วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดแห่งมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙
ประเทศไทยมีวัดนับหมื่นแห่ง แต่มีเพียงแห่งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการสร้าง โดยยึดหลักความเรียบง่าย คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักวัดแห่งนั้นคือ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
เดิมพื้นที่ของวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก หรือที่รู้จักในชื่อ วัดพระราม ๙ ตั้งอยู่ในชุมชนบึงพระราม ๙ ซึ่งประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำเสียในลักษณะระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก เมื่อผลดำเนินการเสร็จสิ้น พระองค์จึงมีพระราชดำรัสถามชาวบ้านว่าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรอีกหรือไม่ชาวบ้านจึงกราบบังคมทูลว่า ละแวกนี้ยังไม่มีวัด อยากได้วัดสักแห่งให้เป็นที่พักพิงใจ เมื่อความนี้แพร่ออกไป นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี จึงน้อมเกล้าฯถวายที่ดินจำนวน ๘ ไร่ ๒ งาน ๕๔ ตารางวา ให้มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อสร้างวัดตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
วัดพระราม ๙ ดำเนินการสร้างโดยยึดหลักการความเรียบง่าย ไม่เน้นความใหญ่โต แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
พระภาณุวัฒน์ จิตตะทันโต พระวิทยากรวัดพระราม ๙กาญจนาภิเษก กล่าวว่า “ตอนแรกงบประมาณจัดสร้างวัดอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเพื่อให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ แต่เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงทรงตัดเลขศูนย์ออกไปหนึ่งตัวให้เหลือเพียงหลักสิบล้านเท่านั้น โดยอุโบสถใช้งบประมาณเพียง ๓ ล้านบาท นับเป็นอุโบสถที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุดในประเทศ รวมงบประมาณที่ใช้ในการสร้างวัดทั้งหมดเพียง ๘ ล้านบาทเท่านั้น เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ให้วัดแห่งนี้เรียบง่าย เป็นวัดที่รับใช้ชุมชนเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจของชาวบ้าน”
ทั้งนี้หลักการที่วัดยึดถือคือ “บวร” โดยวัดมุ่งพัฒนาและเอื้อเฟื้อกันระหว่าง “บ้าน วัด และโรงเรียน”
พระภาณุวัฒน์เล่าต่อว่า “ชุมชนบึงพระราม ๙ วัดพระราม ๙ และโรงเรียนพระราม ๙ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะการเกื้อกูลซึ่งกันและกันชาวชุมชนมีวัดเป็นที่พัฒนาจิตใจ ลูกหลานของคนในชุมชนมีโรงเรียนพระราม ๙ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดเป็นหน่วยให้ความรู้ทางวิชาการ ช่วงเช้าผู้ปกครองบางคนก็พาเด็ก ๆ มาใส่บาตรแล้วค่อยเข้าโรงเรียน เมื่อพักกลางวันเด็ก ๆ ก็จะเดินมากินข้าวที่วัด ตกบ่ายพระอาจารย์ก็เข้าไปสอนเด็กที่โรงเรียน ช่วงเย็นเมื่อเด็ก ๆเลิกเรียนก็จะได้ยินพระทำวัตรเย็น เมื่อถึงช่วงปิดเทอมบางคนก็มาบวชสามเณรหรือแม่ชีน้อย เป็นความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน พัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อม ๆ กัน”
เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น แต่วัดพระราม ๙ มีพื้นที่จำกัด ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จึงจัดสร้างธรรมสถานเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาสำหรับบุคคลทั่วไป เปรียบดั่ง“ธรรมโอสถสถาน” ใกล้บ้าน เปิดโอกาสให้ทุกคนมาค้นหาความสุขทางใจ โดยปีหนึ่งจะมีการปฏิบัติธรรมทั้งหมด ๓๔ ครั้ง ทั้งโครงการของวัดพระราม ๙ เองซึ่งเน้นการสอนตามแนวทางอานาปานสติ และจากหน่วยงานภายนอกมาขอใช้สถานที่ รวมแล้ว ๑ ปีสามารถรองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้มากกว่า ๔,๐๐๐ คน
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก แม้ไม่ใช่วัดที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศ ตรงกันข้ามกลับเป็นวัดที่เรียบง่ายและพอเพียงแต่นี่คือสิ่งสำคัญของการเป็นวัดแห่งมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙
พิกัดวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
เลขที่ ๙๙๙ ซอย ๑๙ ถนนพระราม ๙ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
ข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อปฏิบัติธรรม
โทร. ๐-๒๓๑๘-๕๙๒๖ - ๗, ๐-๒๗๑๙-๗๕๘๘
เรื่อง Pitchaya ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี
บทความที่น่าสนใจ
พิศพระธรรม 1,200 วินาที ณ พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา วัดเทพศิรินทราวาส
ย้อนรอยธรรมตามพระราชา วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดอัมพวัน สร้างเกราะให้จิตใจด้วยการเจริญสติและปฏิบัติกรรมฐาน
ธรรมชาติ สอนธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรม วัดทุ่งไผ่
มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปีพ.ศ. 2561