ท้องเสียหน้าร้อน ท้องร่วงช่วงซัมเมอร์ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
อาการท้องร่วงที่มากับฤดูกาล หรือ ท้องเสียหน้าร้อน มักเป็นหนึ่งในอาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เราจึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาให้ความรู้แก่ผู้อ่านถึงวิธีการรับมือและป้องกัน เมื่อเข้าสู่ฤดูของมันกันดีกว่า
สาเหตุและอาการของโรค “ท้องร่วง”
โรคท้องร่วงเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสโปรโตซัว ซึ่งทำให้เรามีอาการถ่ายเหลวเป็นมูกเลือดอาเจียน และมักมีอาการปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย หรือเรียกกันว่าอาหารเป็นพิษ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป อธิบายถึงสาเหตุกับอาการของโรคว่า
“ถ้าอุจจาระร่วงหรือท้องร่วงในเชิงการแพทย์ จะตีความว่าถ่ายเหลว 3 ครั้ง หรือบางครั้งกึ่งเหลวและเป็นน้ำมากกว่า ปกติ 3 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าถ่ายเป็นน้ำไหลโจ๊กครั้งเดียวก็ถือว่าท้องร่วงนี่คือนิยาม
“และมักจะเกี่ยวเนื่องกับอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการกินอาหารเข้าไปแล้วมีอาการ บางคนก็เร็ว ไม่กี่ชั่วโมง บางคนอาจนานประมาณ 24 ชั่วโมง อาการของอาหารเป็นพิษที่เด่น คือจะเกิดขึ้นที่ทางเดินอาหาร คือมีอาการอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลว
“ที่ผ่านมาในบ้านเราปีหนึ่งพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษประมาณเดือนละ 10,000 ราย เนื่องจากการปรุงอาหารที่ทำให้เกิด อาหารเป็นพิษ ซึ่งบางครั้งจะเชื่อมโยงกับโรคอุจจาระร่วง เราจึงต้องดูสองโรคไปพร้อมๆกัน
“ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญ ก็คือการถ่ายเป็นน้ำ เพราะทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้เกิดอาการช็อก ชัก และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ก็ยังมีเชื้อโรคบางสายพันธุ์ที่ทำให้มีอาการรุนแรงจนอาจทำให้เกิด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไตวาย
“จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถหายได้เอง มีข้อมูลชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก ว่าการให้ดื่มผงเกลือแร่ละลายน้ำจะช่วย ลดอัตราการตายลง ส่วนในประเทศไทย จากการที่เรารณรงค์ให้ประชาชนดูแลตัวเองที่บ้านโดยการดื่มน้ำเกลือแร่อัตราการตายก็ลดลงเยอะ” นายแพทย์โอภาสยังได้เล่าถึงสถิติ ผู้ป่วยโรคท้องร่วงล่าสุดในประเทศปี 2552 ว่า
“ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศเรามีผู้ป่วยประมาณเดือนละ 100,000 คน ถือว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงอะไรมาก ถ้าเทียบกับข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง ก็จะพบว่าแนวโน้มของโรคอุจจาระร่วงค่อนข้างคงที่
“แต่ขอบข่ายของโรคนี้ค่อนข้างกว้างขวาง ไม่เฉพาะผู้บริโภคฝ่ายเดียวที่ต้องดูแลตัวเอง ยังต้องดูกันทั้งระบบ แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศ ในทวีปยุโรปกับอเมริกาก็ประสบปัญหา โรคนี้มีข้อมูลขององค์การอนามัยโรค พบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วแต่ละปี จะมีผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินอาหารและน้ำถึงหนึ่งในสามของประชากร จึงถือว่าโรคนี้พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก”
ว่าด้วยเรื่องท้องร่วงหน้าร้อน
แม้ว่าโรคท้องร่วงจะเกิดขึ้นได้กับทุกคนตลอดทั้งปี แต่ดูเหมือนว่าในฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่หลายคนป่วยเป็นโรคนี้กันมาก ศาสตราจารย์แพทย์หญิง พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงสาเหตุของโรคท้องร่วงที่สัมพันธ์กับฤดูกาลว่า
“ช่วงที่คนท้องเสียกันเยอะคือช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝนบางคนก็เป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลัน รวมไปถึงอาหารเป็นพิษ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝนจะมีภาวะเปียกแฉะ และร้อนชื้น และยังรวมถึงปัจจัยเรื่อง ความหนาแน่นของประชากร สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีด้วย
“อากาศที่อุ่นขึ้นทำให้อาหารบูดเน่าเร็ว เชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อาหารเป็นพิษได้ อาหารบางอย่างโดยเฉพาะอาหารทะเลอย่างหอยเชลล์ ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิของท้องทะเลหรือโลกร้อนขึ้น ทำให้สาหร่ายในท้องทะเลเติบโตได้เร็วขึ้น แบคทีเรียก็เจริญเติบโตได้มาก ทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ง่าย
“บริเวณที่มักเกิดโรคส่วนใหญ่จะอยู่ที่ค่ายอพยพทั้งหลาย เพราะเป็นชุมชนหนาแน่น สุขอนามัยไม่ดี และจังหวัดแถบชายทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช เพราะมีอาหารทะเลเป็นสาเหตุหลัก”
ส่วนโรคท้องร่วงในหน้าร้อนจะมีการพัฒนาของสายพันธุ์เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพรรณี อธิบายว่า
“จริงๆ มีรายงานถึงสายพันธุ์ใหม่ของเชื้ออหิวาต์ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเมื่อก่อน เราเชื่อว่ามีสายพันธุ์เดียวคือ โอ1แต่ เมื่อปี 2535 พบการระบาดในแถบประเทศอินเดียตอนใต้และบังคลาเทศ ตลอดจนพม่าและไทย โดยเป็นสายพันธุ์ที่เรียกว่า โอ139 ซึ่งทำให้เกิดอหิวาตกโรคและท้องร่วงอย่างรุนแรงได้ ทั้งนี้จะอาการมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของ แต่ละคน”