงฝากให้ผมไปอยู่ที่นั่นด้วย และญาติของท่านก็กลายเป็นผู้มีพระคุณของผมจนถึงทุกวันนี้
คุณหมอสมพงษ์ ทิตาราม และพี่พอใจ ทิตาราม ภรรยา เป็นผู้มีพระคุณของผมและคนไทยที่รัฐจอร์เจียมาก ให้ทั้งที่อยู่ที่กิน ใครเจ็บป่วยไม่สบาย ท่านก็ช่วยรักษาใครไปเรียนก็ช่วยออกค่าเล่าเรียนให้ ตอนผมเหยียบแผ่นดินอเมริกา มีเงินติดตัวแค่ 32เหรียญ ก็ได้ท่านทั้งสองนี่แหละคอยช่วยเหลือ
คนไทยส่วนใหญ่ที่ไปทำงานในอเมริกามักเลือกทำงานร้านอาหาร แต่ผมแปลกกว่าเพื่อน ผมเลือกทำก่อสร้าง เพราะไม่ชอบร้านอาหารเลย คงเป็นความฝังใจที่ต้องช่วยอาทำกับข้าวตั้งแต่เด็ก ๆ (หัวเราะ)
ผมไปสมัครงานที่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งรับดูแลสวนให้อพาร์ตเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในแอตแลนตา เข้าทำงานครั้งแรกในตำแหน่งคนตัดหญ้า แต่ผมอาศัยความขยัน อดทนและไม่เคยลางานแม้แต่วันเดียว เขาจึงเลื่อนขั้นให้เรื่อย ๆ ประกอบกับผมเป็นคนจริงจังเด็ดขาด มีระเบียบวินัย เพราะเคยเป็นทหารมาก่อน จึงคุมคนงานได้ สุดท้ายเขาจึงให้ผมเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ดูแลต้นไม้ในสนามบินแอตแลนตา ซึ่งขณะนั้นเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดคือผมได้รางวัลพลั่วเงิน (Silver Spades Awards)เป็นรางวัลที่มอบให้คนที่ทำงานหนักที่สุดด้านการก่อสร้าง ตอนนี้มือผมยังหนาและด้านอยู่เลย (หัวเราะ)
กลับคืนถิ่นเพื่อสร้างตัว
หลังทำงานได้ 7 ปี แม่เรียกให้ผมกลับเมืองไทย ตอนนั้นคิดหนักมาก เพราะเท่ากับเราต้องกลับไปเริ่มศูนย์ใหม่ ขณะที่ผมเป็นผู้ช่วยผู้จัดการมีงานค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจกลับ เพราะคิดว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งก็ต้องกลับอยู่ดี ตอนนั้นผมอายุ 29 ปี ถ้ากลับเมืองไทยหลังอายุ 30 โอกาสหางานยิ่งน้อยลง ฉะนั้นกลับตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า
ผมกลับมาสักพักก็สมัครเข้าทำงานที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเชฟรอน คอร์ปอเรชั่นบริษัทพลังงานใหญ่ระดับโลก ในตำแหน่งโฟร์แมน ควบคุมและดูแลเรื่องการรับเรือน้ำมัน ทำได้สักพัก เจ้านายคงเห็นว่าเราหน่วยก้านดี จึงให้รับผิดชอบเรื่องการดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงด้วย
ช่วงที่ผมเริ่มทำงาน ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ บริษัทจึงส่งผมไปอบรมเรื่องการดับเพลิง การรักษาความปลอดภัยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในเอเชียสหรัฐอเมริกา และยุโรป ผมได้ความรู้และประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้เริ่มทำงานด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง
ผมดีใจมากที่บริษัทส่งไปอบรม ใจเราอยากเรียนมาก โดดร่ม ดับไฟไม่ใช่ปัญหาเลย อะไรที่เสี่ยง ขอให้ได้เรียนเลยเถอะหลายคนกลัวความเสี่ยง กลัวตาย แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น ถ้าไม่เรียนนี่สิตายแน่ (หัวเราะ)หากเกิดอะไรขึ้น เราจะได้ช่วยเหลือตัวเองก่อน และเมื่อมีความรู้ก็ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป
ผมตั้งใจทำงาน อดทน ขยัน ซื่อสัตย์ไต่เต้าจากพนักงานเล็ก ๆ จนสุดท้ายได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการความปลอดภัยและความมั่นคงของบริษัท อุบัติเหตุทุกอย่าง คลังน้ำมันไฟไหม้ เรือน้ำมัน แท่นเจาะ รถน้ำมัน รถแก๊สระเบิด ผมต้องดูแลและจัดการทั้งหมด นอกจากปฏิบัติหน้าที่แล้วผมยังเป็นครูฝึก ตระเวนสอนตามคลังน้ำมันของคาลเท็กซ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
เสี่ยงเพื่อส่วนรวม
การดูแลรักษาความปลอดภัยในบริษัทน้ำมันเป็นงานที่ท้าทายและเสี่ยงมาก มีเหตุการณ์ที่ผมจำได้แม่นยำ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงและอันตรายที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง ครั้งนั้นผมได้รับแจ้งว่ามีเรือบรรทุกน้ำมันระเบิดที่จังหวัดสงขลา ผมกับลูกทีมต้องรีบนั่งเครื่องบินไปช่วยดับไฟทันทีข้อจำกัดของการนั่งเครื่องบินคือ อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างสายการบินไม่อนุญาตให้นำขึ้นเครื่อง ผมมีแค่ชุดดับเพลิงและหมวกเซฟตี้เท่านั้น ชุดช่วยหายใจก็ไม่มี แต่ต้องลุย
เมื่อไปถึงจึงรู้ว่าเรือที่ระเบิดบรรทุกน้ำมันเบนซินอยู่ 1.6 ล้านลิตร หน้าที่ของผมคือดับไฟและค้นหาผู้เสียชีวิต ผมเข้าไปในเรือกับลูกน้องอีก 1 คน กลิ่นน้ำมันฟุ้งเต็มไปหมด เรือมีโอกาสระเบิดซ้ำสูงมาก ถ้ามีสะเก็ดไฟเพียงนิดเดียวก็เรียบร้อย ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ทำลายสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟเสียก่อน เราตรงเข้าไปหาแบตเตอรี่เรือแล้วโยนทิ้งลงทะเล จากนั้นจึงเริ่มดับไฟ อุปกรณ์ของเรามีแค่กระป๋องน้ำ ต้องค่อย ๆ ตักน้ำที่ขังตามพื้นเรือมาดับไฟ ผมเริ่มปฏิบัติงานตอน 6 โมงเย็น กว่าจะดับไฟเสร็จก็เที่ยงคืนกว่า ๆ จากนั้นค้นหาผู้เสียชีวิตต่อ
ถามว่าตอนนั้นผมกลัวไหม ก็เสียว ๆเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่เราแสดงออกไม่ได้เราต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกน้อง เป็นตัวอย่างเป็นที่พึ่งให้เขา ผมสอนลูกน้องเสมอว่า เวลาทำงานจะมัวกลัวตายไม่ได้ ต้องมั่นใจว่าเรามีโอกาสรอด และต้องทำตามขั้นตอนที่ฝึกฝนมา จะทำลัดขั้นตอนหรือทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้เลย เพราะนั่นอาจส่งผลต่อชีวิตเราได้
หลังจากดับไฟและนำศพผู้เสียชีวิตออกมาแล้ว ผมต้องอยู่บนเรืออีก 20 วัน เพื่อดูแลการขนถ่ายน้ำมันออกจากตัวเรือให้เรียบร้อย งานของผมเสี่ยงก็จริง แต่ผมยอมเสี่ยงเพื่อส่วนรวม
ทิ้งงานที่มั่นคง เงินนับแสนเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน
หลังทำงานที่คาลเท็กซ์เกือบ 20 ปีก็ถึงจุดอิ่มตัว ผมคิดว่าเราควรออกไปทำอะไรเพื่อบ้านเมืองให้มากกว่านี้ เราฝึกคนให้บริษัทมามากมาย ถึงเวลาที่ผมควรออกไปสร้างคนให้บ้านเมือง ตอนนี้ผมมีพอแล้ว ครอบครัวผมมีความสุขแล้ว เราควรเผื่อแผ่ความสุขให้คนอื่นด้วย ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากพัฒนาคนในชาติให้มีคุณภาพ ทั้งความรู้ ทักษะการทำงาน และด้านคุณธรรม ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ผมตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนดับเพลิงและกู้ภัย พัฒนาหลักสูตรเองทุกอย่างเมื่อจบหลักสูตรก็มีใบรับรองอย่างถูกต้องเนื่องจากการเรียนเรื่องดับเพลิงและกู้ภัยค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตามปกติค่าคอร์สเป็นหลักหมื่น แต่ผมคิดแค่หลักพันต้น ๆ เท่านั้นและถ้าผมเห็นว่าใครมีแววจะคัดเลือกให้กลับมาเรียนต่อโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้เขานำความรู้ไปหาเลี้ยงชีวิตตัวเองและทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ
ระหว่างสอนผมทำงานอาสากู้ภัยควบคู่ไปด้วย เช่น เหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ผมก็ลงไปช่วย ตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อน หรือเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งที่ผ่านมา ผมกับทีมก็ลงไปช่วยเหลือทันที
หลายคนถามว่าทำไมไม่สอนชาวต่างชาติคอร์สหนึ่งได้ค่าตอบแทนเป็นแสน มามัวทำงานอาสา ไปบรรยายได้ชั่วโมงละ 400 ทำไม แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น การที่เราเอาแต่สอนเศรษฐี ได้ค่าตอบแทนเยอะ ๆ แต่กลับปล่อยปละละเลยลูกหลานในชาติให้อยู่อย่างยากลำบาก เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง การสอนคนไทยคือการทำเพื่อบ้านเมือง เป็นงานของแผ่นดิน ผมยอมทำ ถึงต้องเสียเงินเพื่อไปสอนผมก็ยอม ถ้าคนไทยด้วยกันยังเดือดร้อน จะให้ผมอยู่เฉย ๆ อย่างสุขสบายได้อย่างไร ไม่ได้หรอก
บางคนถามว่า รักชาติไปทำไม รักชาติแล้วกินได้ไหม กินไม่ได้หรอก แต่มันสุขที่ใจหล่อเลี้ยงใจเราให้อยู่ได้
สิ่งสำคัญของการเป็นนักกู้ภัยและนักดับเพลิง
ใจ คำเดียวสั้น ๆ ใจที่มุ่งมั่นจะช่วยคนอื่น เราสอนให้คนเป็นนักดับเพลิง ไม่ใช่แค่สอนให้เขาดับไฟเป็น แต่คือการสอนคนธรรมดาให้มีใจเป็นสุภาพบุรุษ มีจิตอาสาต้องเคลียร์ใจเขา ไม่ให้เกิดคำถามว่า ทำไมผมต้องร้อน ทำไมผมต้องเสี่ยง เข้าไปช่วยแล้วผมได้อะไร ต้องทำให้เขารู้สึกว่า คนที่เราเข้าไปช่วยซึ่งเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนไม่ได้มีบุญคุณหรือทำอะไรให้เราเลย คือคนที่เรารัก ต้องปรนนิบัติเหมือนเขาเป็นคนที่เรารักที่สุด ถ้าเป็นผู้หญิงก็คิดว่าเป็นลูกสาวเป็นแม่ เป็นเมีย ถ้าเป็นผู้ชายก็คิดว่าเขาเป็นลูกชาย เป็นพ่อ เป็นเพื่อน เราต้องมั่นใจว่าเมื่อเขาถึงมือเรา อยู่ในอ้อมกอดเราเขาต้องถึงโรงพยาบาล ต้องถึงมือญาติพี่น้องเขาต้องปลอดภัย
อีกข้อที่สำคัญคือ ความรับผิดชอบแน่นอนว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งย่อมมีหลายบทบาท ผมก็เช่นกัน ผมเป็นทั้งพ่อ เป็นสามี เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นลูก แต่เมื่อสวมชุดดับเพลิงเมื่อไร ผมต้องปฏิบัติหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยชีวิตคน ช่วยคนที่ผมไม่รู้จักให้เขารอดชีวิตให้ได้ หน้าที่อื่น ๆ ต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง ความรับผิดชอบตอนนั้นคือคนที่ติดในกองเพลิง ไม่ใช่ครอบครัว
ผมคิดอย่างเดียวว่า เวลาไหนอยู่ในบทบาทไหน ต้องทำบทบาทหน้าที่นั้นให้ดีที่สุดจริง ๆ ผมว่าทุกอาชีพนะ หน้าที่และความรับผิดชอบต้องมาก่อน
“มะเร็ง” ก็แค่โรคที่ต้องรักษา
หลังเปิดโรงเรียนได้ประมาณ 6 - 7 ปีผมอายุ 57 ปี ร่างกายก็เริ่มผิดปกติ ผมไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลจึงพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ ผมไม่ตกใจอะไรนะ เฉย ๆ ด้วยเพราะเคยผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมานับไม่ถ้วน เป็นนักดับเพลิง นักบิน ผิดพลาดนิดเดียวแค่ 2 วินาทีก็ตายได้ นี่เป็นมะเร็งอยู่ได้อีกตั้งนาน เที่ยวรอบโลกได้ตั้ง 10 รอบ(หัวเราะ) ตอนที่รู้ ผมถามว่าแล้วต้องทำอย่างไรต่อ หมอบอกว่าต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุดผมบอกได้ อย่างนั้นขอสอนอีกวันหนึ่งนะครับแล้วมะรืนเข้าห้องผ่าตัดเลย
ผมผ่าตัด 4 ครั้ง ให้คีโมสัปดาห์ละครั้งครั้งละ 6 - 12 ชั่วโมง ทั้งหมด 18 สัปดาห์ผมไม่ร่วงแม้แต่เส้นเดียว น้ำหนักขึ้น 14 กิโลกรัม เคยเห็นใครให้คีโมแล้วน้ำหนักขึ้น14 กิโลกรัมไหม ผมนี่แหละ (หัวเราะ) ตอนให้คีโมคือช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด สมมุติให้ทั้งหมด 10 ชั่วโมง ผมทรมานตลอด 10ชั่วโมงเลย บางหลอดเย็นจัด บางหลอดร้อนจัด บางหลอดบอกตรง ๆ เลยปวดมากตอนนั้นผมคิดอย่างเดียว อยากอยู่ไหมอยากอยู่ก็ทน ไม่อยากอยู่ก็ดึงสายออกแล้วตาย คิดแค่นั้นแหละ
หลังให้คีโมเสร็จก็ไม่ได้จบแค่นั้นเพราะคีโมจะทำลายทั้งเซลล์ดีและร้าย ปากเปื่อย เจ็บไปหมด กินอะไรไม่อร่อย แต่ผมไม่สน กินอย่างเดียว กินเพื่อให้อยู่รอดอร่อยไม่อร่อย ไม่ต้องคิด มีความสุขกับอาหารที่อยู่ตรงหน้าพอ เพราะถ้าเราไม่กินคีโมมันฆ่าเราก่อนจะฆ่ามะเร็งแน่ ๆ
ทุกอย่างอยู่ที่กระบวนการคิด ต้องกินเชื่อหมอ เชื่อเทคโนโลยี เชื่อกระบวนการรักษาพยาบาล แล้วถ้าไม่ไหวล่ะ ก็ตายไงคนทุกคนต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา กลัวไปทำไม เพราะสุดท้ายเราต้องตายอยู่ดี
สิ่งสำคัญคือต้องทำเวลานี้ให้ดีที่สุดถ้าคิดถึงใครก็โทรศัพท์ไปหาเขา พูดกับเขาบอกว่าเรารู้สึกอย่างไร เคยผิดใจกับใครก็ขอโทษ บางคนชอบบอกว่า เอาไว้ก่อน ๆกลับบ้านค่อยพูด คุณไม่รู้หรอก อนาคตไม่แน่นอน บางทีคุณอาจไม่มีโอกาสบอกแล้วก็ได้ ฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็พูดไปเลย
คลิกเลข 3 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
หลักการทำงานที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน
อดทน ซื่อสัตย์ สุจริต อย่าหยุดเรียนรู้ เป็นคนดีของบ้าน ของครอบครัวของแผ่นดิน แค่นี้แหละ อีกข้อที่สำคัญของผมคือ ฝึก ฝึก ฝึก แล้วก็ฝึก
งานของผมตั้งอยู่บนความเสี่ยง ฉะนั้นต้องเผชิญความสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วนทุกครั้งต้องมีบาดเจ็บ ตัวเราเองก็เจ็บบางครั้งเจ้าหน้าที่เสียชีวิต มันเจ็บปวดนะครับที่เราต้องเป็นคนบอกครอบครัวของเขาว่าเขาไม่ได้กลับมา เป็นเหมือนงานที่พาคนไปตาย ไม่มีใครมีความสุขหรอก
สิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่แค่พยายามทำใจ แต่เราต้องฝึกให้หนัก ฝึกทั้งตัวเองและลูกทีมเวลาเจอเหตุการณ์จริงจะได้รับมือได้ ฉะนั้นในชีวิตผมถึงฝึกอย่างเดียว จะหนักหนาอย่างไรก็ไม่ถึงตายหรอก เพราะถ้าไม่ฝึกแล้วไปใส่ชุดดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์หลาย ๆ ชั่วโมง คุณไม่รอดแน่นอน ชีวิตจริงเหตุการณ์อาจเกิดไม่เกิน 3 นาที แต่เราฝึกเป็นแสน ๆครั้ง เพื่อเอาชีวิตใน 3 นาทีนั้นให้รอด คุณว่าคุ้มไหม ผมว่าคุ้มนะ
สุขที่ได้สอน
ทุกวันนี้ความสุขของผมคือการสอนสอนให้คนมีจิตสำนึก สอนให้เขาเป็นคนเก่งและคนดี ตอนนี้ผมอายุ 64 ปีก็ยังไม่หยุดสอน แม้จะมีคนอยากเรียนแค่คนเดียวผมก็จะสอน เพราะสำหรับผม การทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้เขามีกำลังใจทำความดี ทำเพื่อสังคมต่อไป แค่วันละคนก็ถือว่าคุ้มแล้ว
ผมอาจจะเปลี่ยนประเทศไม่ได้ แต่ผมต้องเปลี่ยนคนที่อยู่ในความรับผิดชอบของผมให้ได้ ลูกศิษย์ผมต้องเป็นคนดี อดทนขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ และพร้อมทำเพื่อสังคม
หลายคนถามว่าเมื่อไรจะหยุดทำงานเพราะตอนนี้ผมก็อายุไม่น้อยแล้ว ผมถามกลับว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อของเราเคยหยุดทรงงานหรือเปล่า ไม่เลย ตอนที่พระองค์มีพระชนมพรรษา 84 พรรษาแม้ทรงพระประชวรก็ยังทรงงานเพื่อชาวไทย ผมก็เช่นกัน จะเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ ทำงานเพื่อแผ่นดินจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ความฝันอันสูงสุด
ตอนนี้ผมมีพร้อมสมบูรณ์แล้วครอบครัวมีความสุข ได้ทำงานตอบแทนสังคม แต่ผมก็ยังมีความฝันอีก 2 อย่าง ผมอยากให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีศูนย์ช่วยเหลือที่พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง แรงบันดาลใจนี้เกิดตอนที่ผมลงไปช่วยสึนามิที่ภาคใต้ ผมรู้เลยว่าประเทศเรายังไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ใหญ่ ๆ และรุนแรงอย่างนี้ หลังเหตุการณ์นั้นผมคิดทันทีว่าเราต้องสร้างระบบใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ใหญ่ ๆ แบบนี้ ผมจึงตั้ง DMAT (Disaster Medical Assistance Team) ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต
DMAT คือทีมช่วยเหลือที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือคนเวลาเกิดเหตุโดยรวมจิตอาสาจากหลากหลายอาชีพประกอบไปด้วยหมอ พยาบาล กู้ภัย หน่วยอาหารช่างเทคนิค คนขับรถ ตำรวจ ทหาร ฯลฯรวมแล้วประมาณ 35 คน มีรถบรรทุก 1 คันภายในมีอุปกรณ์ช่วยเหลือพร้อม ทั้งเรือยางอุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์ทำอาหารหากเกิดเหตุการณ์อะไรก็ขึ้นรถขับไปช่วยเหลือได้ทันที ฝันของผมคืออยากให้มีทีม DMAT จังหวัดละ 1 ทีม หากจังหวัดไหนเกิดเหตุการณ์รุนแรง จังหวัดใกล้เคียงก็ส่งคนไปช่วยเหลือได้
อีกความฝันซึ่งใกล้เคียงกันคือ ไม่ว่าประชาชนจะเจ็บป่วย ทุกข์ร้อนอย่างไรภายใน 3 นาทีต้องมีคนไปช่วย อาสาสมัครเรานี่แหละ ช่วยได้หรือเปล่านั่นอีกเรื่อง แต่อยากให้เขามีเพื่อน ให้รู้สึกว่ามีคนอยู่ข้าง ๆไม่โดดเดี่ยว ผมเชื่อเสมอว่า No one is left behind. เราต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังแม้แต่คนเดียว
ทุกวันนี้ผมและทีมงานทำงานอาสากู้ภัยด้วยความสุข ด้วยใจเต็มร้อย วันที่คุณเดือดร้อนคือวันที่เราเข้าไปหา วันที่คุณมีความสุข คุณไม่ได้เจอเราหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณสูญเสีย วันนั้นแหละครับ เราพร้อมจะไป
Secret BOX
การสอนให้คนเป็นคนดี เหมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่ดีลงสู่ผืนดินมันไม่มีทางหายไปไหนหรอก เดี๋ยวสักวันมันจะงอกงามเองผมมีความสุขที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินนี้ และได้ทำงานเพื่อแผ่นดินไทย
ชาติชาย ไทยกล้า
เรื่อง พิชญา สิทธิโชควงกมล, ชลิตา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี ผู้ช่วยช่างภาพ ประเมศฐ์ พิพิธชนินันท์, เสาวลักษณ์ สุขนวล สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์
Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/