แมทธิว โอเรลลี่

แมทธิว โอเรลลี่ ชายผู้สัมผัสนาทีสุดท้ายของหลายชีวิต

แมทธิว โอเรลลี่ ชายผู้สัมผัสนาทีสุดท้ายของหลายชีวิต – คุณคิดว่าห้วงนาทีสุดท้ายของชีวิตคนเราจะเป็นอย่างไร เราจะทุกข์ทรมานแค่ไหน เราจะมีห่วงเรื่องใดหรือเราจะวางทุกอย่างได้ด้วยใจสงบ

แมทธิว โอเรลลี่ (Matthew O’Reilly) เป็นหนึ่งในทีมแพทย์ฉุกเฉินที่นิวยอร์ค มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือผู้บาดเจ็บจากพายุเฮอร์ริเคน

ตลอดเวลาที่แมทธิวทำอาชีพนี้เขาต้องเจอกับห้วงนาทีที่คนไข้มีอาการหัวใจวาย ใกล้หมดลมหายใจ ก่อนจะเอ่ยถามเขาว่า “ตอนนี้ฉันกำลังจะตายใช่ไหม” แม้เขารู้ดีว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนหมดหนทางรักษา แต่เขากลับเลือกไม่บอกความจริงกับผู้ป่วย

“ผมมีอยู่สองทางเลือก ระหว่างบอกคนไข้ว่าเขากำลังจะตาย หรือโกหกพวกเขาเพื่อให้พวกเขาสบายใจ ในช่วงแรกที่ผมทำอาชีพนี้ ผมเลือกที่จะโกหก  ผมกลัวว่า ถ้าบอกความจริง พวกเขาจะเสียชีวิตไปพร้อมกับความกลัว และพยายามตะเกียกตะกาย ในวาระสุดท้ายของชีวิต”

แต่แล้วเมื่อ 7 ปีก่อนความคิดของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเขาได้รับคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ เหตุการณ์เป็นเหมือนเช่นทุกครั้ง คนไข้มีอาการสาหัสมาก จนเขารู้ว่าไม่มีทางช่วยคนไข้ได้แล้ว คนไข้มองตาเขา แล้วถามคำถามเดียวกับคนไข้คนอื่นๆ “ผมกำลังจะตายใช่ไหม” ทว่าครั้งนี้เขาตัดสินใจบอกความจริงกับผู้ป่วยว่า “ใช่ คุณกำลังจะตายและผมไม่สามารถช่วยอะไรคุณได้”

แมทธิว โอเรลลี่

หลายคนอาจนึกภาพว่าคนไข้คนร้องไห้อย่างบ้าคลั่ง แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เขาเอนตัวลง สีหน้าไร้ซึ่งความหวาดกลัว แต่กลับมีสีหน้าแววตาที่แสดงออกถึงการยอมรับความจริงอย่างนิ่งสงบ

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาจึงคิดได้ว่า การทำให้คนไข้สบายใจก่อนตาย ด้วยคำโกหกนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เขาจึงเลือกบอกความจริงกับคนไข้อีกหลายราย เกือบทุกรายมีปฏิกริยาต่อความจริงคล้ายกัน คือพวกเขาล้วนยอมรับความจริงอย่างสงบ

เขาค้นพบว่า ก่อนตายคนไข้หลายคนมักแสดงอาการออกมาสามลักษณะ ลักษณะแรกคือพวกเขาล้วนต้องการการให้อภัย

 “ผมเคยได้ดูแลชายสูงวัยท่านหนึ่ง ซึ่งมีอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ขณะที่ผมกำลังเตรียมอุปกรณ์รักษาเขาอยู่นั้น ผมก็เริ่มเกริ่นให้เขาทราบถึงอนาคตที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ของเขา เขาทราบได้จากน้ำเสียง และท่าทางของผม และในขณะที่ผมกำลังติดแผ่นวัดคลื่นหัวใจลงบนหน้าอกของเขา เขามองตาผม แล้วพูดว่า “ผมน่าจะใช้เวลากับลูกหลานให้มากกว่านี้” “ผมไม่น่าจะเห็นแก่ตัวเอาเวลาไว้ทำเพื่อตัวเองเลย”

ลักษณะที่สองคือพวกเขาอยากถูกจดจำไว้ในความทรงจำของคนข้างหลัง รวมทั้งตัวนายแมทธิวเอง อย่าง หลายต่อหลายครั้ง ที่คนไข้มองตาเขา แล้วถามว่า “คุณจะจำผมได้ไหม”

และลักษณะสุดท้าย คือพวกเขาอยากแน่ใจว่าชีวิตที่ผ่านมาของตนเองมีความหมาย ไม่ได้ใช้เวลาในชีวิตไปกับสิ่งเปล่าประโยชน์

แล้วคุณล่ะ ทำชีวิตวันนี้ให้มีความหมายหรือยัง

http://www.aftertedtalks.com/matthew-oreilly/

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

ภาพ : Ted.com

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

เพื่อนรักสุดซี้คบกันมานานกว่า 60 ปี เพิ่งรู้ความจริงว่าที่แท้เป็น พี่น้อง กัน

10 ความจริงสูงสุดที่ทุกคนควรตระหนัก!!! โดยคุณพศิน อินทรวงค์

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.