เช็กหน่อยซิ ขี้หลงขี้ลืม จัดว่าเป็น โรคอัลไซเมอร์ หรือเปล่านะ

เช็กหน่อยซิ ขี้หลงขี้ลืม จัดว่าเป็น โรคอัลไซเมอร์ หรือเปล่านะ

หาของไม่เจอ จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว บางทีแว่นตาคล้องคออยู่แท้ๆ ยังลืมได้! เจ้าอาการ ขี้หลงขี้ลืม ที่เกิดขึ้นใช่ โรคอัลไซเมอร์หรือเปล่าหากบอกว่าคนที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ นั้น ถือเป็นโรคอัลไซเมอร์ อาจไม่ถูกต้องนัก คนที่มีอาการหลงลืมบ่อยๆ อาจเป็นได้จาก 2 กรณี ได้แก่

  1. มีอาการขี้ลืมจากการไม่ได้จดจำ ไม่ได้เก็บข้อมูลเข้าไปในความจำ เช่น ยุ่งมากมีเรื่องหลายเรื่องที่ต้องทำ ลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม
  2. มีอาการขี้ลืมที่เกิดจากความจำถดถอย ความสามารถในการจดจำลดลง ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม ซึ่งมักมีอาการอื่นในเรื่องของความจำร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม

การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรคความจำเสื่อม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาแยรละตรวจหาสาเหตุ เพื่อให้ทำการรักษาได้ตรงเป้า แม่นยำเฉพาะโรค และประสบผลสำเร็จ การวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม ทำได้ดังนี้

  • การซักประวัติ จากตัวผู้ป่วยเอง คนรอบข้าง หรือผู้ใกล้ชิด เพื่อสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์
  • การตรวจร่างกาย เพื่อหาอาการร่วมทางระบบประสาท เช่น อาการอ่อนแรง การเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • การตรวจความจำ เช่น Mini Mental Status Examination (MMSE), Montreal Cognitive Assessment (MoCA), Cognitive Ability Test
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    • การตรวจภาพวินิจฉัยสมอง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อประเมินภาวะของสมอง
    • การตรวจเลือด เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจน้ำตาล น้ำตาลสะสม ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไทรอยด์ ระดับวิตามินบี12 การตรวจหาภาวะการติดเชื้อซิฟิลิสหรือเอชไอวี การตรวจภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีผลต่อสมอง
  • การประเมินภาวะทางอารมณ์
  • การตรวจยีน เช่น  Apolipoprotein E4 (Apo E4), Amyloid-beta Precursor Protein (APP), Presenilin 1 (PSEN1) และ Presenilin 2 (PSEN2)

นอกจากนั้น ยังจำเป็นจะต้องตรวจหาภาวะหรือโรคทางกายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อความจำและให้การรักษาด้วยเสมอ ได้แก่ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ เช่น โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม ภาวะขาดวิตามินในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี1 บี12 โฟลิก ภาวะพร่องไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อบางอย่างในร่างกาย เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี โรคภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่มีผลต่อสมอง การใช้ยาบางอย่างที่มีผลต่อความจำ โดยเฉพาะยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน ยานอนหลับ สารเสพติดบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน โคเคน กัญชา โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการใช้ในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

การป้องกันโรคความจำเสื่อม

  1. ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หากมีภาวะเหล่านี้ ควรรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและควบคุมได้
  2. ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  4. บริหารสมอง โดยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบในเวลาว่าง เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป ทำอาหาร ปลูกต้นไม้
  5. เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  6. บริหารอารมณ์ให้แจ่มใส ลดความวิตกกังวล ลดความเศร้า หากไม่สามารถทำเองได้ แนะนำให้พบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพื่อดูแลอาการให้ดีขึ้น

ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เช็กความเสี่ยงโรคร้ายจากกรุ๊ปเลือด

ใกล้ หวยออก แต่จำฝันไม่ได้ วิทยาศาสตร์มีทางแก้!

ดูแลตัวเอง หลังจาก ผ่าฟันคุด เพื่อแผลหายเร็ว

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.