น้ำชุบโจร คนใต้เรียกน้ำพริกว่า “น้ำชุบ” มีความหมายคือ จิ้ม เคลือบน้ำพริกภาคใต้หรือน้ำชุบนั้นมี 2 แบบ คือ “น้ำชุบยอก” และ “น้ำชุบหยำ” น้ำชุบยอกคือ น้ำพริกที่โขลกด้วยครกและสาก ต่างจากน้ำพริกกะปิตรงที่ใส่หอมเล็กแทนกระเทียม ส่วนน้ำชุบหยำ จะหั่นส่วนผสมเป็นชิ้นเล็ก ๆ รวมกับเครื่องปรุงแล้วใช้มือขยำให้เข้ากัน ผักที่กินกับน้ำชุบ ภาคใต้จะเรียกว่า “ผักเหนาะ” หมายถึง ผักสด ผักลวกกะทิหรือผักดอง
เอกสารอ้างอิง : “ไขภาษาภูเก็ต” โดยครูคม คำทัปน์
น้ำชุบถ้วยนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีโจรแอบย่องเข้าไปขโมยของในบ้านคนอื่น ระหว่างนั้นเกิดหิวขึ้นมา ก็เลยเข้าครัวเปิดดูตู้กับข้าวพบกับความว่างเปล่า จึงนำวัตถุดิบในครัวมาทำน้ำชุบแต่ไม่กล้าใช้ครกโขลกเพราะกลัวจะเกิดเสียงดัง เดี๋ยวคนจับได้ และด้วยความที่เป็นโจรจึงไม่พิถีพิถัน เพราะถ้ามัวแต่ไร (ชักช้า) จะหนีนาย (ตำรวจ) ไม่ทันนั่นเอง ส่วนเรื่องรสชาติมีดีไม่แพ้น้ำพริกชนิดอื่นจะอร่อยเด็ดขนาดไหน ได้ลองแล้วจะรู้เอง
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ถ้วย) เตรียม 5 นาที ปรุง 2 นาที
- กุ้งต้มหั่นชิ้นเล็ก ½ ถ้วย
- พริกขี้หนูซอย 10 เม็ด
- หอมเล็กซอย 3 หัว
- กะปิห่อใบตองย่าง 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
ผสมทุกอย่าง คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน เสิร์ฟกับผักเหนาะ
Tip : ใช้กุ้งแห้งหรือปลาย่างแทนกุ้งต้มได้
พลังงานต่อหนึ่งถ้วย 244.16 กิโลแคลอรี
โปรตีน 19.49 กรัม ไขมัน 7.31 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 24.20 กรัม ไฟเบอร์ 4.02 กรัม
เรื่อง : ครัว H & C ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : นิสายชล, สันศนีย์ ภาพ : พีระพัฒน์
ผู้ช่วยช่างภาพ : เทวัญ สไตล์ : กษมา ผู้ช่วยสไตลิสท์ : ดวงธนัตย์