บริหารสมอง ต้านอัลไซเมอร์
คงไม่มีใครอยากให้ตนเองหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคร้ายที่สร้างความทุกข์ทั้งใจและกายให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัว ฉะนั้น บทความนี้จะมาแนะนำเทคนิค บริหารสมอง เพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองกันค่ะ
บริหารสมอง จำเป็นกว่าที่คิด
สมองใส ความจำแจ๋วทันที เมื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการบริหารสมองในวันว่างในหนังสือคู่มือยืดอายุสมอง ว่า
“การพาตนเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆที่ไม่เคยทำ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองทุกส่วน ทั้งในส่วนความจำ ประสาทสัมผัส และทักษะต่างๆ
“เพราะทุกขณะที่กำลังเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ สมองจะได้รับการบริหารโดยอัตโนมัติ เซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้นให้แตกแขนง จนอาจกล่าวได้ว่า สมองเปรียบได้กับกล้ามเนื้อที่ยิ่งบริหารยิ่งแข็งแรง”
เวลาว่าง ทำอะไรดี
แพทย์หญิงสิรินทรยังแนะนำให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยวิธีบริหารสมอง ดังนี้ค่ะ
• ฝึกเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในชีวิตประจำวัน เช่น เปลี่ยนสถานที่ซื้อของ ที่กินอาหารกลางวัน ฟังวิทยุรายการใหม่ๆ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไป
• ทำงานอดิเรกที่ไม่เคยทำ เช่น งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย เรียนดนตรี เต้นรำ เล่นกีฬา หรือฝึกโยคะ
• เล่นเกมฝึกสมองต่างๆ เช่น ปริศนาอักษรไขว้ ปัญหาเชาวน์ หมากฮอส และหมากล้อม หรือฝึกฝนความจำ โดยพยายามจำหน้าและชื่อของบุคคลสำคัญ หรือเปิดพจนานุกรมท่องคำศัพท์ใหม่ๆ
• ทำสมาธิและฝึกตั้งสติ โดยกำหนดจิตให้รู้เท่าทันตนเองว่า ขณะนี้มีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร กำลังทำอะไร หรือจะไปที่ไหน
• นัดพบเพื่อนฝูง พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือข่าวสารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อฝึกสมองให้รู้จักคิดวิเคราะห์
• สมัครเข้าชมรมต่างๆ ทำกิจกรรมแปลกใหม่ และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่
• เปลี่ยนการใช้ประสาทสัมผัสที่เคยใช้เป็นประจำ เช่น ใช้มือข้างไม่ถนัดหยิบของ เขียนหนังสือ วาดรูป ปั้นดินน้ำมัน หรือกวาดบ้าน
• ฟังเพลงคลาสสิก ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้มีสมาธิและความจำดี
• ฝึกผ่อนคลายสมองด้วยการมองโลกในแง่ดี มีเมตตา หมั่นนึกถึงแต่ประสบการณ์ดีๆ หัดเป็นคนยิ้มง่ายและมีอารมณ์ขัน
คุณเอกสิทธิ์ จิตธรรม นักโภชนาการ-กำหนดอาหารวิชาชีพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้คำแนะนำว่า ในแต่ละวันหากเราเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมองบ้างก็จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์สมอง ป้องกันการเสื่อมเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น เหมือนกับการออกกำลังกาย หรือการเลือกรับประทานอาหารบำรุงส่วนอื่น ๆ เพราะสมองก็ต้องการการดูแลเพื่อให้ฟิตแอนด์เฟิร์มด้วยเช่นกัน
สารอาหารช่วยสมองฟิต
สารอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุง สนับสนุนการทำงาน และชะลอความเสื่อมของสมอง ได้แก่ วิตามินชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินบี 1 บี 6 บี 12 วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งมีอยู่ในอาหารหลายประเภท ดังนี้
- วิตามินบี 1 มีมากในอาหารจำพวกข้าวแข็ง ๆ ไข่แดง ปลา ถั่วเหลือง
- วิตามินบี 6 แนะนำให้รับประทานไข่ เนื้อสัตว์ จมูกข้าว ข้าวโพด กล้วย
- วิตามินบี 12 ช่วยสนับสนุนการทำงานของกระแสประสาท ทำให้ความจำระยะสั้นดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุราว 4 เท่า อาหารที่เหมาะสมประกอบด้วยไข่ เครื่องในสัตว์ นม เนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่มีไขมันต่ำ
- วิตามินซี มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ พบในผลไม้จำพวกกีวี ฝรั่ง มะละกอ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง
- วิตามินอี มีมากในผักคะน้า ผักโขม ถั่ว อัลมอนด์ น้ำมันรำข้าว ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยส่งออกซิเจนเลี้ยงสมอง
อย่างด ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ไข่แดง
มีความเข้าใจผิดในการเลือกรับประทานอาหารหลายประเภท เพราะคิดว่าอาหารเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และไข่แดง ซึ่งจริง ๆ แล้วอาหารทั้ง 3 ประเภทนี้ มีความสำคัญมากกว่าส่งผลกระทบต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม
ไขมัน
ร่างกายคนเรายังต้องการไขมันและโครงสร้างสมองก็มีไขมันอยู่ถึง 60% การรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งไขมันที่ดีจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและสร้างความแข็งแรงให้เซลล์สมอง อาหารที่ให้โอเมก้า 3 สูง ประกอบด้วย ปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาจะละเม็ด รวมถึงไข่แดง สาหร่ายทะเล เมล็ดเซีย เมล็ดฟักทอง งา น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน อาหารเหล่านี้ล้วนมีส่วนประกอบของไขมันดีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
คาร์โบไฮเดรต
สาว ๆ ที่กลัวอ้วนมักต้องการลดแป้งเป็นอย่างแรก สิ่งที่นึกถึงคือ “คาร์โบไฮเดรต” แต่รู้หรือไม่ว่า สมองยังต้องใช้น้ำตาลกลูโคสจากคาร์โบไฮเดรตที่เรารับประทาน ดังนั้นถ้าจะงดเสียทุกอย่างคงไม่ได้ การที่ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลกลูโคสในปริมาณที่ไม่เพียงพออาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง มีอาการหาวนอน เพลีย หน้ามืด ใจสั่น เพราะได้รับพลังงานไม่เพียงพอ นอกจากนี้ควรทานข้าวกล้อง เผือก มัน ข้าวโพด ธัญพืช ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานคุณภาพที่ร่างกายต้องการ
ไข่แดง
ไข่แดงเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่พบว่าหลายคนมักเลี่ยงที่จะรับประทาน ซึ่งการทำงานของสมองต้องอาศัยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ การรับประทานอาหารที่หลากหลายในสัดส่วนเหมาะสมและสมดุลเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่เน้นอย่างใดอย่างหนี่งแล้วละเลยส่วนอื่น อาหารจากพืชและสัตว์จำพวกไข่แดง เครื่องในสัตว์ เช่น ตับและธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง จมูกข้าวสาลี เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ไก่ ปลา เป็นต้น เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่อุดมด้วยโคลีน ซึ่งมีความจำป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง และอาหารประเภทนม ไข่ งา อัลมอนด์ และเมล็ดฟักทอง ยังมีส่วนช่วยในเรื่องความจำอีกด้วย
(ที่มา : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 326) / โรงพยาบาลกรุงเทพ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เช็กหน่อยซิ ขี้หลงขี้ลืม จัดว่าเป็น โรคอัลไซเมอร์ หรือเปล่านะ
โควิด-19 ส่งผลสมองผิดปกติในระยะยาว โรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดเร็วขึ้น
ชวนรู้จัก COGNITIVE TRAINING ฝึกให้สมองทำงานหลาย ๆ อย่าง ต้านอัลไซเมอร์