ทำความรู้จักกับ “ ดอกไม้ของพ่อ ”
ดอกไม้ของพ่อ
ช่วงนี้ไม่ว่าจะไปทางไหนเราก็จะพบกับ ดอกดาวเรือง ที่บานสะพรั่งทุกๆพื้นที่ เนื่องจากว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมใจกันปลูก ดอกดาวเรือง ให้บานเหลืองอร่าม การผลิบานของ ดอกดาวเรืองทั้งหลายเป็นเสมือนตัวแทนความรัก ความเทิดทูน และความจงรักภักดีอย่างมิเสื่อมคลายต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือแม้แต่การเข้าไปกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่หน้าพระบรมมหาราชวัง ก็จะพบเห็นผู้คนใช้พวงมาลัย ดอกดาวเรือง เช่นกัน เชื่อว่าหลายคนต้องสงสัยอย่างแน่นอนว่าทำไมถึงต้องเป็น ดอกดาวเรือง Secret จึงมีความรู้มาฝากค่ะ
ในปี พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบิพตร ได้ทรงนำเมล็ดพันธุ์ ดอกดาวเรือง จากประเทศเนเธอร์แลนด์ กลับมายังประเทศไทย พระองค์ทรงโปรด ดอกดาวเรือง ด้วยเหตุที่เป็นดอกไม้สีสวย และปลูกง่าย ทรงพระราชทานมาให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทดลองปลูกและขยายพันธุ์ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกประดับบ้านเรือน
“ ดอกดาวเรือง ” มีสีเหลืองอร่ามตรงกับ “วันจันทร์” ซึ่งเป็นวันประสูติของพระองค์ และเปรียบเสมือนพระจริยวัตรที่งดงาม เรียบง่าย พอเพียงของพระองค์ อีกทั้งยังมุ่งแต่จะทำประโยชน์ให้คนไทยทั้งหลายอยู่เสมอ น้ำพระทัยและมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทำให้คนไทยรู้สึกซาบซึ้งและตราตรึงอยู่ในใจมาอย่างยาวนาน เหมือนดังระยะเวลาที่ดอกดาวเรืองบานสะพรั่งก็ยาวนานเช่นกัน ดังนั้น “ ดอกดาวเรือง ” จึงเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ทำความรู้จัก “ ดอกดาวเรือง ” กันอีกสักนิดนะคะ
“ ดอกดาวเรือง ” (Marigold) ถือเป็นต้นไม้มงคลที่เชื่อกันว่า เป็นดอกไม้ที่มาจากสรวงสวรรค์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ทางภาคเหนือของไทยยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า คำปู้จู้ คำปู้จู้หลวง และดาวเรืองใหญ่ นิยมปลูกตัดดอก เป็นดาวเรืองในกลุ่ม African หรือ American marigold เป็นพันธุ์ดอกใหญ่ พันธุ์ที่ใช้เป็นการค้าในประเทศไทยได้แก่พันธุ์ซอเวอริน (soverign) นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่นำเข้ามาได้แก่ พันธุ์จาเมกาและอื่น ๆ อีกหลายพันธุ์ สำหรับประเทศไทย มีแหล่งปลูกทีสำคัญ คือ จังหวัดพะเยา ลำปาง นนทบุรี กรุงเทพฯ ราชบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุดรธานี ด้วยสีสันของกลีบดอกที่เหลืองอร่าม เลยทำให้ ดอกดาวเรือง กลายเป็นตัวแทนที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และความสว่างไสว อีกทั้งยังนิยมนำไปใช้ถวายพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อด้วย
ข้อมูลจาก kaijeaw.com edtguide.com
เรียบเรียง ชลิตา