กับดักของเงินและงาน บทความให้ข้อคิดดีๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี
บทความให้ข้อคิดดี ๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี
คนส่วนใหญ่ล้วนมีชีวิตอยู่ในโลกของการทำงาน เราทำงานกันไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมงนับแต่เรียนจบ หรือบางคนทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเสียด้วยซ้ำ เวลาเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่แต่ละคนทุ่มให้กับงานก็ไม่ต่ำกว่า 40 - 45 ปี คิดเป็นชั่วโมงราว 80,000 ชั่วโมงโดยประมาณ ระหว่างที่ทำงานนี้หลายต่อหลายคนมุ่งมั่นอุทิศตนให้กับงานและเงิน เพลิดเพลินจนหลงลืมมองถึง
สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งในชีวิตไป นั่นก็คือ “สุขภาพ” เมื่อเขามีเงินมากมาย แต่กลับกลายเป็นคนที่สุขภาพไม่ดี เงินที่มีมากมายจึงไม่ใช่เหตุปัจจัยแห่งความสุขอย่างที่หวัง แต่กลับกลายเป็นภาระที่ต้องแบก ต้องหาม ต้องห่วง หรือบางทีถึงกับเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวเสียเอง ด้วยเหตุนี้เมื่อถูกถามว่ามีอะไรที่น่าฉงนใจที่สุดในชีวิต องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตและของโลกจึงตอบว่า
“Man surprised me most about humanity. Because he sacrifices his health in order to make money. Then he sacrifices money to recuperate his health. And then he is so anxious about the future that he does not enjoy the present; the result being that he does not live in the present or the future; he lives as if he is never going to die, and then dies having never really lived.”
“สิ่งที่น่าฉงนใจสำหรับข้าพเจ้าก็คือมนุษย์อย่างเรานั่นเอง เพราะคนเรานั้นยอมสละสุขภาพเพื่อหาเงิน แล้วก็ยอมสละเงินเพื่อฟื้นฟูดูแลสุขภาพ จากนั้นก็เฝ้าเป็นกังวลถึงแต่อนาคตจนไม่มีเวลาจดจ่ออยู่กับปัจจุบันอันรื่นรมย์ ผลลัพธ์ก็คือ เขาแทบไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอยู่กับอนาคต เขาดำเนินชีวิตดังหนึ่งว่าจะไม่มีวันตาย แต่แล้วเขาก็ตายจากไปอย่างคนที่แทบไม่เคยมีชีวิตอยู่จริง ๆ”
โลกในยุคทุนนิยม บริโภคนิยมอย่างทุกวันนี้ งานและเงินคือ “แรงจูงใจ” สำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปแต่นับวันเรากลับมีชีวิตอยู่ได้ยากลำบากมากขึ้น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้ หากเราไม่รู้จักมองหา “จุดสมดุล” ของชีวิต สักวันหนึ่งเราคงมานั่งรำพึงด้วยความเสียดายว่า “ชีวิตที่ผ่านมาช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย” เพราะในวันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วนั้นเราเอาแต่เตรียมสะสมทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง สถานภาพทางสังคม แต่แล้วเรากลับหลงลืมสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งไป นั่นก็คือ เราไม่ได้เตรียมตัวเองให้มี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีพอจะอยู่เพื่อเสวยผลแห่งความวิริยอุตสาหะของตนเอง ดังนั้นในวันเวลาที่เรามีเงิน มีตำแหน่งพร้อมที่สุด เรากลับแทบไม่มีเวลาและสุขภาพที่ดีพอเพื่อจะอยู่ชื่นชมในสิ่งที่เราสู้หามาทั้งชีวิต
สมดุลงาน สมดุลชีวิต
ทางสายกลางคือหนทางแห่งความพอดี ที่ดีพอที่เราทุกคนควรจะปฏิบัติตามนั้น หากเรานำมาประยุกต์เพื่อให้สอดคล้องกับโลกของการทำงาน และดำรงชีวิตอย่างสมสมัย ก็อาจจัดเป็นคู่แห่งความสมดุลได้ 4 คู่ (อาจเรียกว่า ทฤษฎี 4 สมดุล) ประกอบด้วย
คู่ที่ 1 สมดุลกาย + สมดุลใจ (กายแข็งแรง - ใจเข้มแข็ง)
คู่ที่2สมดุลงาน +สมดุลชีวิต(คนสำราญ - งานสำเร็จ)
คู่ที่ 3 สมดุลโลก + สมดุลธรรม (โลกไม่ช้ำ - ธรรมไม่เสีย)
คู่ที่4สมดุลส่วนตัว+สมดุลส่วนรวม(ส่วนตัวเยี่ยม - ส่วนรวมยอด)
ใครก็ตามปรับชีวิตให้สอดคล้องตามหลัก 4 สมดุลดังกล่าวมานี้ จะมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุข ความเจริญ ทั้งทางโลก ทางธรรม ทางกาย และทางจิตนับว่ามีชีวิตที่คุ้มค่า
กวีนิพนธ์ “สมดุลงาน สมดุลชีวิต”
เราเป็นคน… ไม่ใช่หุ่นยนต์เหล็กไหล
ทำงานหนักหนาสาหัสเพียงไร โปรดเตือนตนไว้ว่า “เราเป็นคน”
อย่ามัวทำงานจนบานตะไท พอเริ่มป่วยไข้วุ่นวายสับสน
มีเงินมากมายแต่กายพิกล ชีวิตมืดมนเกือบเกินเยียวยา
สุขภาพคือคำศักดิ์สิทธิ์ จงอย่าเห็นผิดงกเงินเพลินบ้า
สุขภาพไม่ดีถึงมีเงินตรา ทรัพย์สินประดาก็เปล่าประเดิม
“รื่นรมย์ในงาน เบิกบานในชีวิต” นี่คือเข็มทิศที่ควรส่งเสริม
ชีวิตคุ้มค่าต้องหาธรรมเจิม “ทางสายกลาง” เติมแต่งให้พอดี
เรื่องจาก : นิตยสาร Secret
บทความที่น่าสนใจ
รวม 10 ข้อคิดเตือนใจ ให้ธรรมนำทาง จากพระอาจารย์ นิตยสาร Secret
ความประมาท 5 ประการที่ชาวพุทธควรหลีกเลี่ยง บทความดีๆ จากท่าน ว.วชิรเมธี
ยิ้มไว้ก่อน ท่าน ว สอนไว้! 8 วิธีสลายความเครียด สูตร ว.วชิรเมธี
การบวช ไม่ใช่หนทางเดียวสู่ มรรคผล นิพพาน ธรรมะจาก ท่าน ว.วชิรเมธี