ภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม ความเสื่อมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำคุณภาพชีวิตแย่

ภาวะสมองเสื่อม จะรับมืออย่างไรดี

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มี ภาวะสมองเสื่อม เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงานของตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงผู้ดูแลที่ต้องรับหน้าที่หนักเพิ่มขึ้น การสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อาจนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและญาติ

ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น หลงลืม หลงทางที่ใช้อยู่เป็นประจำคิดคำนวณเงินผิดพลาด บวกลบเลขง่ายๆไม่ได้ จำไม่ได้ว่าวางสิ่งของไว้ที่ไหน การตัดสินใจในภาวะต่างๆแย่ลงรวมถึงการมีพฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากเดิม เช่น ทำอะไรซ้ำๆ พูดอะไรซ้ำๆ

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

1. แบบที่รักษาได้ ซึ่งจำเป็นต้องสืบค้น เพื่อให้การรักษา
a) โรคทางกาย เช่น โรคไทรอยด์ การติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง โรคขาดวิตามินบี 12 หรือโฟลิค ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
b) โรคทางสมอง เช่น มีเลือดออกในสมอง น้ำคั่งในโพรงสมอง หรือเนื้องอกสมอง โรคพาร์กินสัน
c) ภาวะอื่นๆ เช่น การใช้ยาประจำบางชนิด หรือ โรคซึมเศร้า

2. แบบที่ไม่หายขาด
a) สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
b) หลอดเลือดสมองตีบ ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับความจำ (vascular dementia)

ป้องกันอัลไซเมอร์, สมองเสื่อม, ขี้หลงขี้ลืม, ฝึกสมองประลองเชาวน์, ออกกำลังกายสมองเสื่อมช้า ภาวะสมองเสื่อม

อาการส่อสมองเสื่อม

– พูดหรือถามเรื่องเดิมที่เพิ่งเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยมักจะยังจดจำความจำเรื่องเก่าๆในอดีตได้
– สับสนเรื่องวันเวลาสถานที่
– ทำอะไรซ้ำๆ เช่น เก็บของแล้ว รื้อออกมาเก็บใหม่
– วางของทิ้งไว้แล้วหาไม่เจอ

– หลงทางในเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำ
– คิดเงินหรือทอนเงินผิดพลาดไป
– ลืมเหตุการณ์หรือนัดสำคัญๆ
– การตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้น
– อารมณ์ หรือบุคลิกเปลี่ยนไป เช่น เชื่องช้า หรือก้าวร้าวหงุดหงิดง่ายมากขึ้น
– ใช้คำพูดผิด หรือนึกคำไม่ออกบ่อยๆ
– ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องกิจวัตรประจำวันได้ลดลง ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน

การวินิจฉัยสมองเสื่อม

1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยมักให้ข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนเนื่องจากมีอาการหลงลืม จึงควรพาญาติใกล้ชิดหรือคนที่อยู่ดูแลประจำมาร่วมในการซักประวัติด้วย
2. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
3. การตรวจโดยใช้แบบทดสอบความจำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) หรือ PET scan

การรักษาสมองเสื่อม

1. รักษาตามสาเหตุ ถ้าเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาได้
2. ถ้าวินิจฉัยเป็นสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ โดยปกติ จะใช้ยาในการประคับประคอง ให้อาการไม่ทรุดลงเร็วมาก
ซึ่งมักจะได้ผลดีเมื่อเริ่มให้ในระยะแรกๆ ร่วมกับการฝึกพัฒนาสมอง (cognitive training)
3. การรักษาปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมจากตัวโรค เช่น โวยวาย ก้าวร้าว ด่าทอหยาบคาย ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ดูแล ซึ่งการแก้ไขจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและความเข้าใจในตัวโรคของผู้ดูแล หรืออาจต้องใช้ยาร่วมด้วยเพื่อลดอาการ

4. การดูแลผู้ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม
มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้ดูแลโดยตรง อาจทำให้เกิดความเครียด ห่อเหี่ยว และทุกข์ใจ
ดังนั้นการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลจึงมีความสำคัญอย่างมาก
เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ดูแลและยังช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีมากขึ้น

บทความโดย : แพทย์หญิงพิมลพรรณ วิเสสสาระกูล แพทย์เฉพาะทางอายุรแพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ชวน บริหารสมอง ในวันหยุด ต้านอัลไซเมอร์ สมองเสื่อมก่อนวัย

11 ข้อ ป้องกันสมองเสื่อม ในทุกช่วงวัย

CHECK NOW! สัญญาณเตือน โรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) ที่ต้องระวัง

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.