วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ป๊อป – อารียา สิริโสดา อดีตนางสาวไทยปี 2537 ได้ใช้สื่ออินสตาแกรมแจ้งข่าวการจากไปของ คุณแม่ปทุมวรรณ ชุมสาย ซึ่งป่วยด้วยโรคสมองน้อยฝ่อ มานานกว่า 10 ปี
Secret ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเธอมา ณ ที่นี้ พร้อมกันนี้ก็ขอถือโอกาสย้อนบทสัมภาษณ์ของ ป๊อป – อารียา สิริโสดา ที่เคยฝากไว้ในนิตยสาร Secret ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2556 มาให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกครั้ง เพื่อชื่นชมกับความเป็น “ลูกกตัญญู” ที่ทรงคุณค่ายิ่งของเธอ
อย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ป๊อป – อารียา สิริโสดา เติบโตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหลังจากเรียนจบปริญญาตรี เธอก็มุ่งหน้าค้นหาอนาคตด้วยสองขาของตัวเอง จนกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย…ทิ้งครอบครัวอันอบอุ่นไว้เบื้องหลัง
ต้องดูแลคุณแม่แบบนี้ คุณป๊อปยังไปทำงานต่างจังหวัดนานๆ ได้อยู่หรือเปล่าครับ
อิสระแบบนั้นหายไปนานแล้วค่ะ (ยิ้ม) ตอนนี้ไม่ว่าจะไปออกค่าย ไปดูโขนหรือไปต่างจังหวัด ก็พาแม่ไปด้วย อย่างตอนไปถ่ายสารคดีภาคเหนือ ตอนนั้นแม่ยังเดินได้อยู่ เขาก็ดูสนุกสนานดี แต่อาการจะแย่ลงประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตอนนี้ก็เลยค่อนข้างแย่
เมื่อก่อนนี้ตอนเขายังเดินได้ แม่เดินรอบสระน้ำในหมู่บ้านระยะทางสักครึ่งกิโลได้เป็นสิบรอบ หลัง ๆ ลดลงมาเหลือ 5 รอบ และเหลือ 2 รอบ จนเดี๋ยวนี้แม่ให้เราขับรถรอบหมู่บ้านอย่างเดียวพอ ไม่ลงจากรถแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นความสามารถของแม่ที่ลดลงไปเรื่อย ๆ 6 เดือนที่ผ่านมา แม่แทบจะไม่ได้ออกจากบ้านเลย
หลังจากที่ทำกายภาพบำบัดตอนเช้าเสร็จแล้ว เขาก็จะนั่งเล่นไอแพ็ด ดูข่าว เขาติดละครมาก ถ้ายังไม่จบจะไม่ยอมออกจากบ้าน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ไม่ต้องชวนไปไหนเลย (หัวเราะ)
คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องธรรมะมากเลยค่ะ แม่เป็นสาวอยุธยาเต็มตัวที่มุ่งมั่นว่า ชาตินี้ฉันต้องสร้างวัด ต้องสะสมบุญเพื่อชาติหน้า ตอนเด็ก ๆ ที่มิชิแกนยังไม่มีวัด แต่บ้านเราจะรวมตัวกับคนไทยที่นั่นประมาณ 30 – 40 ครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคุณหมอที่ได้ทุนไปเรียนต่อ แล้วมาปฏิบัติธรรมด้วยกันเป็นประจำ นิมนต์พระมาทุกเดือน เดือนนี้มาจำวัดที่บ้านคนไทยคนนี้ เดือนต่อมาไปที่บ้านคนไทยอีกคนหนึ่ง
จำได้ว่าเคยนิมนต์ท่านปัญญา นันทภิกขุ มาด้วย แล้วด้วยความที่มีไม่กี่ครอบครัวที่พูดภาษาไทยได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นป๊อป เป้ (น้องชาย) แล้วก็อีก 2 – 3 ครอบครัวที่รับหน้าที่แปลความหมายที่พระท่านเทศน์ให้คนไทยที่นั่นฟัง จนกระทั่งช่วงหลังนี่เองถึงได้มีวัดแบบเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งก็ได้แม่นี่แหละเป็นประธานจัดหางบประมาณมาสร้างวัดปากน้ำมิชิแกนขึ้นมา
ส่วนพ่อ ตอนป๊อปอายุ 4 ขวบ เขาเคยไปบวชกับท่านพุทธทาส จำได้ว่าพอกลับมา พ่อเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย จากคนที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ชอบเที่ยวเตร่ ก็เลิกทุกอย่าง กลายเป็นคนที่ไม่แต่งตัว ไม่เต้นรำ แล้วก็ให้ลูก ๆ สวดมนต์ก่อนนอนตั้งแต่ตอน 6 – 7 ขวบ ให้นั่งสมาธิตอน 8 – 9 ขวบ สวดอะระหังสัมมากันทุกคืน
ตอนเด็ก ๆ ป๊อปค่อนข้างดื้อ ไม่อยากทำ นั่งแล้วรำคาญ ถอนหายใจแล้วถอนหายใจอีก ทำไมต้องมาทำสมาธิตอนนี้ อยากดูการ์ตูนมากกว่า เพิ่งมาเห็นค่าตอนอายุสัก 13 ขวบ ช่วงใกล้สอบ (หัวเราะ) เฮ้ย! แปลก พอนั่งสมาธิก่อนอ่านหนังสือแล้วข้อมูลกลับเข้าสมองได้ดีขึ้น แถมยังนอนหลับลึกได้เร็ว ตื่นเช้ามาก็สดชื่น สมองเราก็สดใสขึ้น
การนั่งสมาธิจึงเหมือนกับเราได้ล้างสมอง คล้ายฟองน้ำที่บีบน้ำเก่าออกไปจนหมด ทำให้ดูดซับน้ำได้ดีขึ้น ถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้อ่านหนังสือได้ดีขึ้นมาก
พอโตขึ้นล่ะครับ ธรรมะช่วยในการใช้ชีวิตได้อย่างไรบ้าง
ช่วยเยอะค่ะ โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องเผชิญปัญหา อย่างช่วงที่แม่ป่วย แรก ๆ ก็ท้อเหมือนกัน เพราะถึงเราจะได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า คนเราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ถ้าโชคดีก็จะมีวงจรชีวิตครบทั้งหมดนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเครียดว่าทำไมวงจรของแม่ถึงเร็วขนาดนี้ เพราะแม่อายุแค่ 60 ต้น ๆ เอง
แต่พอมาย้อนคิดดู คุณตากับคุณยายก็เสียตอน 60 กว่า อายุราว ๆ นี้เหมือนกัน ดังนั้นต้องทำใจ แต่สิ่งที่แม่ทำใจลำบากที่สุดคือ ตอนที่รู้ว่าต่อไปอาการจะเป็นอย่างไร นอกจากแย่ลงเรื่อย ๆ แล้ว ยังไม่มีวิธีรักษาด้วย กว่าจะทำใจจนถึงขั้นยอมรับได้ ต้องผ่านหลายขั้นตอนและใช้เวลานานมาก ๆ
แรก ๆ เริ่มจากแม่รู้สึกว่าไม่เชื่อ ไม่จริง ตามด้วยช่วงที่โทษหมอ โกรธ อึดอัด รำคาญ จะสู้มัน พอสู้เสร็จก็มีการต่อรอง แม่จะพยายามทำบุญใส่บาตร ปล่อยปลา ทำนั่นทำนี่เพื่อต่อรองให้ตัวเองหาย รวมทั้งพยายามรักษาทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะทำพลาสมา แม่ต้องขายที่นา เพื่อเอาเงินไปทำทรีตเมนต์ทีละสองแสน แต่ก็ยังไม่หาย บินไปฉีดสเตียรอยด์ที่อเมริกา ปรากฏว่านอกจากจะไม่หายแล้ว ยังตัวบวมอ้วนขึ้นมาอีก
สุดท้ายก็ไม่มีอะไรดีขึ้น จนถึงขั้นซึมเศร้า หลายครั้งที่แม่ตื่นมาร้องไห้ แล้วก็เอาแต่คร่ำครวญว่าทำไมต้องเป็นฉัน หรือไม่ก็พยายามเปิดเทปธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี ของอาจารย์กำพลจนลั่นบ้าน เวลานอนเขาก็จะละเมอชกซ้ายป่ายขวาต่อยใครก็ไม่รู้ แล้วก็จะร้องกรี๊ด ๆ ๆ ขึ้นมากลางดึกโดยไม่รู้ตัว คล้ายกับมีหลายสิ่งหลายอย่างอัดแน่นอยู่ในสมองของเขา
ตลอดเวลาที่แม่เป็นอย่างนี้ ป๊อปมองแม่ด้วยความรู้สึกเหมือนเห็นคนกำลังจมน้ำ แล้วช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย ซึ่งมันทำให้หัวใจของเราทั้งคู่แตกสลาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ถึงสเต็ปสุดท้าย เราต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ เราเองก็ไม่รู้ว่าควรจะให้แม่มีความหวังต่อไปอีกหรือเปล่า เพราะถึงตอนนี้มันก็ผ่านมาหลายปีแล้ว และโลกของเขาก็ค่อย ๆ แคบลง ๆ เหมือนติดอยู่ในคุกของตัวเองเลยก็ว่าได้
ช่วงเป็นใหม่ ๆ เวลาไปไหนที เขาจะหงุดหงิดมาก อย่างป๊อปถามเขาว่า เดี๋ยวไปกินไอติมกันไหม เขาก็จะตะคอก “เธอไม่เห็นหรือว่าฉันพิการอยู่นะ ฉันเดินไม่ได้” หรืออย่างเมื่อต้นปี เขางอแง ไม่ชอบแม่บ้านที่จ้างมาดูแล ก็โวยวาย เคยหนีออกจากบ้าน จนเราต้องเอากุญแจไปแอบไว้ข้างบนบ้าน แต่แม่ก็ยังพยายามจะหากุญแจให้ได้ เราก็ถามว่าจะไปไหนเหรอ
เขาก็ตะคอกว่า “ฉันไม่อยู่แล้ว ฉันจะไม่มาเหยียบที่นี่อีกแล้ว” เราก็ต้องพยายามคุยกับเขาดี ๆ ว่า “โอเคจ้ะ ๆ ได้ ๆ” คือ เรารู้อยู่แล้วว่าแม่ค่อนข้างจะเป็นคนอารมณ์แรง แต่ขึ้นเร็วแล้วหายเร็ว ก็ต้องพยายามทำให้เขาใจเย็นลงเสียก่อนแล้วค่อยพูดกัน
แต่กว่าจะถึงขั้นนี้ได้ คนที่ดูแลก็ต้องเข้มแข็งมากๆ เลยนะครับ
คงไม่ใช่ความเข้มแข็งหรือมีอีคิวดีอย่างเดียวหรอกค่ะ แค่ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ก็เท่านั้น บางทีเครียดมาก ก็จะเขียนระบายในสมุดบันทึกเอา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ก่อนที่เราจะไปช่วยคนที่กำลังจมน้ำอยู่ เราต้องว่ายน้ำให้เป็นเสียก่อน ไม่ใช่ว่าว่ายน้ำไม่เป็นแล้วไปช่วยคนอื่น
การดูแลที่ดีไม่ใช่การทุ่มเทดูแลจนตัวเองไม่เหลืออะไรเลย แต่เราต้องรู้จักรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง และต้องมีเวลาให้ตัวเองบ้าง ตอนเช้า ๆ ระหว่างที่แม่ทำกายภาพบำบัด ป๊อปจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปเล่นเทนนิส เล่นเสร็จ ขี่ไปซื้อกับข้าวแล้วค่อยกลับมากินข้าวกับแม่ที่บ้าน หรือไม่ป๊อปก็จะเล่นโยคะ ซึ่งช่วยได้เยอะมาก ช่วยได้ทั้งเราแล้วก็ช่วยแม่ด้วย
ตอนนี้ป๊อปเพิ่งเริ่มเปิดคลาสสอนโยคะที่บ้าน เพราะด้วยความที่แม่เป็นอย่างนี้เลยเหมือนถูกบังคับให้อยู่แต่ในหมู่บ้าน ไปไหนไกลไม่ได้ กลายเป็นว่ามีคนในหมู่บ้านมาเคาะประตูให้สอนที่นี่แทน ทำให้มีคนมาบ้านเราเป็นประจำ แม่เลยไม่เหงา
และด้วยความที่เขาเป็นวิศวกรคอยตรวจสอบรถยนต์มาทั้งชีวิต พอได้ดูลูกสอนโยคะ เขาเลยมาจับผิดคนแทน ว่าคนนี้เก่ง คนนั้นขี้โกง ทำขาไม่ตรง แล้วเขาก็จะนั่งหัวเราะอยู่คนเดียว บ้านก็เลยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
พอได้สอน เราก็มีความสุข แม่มานั่งดูก็แฮ็ปปี้ที่มีคนมาเยี่ยม เพราะจริง ๆ แล้วแม่เป็นคนที่ชอบสังคม ชอบให้คนมาเจ๊าะแจ๊ะกับเขา ตอนอยู่อเมริกา เขาก็มีสังคมที่มั่นคงเหนียวแน่นของเขาอยู่แล้ว แต่พอป่วย ก็ต้องย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย เหมือนเอาปลาออกจากน้ำมาอยู่อีกที่หนึ่ง แม่เลยค่อนข้างเหงา นาน ๆ ทีถึงจะมีคนจากมิชิแกนแวะมาเยี่ยม จนตอนหลังเขามีไอแพ็ด เลยมีทางออกมากขึ้น เขาก็เล่นสไกป์ คุยกับเพื่อน ๆ ที่อยู่อเมริกาบ้าง คุยกับหลวงพี่ที่วัดปากน้ำมิชิแกนบ้าง
ถึงวันนี้คุณป๊อปคาดหวังกับอาการของคุณแม่อย่างไรบ้างครับ
ตอนนี้เป้าหมายของชีวิตป๊อปก็คือ การที่ได้เห็นแม่ยิ้มมีความสุข ยิ่งเขาหัวเราะได้เนี่ย ใจมันเบิกบานมากเลยนะ ไม่ได้คิดไกลไปกว่าการทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายหรือเปล่า การที่คิดได้แบบนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าของช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันจะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียใจทีหลัง ว่าวันที่เขายังอยู่ เราไม่ได้ทำเต็มที่
นอกจากนั้นป๊อปคิดว่า อย่างน้อยการที่แม่ป่วยก็ทำให้เราได้กลับมาสนิทกันมากขึ้น ปมที่เราเคยมีต่อกันก็ลดลงไปเยอะมาก หลังจากห่างกันไปยี่สิบกว่าปี ไม่ว่าจะเป็นปมที่ไม่ใช่ลูกคนโปรดหรือปมที่เป็นลูกคนโต จนกระทั่งได้มาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง ตลอดเวลาสองปีกว่าที่แม่ป่วย ทำให้เราได้เข้าใจผู้หญิงคนนี้เพิ่มขึ้นมาก
รวมทั้งได้เรียนรู้ว่า ความรักคือการให้อภัยและความเข้าใจ ซึ่งทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ Secret of Life :::
นิตยสาร Secret ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 2556
เรื่อง พีรภัทร โพธิสารัตนะ
ภาพ : IG @pop_areeya
บทความน่าสนใจ
เพราะรักมากจึงทุกข์มาก ไม่ปล่อยวางจึงไม่หลุดพ้น ข้อคิดตัวอย่างจากผีการะเกด
วิธีค้นหาความสุข ได้ง่ายๆ จากการนับถือตัวเอง
จงปล่อยวาง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ธรรมะสอนใจ จากพระไพศาล วิสาโล