บริหารสมอง ฝึกสมอง โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ อัลไซเมอร์ ดูแลสุขภาพ

ชวน บริหารสมอง ในวันหยุด ต้านอัลไซเมอร์ สมองเสื่อมก่อนวัย

บริหารสมอง ต้านอัลไซเมอร์

คงไม่มีใครอยากให้ตนเองหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคร้ายที่สร้างความทุกข์ทั้งใจและกายให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัว ฉะนั้น บทความนี้จะมาแนะนำเทคนิค บริหารสมอง เพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองกันค่ะ

บริหารสมอง จำเป็นกว่าที่คิด

สมองใส ความจำแจ๋วทันที เมื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แพทย์หญิงสิรินทร  ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการบริหารสมองในวันว่างในหนังสือคู่มือยืดอายุสมอง ว่า

“การพาตนเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆที่ไม่เคยทำ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองทุกส่วน ทั้งในส่วนความจำ ประสาทสัมผัส และทักษะต่างๆ

“เพราะทุกขณะที่กำลังเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ สมองจะได้รับการบริหารโดยอัตโนมัติ เซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้นให้แตกแขนง จนอาจกล่าวได้ว่า สมองเปรียบได้กับกล้ามเนื้อที่ยิ่งบริหารยิ่งแข็งแรง”

งานเย็บปักถักร้อย, งานฝีมือ, ต้านอัลไซเมอร์, บริหารสมอง, งานอดิเรก COGNITIVE TRAINING บริหารสมอง
เย็บปักถักร้อย งานอดิเรกที่ช่วยบริหารสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์

เวลาว่าง ทำอะไรดี

แพทย์หญิงสิรินทรยังแนะนำให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยวิธีบริหารสมอง ดังนี้ค่ะ

• ฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในชีวิตประจำวัน เช่น เปลี่ยนสถานที่ซื้อของ ที่กินอาหารกลางวัน ฟังวิทยุรายการใหม่ๆ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไป

• ทำงานอดิเรกที่ไม่เคยทำ เช่น งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย เรียนดนตรี เต้นรำ เล่นกีฬา หรือฝึกโยคะ

• เล่นเกมฝึกสมองต่างๆ เช่น ปริศนาอักษรไขว้ ปัญหาเชาวน์ หมากฮอส และหมากล้อม หรือฝึกฝนความจำ โดยพยายามจำหน้าและชื่อของบุคคลสำคัญ หรือเปิดพจนานุกรมท่องคำศัพท์ใหม่ๆ

• ทำสมาธิและฝึกตั้งสติ โดยกำหนดจิตให้รู้เท่าทันตนเองว่า ขณะนี้มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร กำลังทำอะไร หรือจะไปที่ไหน

• นัดพบเพื่อนฝูง พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อฝึกสมองให้รู้จักคิดวิเคราะห์

• สมัครเข้าชมรมต่างๆ ทำกิจกรรมแปลกใหม่ และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่

• เปลี่ยนการใช้ประสาทสัมผัสที่เคยใช้เป็นประจำ เช่น ใช้มือข้างไม่ถนัดหยิบของ เขียนหนังสือ วาดรูป ปั้นดินน้ำมัน หรือกวาดบ้าน

• ฟังเพลงคลาสสิก  ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้มีสมาธิและความจำดี

• ฝึกผ่อนคลายสมองด้วยการมองโลกในแง่ดี  มีเมตตา หมั่นนึกถึงแต่ประสบการณ์ดีๆ หัดเป็นคนยิ้มง่ายและมีอารมณ์ขัน

(ที่มา : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 326)


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เช็กหน่อยซิ ขี้หลงขี้ลืม จัดว่าเป็น โรคอัลไซเมอร์ หรือเปล่านะ

โควิด-19 ส่งผลสมองผิดปกติในระยะยาว โรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดเร็วขึ้น

ชวนรู้จัก COGNITIVE TRAINING ฝึกให้สมองทำงานหลาย ๆ อย่าง ต้านอัลไซเมอร์