บำรุงเลือด ของหญิง 3 วัย
ด้วยเหตุผลนี้ หญิงสาววัยแรกรุ่นจึงสรรหาวิธีเพิ่มปริมาณเลือด หรือ บำรุงเลือด เพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสีย เมื่อเติบใหญ่เป็นหญิงสาวเต็มตัว เธอมักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพเลือด หลังจากนั้น เธอต้องดูแลสุขภาพอย่างยิ่งยวด เพื่อหลีกหนีอาการ “เลือดจะไป ลมจะมา”
พฤติกรรมดังกล่าวยืนยันได้ดีว่า ผู้หญิงทุกคนรู้ซึ้งถึงความสำคัญของเลือด และไม่เกี่ยงงอนที่จะทำทุกวิธีเพื่อให้มีสุขภาพ (เลือด) เป็นเลิศ การเรียนรู้วิธีบำรุงเลือดอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับวัยจึงเป็นตัวช่วยเดียวที่ช่วยให้พวกเธอบรรลุถึงเป้าหมายได้
เจาะปัญหาระบบเลือด 3 วัย
ในแต่ละวัยร่างกายต้องการการดูแล บำรุงเลือด ที่ต่างกัน เช่นเดียวกับระบบเลือดที่ต้องการการเอาใจใส่ที่เหมาะสมกับกิจกรรมและปัญหาในแต่ละวัย
20+ เลือดจางก่อนวัย
นายแพทย์บุญชู พงศ์ธนากุล สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าวว่าปัญหาเรื่องเลือดที่พบมากในผู้หญิงวัยนี้คือ โลหิตจางซึ่งสืบเนื่องมาจากสาเหตุต่อไปนี้
1.พฤติกรรมทำเลือดจาง คุณหมอบุญชูเล่าว่า “ผู้หญิงวัยนี้มักมีพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ คือ จำกัดอาหาร ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างเลือด เช่น ธาตุเหล็กและโฟเลต
“นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพอื่นๆ เช่น กินอาหารทำลายสุขภาพและนอนดึก ซึ่งส่งผลเสียต่ออวัยวะที่มีส่วนในการสร้างเลือด เช่น ตับ ไต และปอด เป็นต้น ทำให้ผู้หญิงวัยนี้มีภาวะโลหิตจางเป็นจำนวนมาก”
2.ประจำเดือน เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา การมีปัญหาเรื่องประจำเดือนเล็กๆน้อยๆถือเป็นเรื่องธรรมดา ทว่าการปล่อยให้เรื้อรังหรือรุนแรงอาจลุกลามไปสู่ปัญหาใหญ่ ดังที่คุณหมอบุญชูกล่าวว่า
“ในผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมามากเกินหนึ่งอาทิตย์ หรือประจำเดือนมากะปริบกะปรอย ต้องระวังภาวะขาดธาตุเหล็กเพราะ ถึงแม้ประจำเดือนจะเป็นผนังมดลูกที่หลุดลอกออกมาแล้ว แต่ก็กระทบถึงเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณผนังมดลูก ทำให้เสียเลือดและธาตุเหล็กมาก หากปล่อยให้เรื้อรังจะทำให้มีภาวะโลหิตจางได้”
35+ โรคเลือดถามหา เมื่อละเลยสุขภาพ
โดยปกติแล้วการทำงานของระบบเลือดในคนวัยนี้ยังคงแข็งแรงดี แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนอายุสี่สิบปีขึ้นไปมีปัญหาเรื่องเลือดกันมากขึ้น เพราะสาเหตุต่อไปนี้
1.ชีวิตติดจรวด ทำเส้นเลือดเสีย รองศาสตราจารย์นายแพทย์พลภัทร โรจน์นครินทร์ หัวหน้าสาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “ปัจจุบันพบว่าคนไทยมีปัญหาในระบบไหลเวียนโลหิตกันมากขึ้น เพราะป่วยด้วยโรคเส้นเลือดอุดตันกันมาก เมื่อเส้นเลือดมีไขมันอุดตัน ระบบไหลเวียนโลหิตก็ทำงานไม่ดี
“อาการนี้มักพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบและเคร่งเครียด คือ พักผ่อนน้อย เครียดมาก กินเนื้อสัตว์และอาหารที่มีไขมัน”
2.ปัญหาสะสมของคุณแม่ คุณหมอพลภัทรกล่าวว่า “ผู้หญิงวัยกลางคนบางคนมีภาวะโลหิตจาง เพราะในช่วงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมลูกได้รับสารอาหารไม่พอ และเมื่อพ้นช่วงดังกล่าวก็ไม่ได้กินอาหารเข้าไปเพื่อทดแทน ส่งผลให้เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนและร่างกายเริ่มอ่อนแอ จึงมีภาวะโลหิตจาง”
50+ เลือดแย่ เพราะโรคร้าย
ปัญหาของผู้หญิงวัยนี้ คือ โลหิตจาง แต่มีสาเหตุที่แตกต่างจากวัยอื่นๆเนื่องจากอวัยวะสร้างเลือดอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับมีโรคประจำตัวบางชนิดที่คอยบั่นทอนการทำงานของระบบเลือด ดังนี้
1.ไขกระดูกเสื่อม คุณหมอบุญชูกล่าวว่า “เมื่ออายุมากขึ้นไขกระดูกก็ทำงานได้น้อยลงและเกิดพังพืดในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้น้อยลง นอกจากนี้เม็ดเลือดที่ถูกสร้างจะไม่สามารถทำงานได้ เพราะมีรูปร่างผิดปกติ เมื่อไขกระดูกผลิตเลือดไม่ได้เต็มที่ม้ามและตับจึงต้องรับหน้าที่สร้างเลือดแทน”
2.กระดูกพรุน “ร่างกายของผู้หญิงวัยนี้จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนหรือมีความแข็งแรงของกระดูกน้อยลง เมื่อกระดูกอ่อนแอจึงส่งผลโดยตรงต่อการผลิตเลือดในไขกระดูก” คุณหมิบุญชูกล่าว
3.โรคประจำตัวอื่นๆ คุณหมอบุญชูอธิบายว่า “สาเหตุที่คนสูงอายุมีปัญหาเรื่องเลือดมากกว่าในวัยอื่นไม่ใช่ เพราะร่างกายสร้างเลือดที่ไม่มีคุณภาพแต่เกิดจากอวัยวะสร้างเลือดเสื่อมลงจนไม่สามารถผลิตเลือดได้เท่าเดิมจึงทำให้มีภาวะโลหิตจาง
“ดังเช่น คนที่มีปัญหาโรคไตเสื่อม ไตก็จะไม่ผลิตฮอร์โมนไปกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเลือด หรือคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง การแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือดก็จะไม่ดี ร่างกายก็จะสั่งให้ผลิตเลือดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเลือดเหนียวและข้น”
“ระบบไหลเวียนโลหิต” วงจรสูบฉีดพลังชีวิต
ระบบไหลเวียนโลหิตคือ วงจรสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์เพราะหากขาดตัวกลางที่เปรียบดั่งเส้นทางการส่งต่อสารอาหารและขับถ่ายของเสียแล้ว ร่างกายคงตายในไม่ช้า
คุณหมอบุญชูอธิบายถึง การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตเบื้องต้นดังนี้
“เลือดถูกสร้างจากอวัยวะหลักคือ ไขกระดูก จากนั้นหัวใจจะสูบปั๊มเลือดให้ไปเลี้ยงร่างกายผ่านทางเส้นเลือด โดยมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจน และทำให้เลือดเสียกลายเป็นเลือดดีที่ปอด จากนั้นจะถูกสูบฉีดกลับไปที่หัวใจและเส้นเลือดต่อ”
ระบบไหลเวียนโลหิตจะทำงานได้อย่างเต็มที่ เมื่ออวัยวะดังต่อไปนี้ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน
ท ไขกระดูก เลือดทุกหยดของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายถูกผลิตมาจากอวัยวะสำคัญส่วนนี้ไขกระดูกจึงเปรียบได้กับศูนย์กลางการผลิตเลือดของร่างกาย
หลากวิธีบำรุงเลือด ไม่ทำไม่ได้แล้ว
อาหารดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
อาหารทุกคำที่เรากินเข้าไปล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อระบบเลือดของเราทั้งสิ้น การกินอาหารที่ช่วยบำรุงจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง แนะนำอาหารบำรุงเลือดตามแนวทางชีวจิตไว้ว่า
“อาหารชีวจิตนั้นป้องกันโรคโลหิตจางหลายโรคหลายแบบได้ เลือดหรือม็ดเลือดของเรานั้นเป็นโปรตีน ฉะนั้นอาหารที่จะช่วยบำรุงเลือด ก็ต้องเป็นอาหารหนักไปทางโปรตีน ซึ่งโปรตีนบำรุงเลือดนั้น จะเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ซึ่งแนะนำให้กินปลาทะเลและอาหารทะเลเป็นครั้งคราว
“นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับฮีโมโกลบิน ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นโปรตีนและธาตุเหล็ก ร่างกายต้องรักษาสัดส่วนให้พอเหมาะ หากมีน้อยเกินไปเลือดจะจาง”
“อาหารชีวจิตสูตรสำหรับคนเป็นโลหิตจาง ไว้ว่าให้ลดข้าว เพิ่มผัก และเพิ่มโปรตีนให้มากขึ้น โดยลดข้าวให้เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ผักเพิ่มเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ โปรตีนเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และกินปลาได้อาทิตย์ละ 5 ครั้ง ส่วนเบ็ดเตล็ด คงเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ตามเดิม
หายใจเป็น ระบบเลือดไม่ป่วย
การหายใจอย่างถูกต้องช่วยให้เลือดสะอาดและไหลเวียนได้ดีขึ้น และมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการไหลเวียนของน้ำเหลือง กล้ามเนื้อทุกส่วนจะได้รับการบำรุงที่ดีขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ แข็งแรง ช่วยให้การย่อยอาหารและการเผาผลาญดีขึ้นด้วย
การหายใจที่ไม่ถูกต้องหรือการนั่งอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ ทำให้ร่างกายปฏิเสธการได้รับออกซิเจน และทำให้เกิดอาการตึงเครียด เมื่อระบบไหลเวียนไม่ดี ก็ไม่สามารถขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และท็อกซินออกจากร่างกายได้ การนั่งโดยโน้มตัวไปข้างหน้า ทำให้เกิดการกดที่หน้าอก รวมไปถึงหัวใจด้วย ซึ่งท่านี้จำกัดประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดให้มีประสิทธิภาพ และทำให้ออกซิเจนไหลเวียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร
เลือดดี แค่ปรับนาฬิกาชีวิต
ในทางการแพทย์แผนจีน แพทย์หญิงอัมพร กรอบทอง หัวหน้าการ หัวหน้าการแพทย์แผนจีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า
“การปรับชีวิตให้เข้ากับนาฬิกาชีวิต มีส่วนในการสร้างสุขภาพเลือด ในเวลา 17.00น. ถึง 19.00 น. เป็นเวลาของไตจึงไม่ควรกินอาหารมาก เพราะถ้ากินมื้อเย็นมากเลือดลมจะถูกดึงกลับไปเลี้ยงที่กระเพาะและม้ามแทนที่จะไปเลี้ยงที่ไต
“ส่วนเวลา 23.00 น. ถึง 01.00 น. เป็นเวลาของถุงน้ำดี และเวลา01.00 น. ถึง 03.00 น. เป็นเวลาของตับ ซึ่งตับมีหน้าที่กักเก็บเลือด หากไม่ได้พักผ่อนในช่วงนี้ ตับและถุงน้ำดีจะไม่ได้พักผ่อน ทำให้มีปัญหาเรื่องการสร้างและการกักเก็บเลือด
“นอกจากนี้ควรนอนให้เป็นเวลาและตื่นแต่เช้าเพื่อรับพลังเข้าปอดและกินมื้อเช้าทุกวัน เนื่องจากมื้อเช้าเป็นช่วงที่ลมปราณผ่านกระเพาะและม้าม ในมื้อกลางวันให้กินน้อยลงมา ส่วนมื้อเย็นให้กินอาหารเบาๆ
“เรื่องการออกกำลังกายแนะนำให้อออกกำลังตอน ตี 5 เพราะเป็นช่วงรับพลังเข้าปอด อีกช่วงหนึ่งคือช่วงบ่ายสามโมง ถึงห้าโมงเย็น เพื่อขับเหงื่อขับของเสียออกทางปัสสาวะ แต่ต้องระวังว่าไม่ควรหักโหมจนเกินไป”
สำหรับเรื่องอาหารบำรุงเลือดตามตำรับแพทย์แผนจีน อาจารย์แพทย์จีนโสรัจ นิโรธสมาบัติ คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ แนะนำว่า
“อาหารที่บำรุงเลือดในแพทย์แผนจีนคือ อาหารที่มีสีแดงเพราะเชื่อว่าช่วยบำรุงเลือด เช่น พุทราจีน และถั่วแดง สมุนไพรคือ ตังกุย นอกจากนี้ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเล็กน้อยเพราะช่วยเรื่องการไหลเวียนโลหิตได้ดี”
หลากหลายวิธีบำรุงเลือด สะท้อนให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด ควรดูแลแบบองค์รวมนะคะ
ติดตาอ่านเนื้อหาแบบเต็มๆ ได้ที่ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 286
ข้อมูลเรื่อง ” หลากวิธี บำรุงเลือด หญิง 3 วัย ” จากนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 286